คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3236/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยไม่ชำระหนี้เงินกู้ตามสัญญากู้ โจทก์จำเลยจึงตกลงแปลงหนี้ตามสัญญากู้นั้น ซึ่งรวมดอกเบี้ยเกินอัตราและคิดโดยวิธีทบต้นมาเป็นต้นเงินกู้ด้วย ดังนี้ ส่วนที่เป็นดอกเบี้ยเกินอัตราและคิดโดยวิธีทบต้น จึงต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 113มาตรา 654 และมาตรา 655 จำเลยชำระหนี้ให้โจทก์เป็นเงิน 5,080 บาท แต่หนี้ที่จำเลยชำระเป็นดอกเบี้ยเกินอัตราที่คิดโดยวิธีทบต้น เพราะหลังจากชำระเงินจำนวนนั้นให้โจทก์ก็ไม่ปรากฏว่าต้นเงินกู้ได้ลดลงแต่ประการใดดังนั้น จำนวนเงินที่จำเลยชำระจึงเป็นการชำระหนี้ไปตามอำเภอใจจะนำเงินจำนวนนั้นมาหักต้นเงินกู้ที่จำเลยจะต้องชำระให้โจทก์ไม่ได้ทั้งจะนำมาหักหนี้ดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดก็ไม่ได้ด้วย เพราะจำเลยมิได้ชำระดอกเบี้ยจำนวนนั้น.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้เงินกู้พร้อมดอกเบี้ยที่ค้างจำนวน 66,312.50 บาทให้โจทก์ และขอให้ชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 55,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะชำระเงินให้โจทก์เสร็จ
จำเลยให้การว่ามิได้ทำสัญญากู้กับโจทก์ และไม่เคยได้รับเงินจำนวน 55,000 บาท ตามที่โจทก์ฟอ้ง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยกู้เงินโจทก์ไปเพียง 14,000 บาทจำเลยได้ชำระหนี้ให้โจทก์แล้ว 5,080 บาท คงค้างอยู่เพียง 12,095 บาทให้จำเลยชำระเงินจำนวนที่ค้างพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 14 มกราคม 2526 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์และให้จำเลยชำระค่าฤชาธรรมเนียมโดยกำหนดค่าทนายความ 1,000 บาทแทนโจทก์ด้วย
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความ 1,000 บาท แทนจำเลย
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2522 จำเลยกู้เงินโจทก์ไป 10,000 บาท ปรากฏตามเอกสารหมาย ล.1 แล้วกู้เพิ่มเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2524 อีก4,000 บาทตามสัญญากู้เอกสารหมาย ล.3 หลังจากนั้นในวันที่ 14 มกราคม2526 จำเลยลงชื่อในสัญญากู้ 55,000 บาทตามเอกสารหมาย จ.1 ให้โจทก์มีปัญหาว่าจำเลยจะต้องชำระหนี้เงินกู้ตามเอกสารหมาย จ.1 ให้โจทก์หรือไม่ เพียงใด ข้อนี้จำเลยมีตัวจำเลยเป็นพยานเบิกความประกอบเอกสารหมาย ล.4 ถึง ล.12 โดยมีนายย้ง นายเฉลิม กำจัดโรค และนายฟัก บุญส่งศรี เบิกความสนับสนุนว่าเอกสารดังกล่าวเป็นจดหมายที่โจทก์ฝากมาให้จำเลยแสดงให้เห็นว่าต้นเงินกู้ตามเอกสารหมาย จ.1คือเงินกู้ที่จำเลยกู้ไปแล้วไม่ใช่โดยรวมดอกเบี้ยเกินอัตราที่คิดโดยวิธีทบต้นไว้ด้วย ที่โจทก์อ้างว่า สัญญากู้เอกสารหมาย ล.1 ล.3ทำเพียงฉบับเดียว โจทก์เป็นผู้เก็บไว้พร้อม น.ส.3 (น.ส.3 ตามฟ้อง)หากจำเลยเอาเงินกู้มาชำระโจทก์ก็คืนทั้งสัญญาและ น.ส.3 ให้ดังนี้เมื่อปรากฏว่าสัญญากู้เอกสารหมาย ล.1 ลง3 อยู่ในความครอบครองของจำเลย แสดงว่าจำเลยชำระเงินกู้ตามเอกสารหมาย ล.1 ล.3 ให้โจทก์แล้วนั้น ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่าไม่น่าเชื่อ เพราะคดีได้ความตามเอกสารท้ายฎีกาหมายเลข 1 ว่า เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2522จำเลยกู้เงินโจทก์ไปอีก 20,000 บาท และมอบ น.ส.3 ฉบับเดียวกันให้โจทก์ยึดถือไว้ แล้วไม่ชำระหนี้ โจทก์จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลชั้นต้นตามคดีหมายเลขดำที่ 1129/2528 ของศาลชั้นต้น ดังนี้จำเลยจะนำ น.ส.3 ฉบับนั้น ไปให้โจทก์ยึดไว้ในการกู้เงินเมื่อวันที่24 กรกฎาคม 2524 ตามที่ปรากฏในสัญญากู้เอกสารหมาย ล.3 ได้อย่างไรแสดงว่า เมื่อจำเลยกู้เงินโจทก์ไปตามสัญญากู้เอกสารหมาย ล.1 ล.3แล้ว จำเลยยังไม่ชำระหนี้ให้โจทก์ ฉะนั้นที่โจทก์อ้างว่า จำเลยมาขอกู้เงินโจทก์อีก 55,000 บาท โจทก์ก็ตกลงและจ่ายเงินจำนวนนั้นให้จำเลยไปตามสัญญากู้เอกสารหมาย จ.1 จึงไม่น่าเชื่อ นอกจากนี้ในการทำสัญญากู้ฉบับนั้น โจทก์เบิกความว่า “ฯลฯ ไปนัดนายพายัพและนายสมวงษ์ให้มาในวันที่ 14 มกราคม 2526” และ “นายสมวงษ์มาถึงก่อนนายพายัพ นายพายัพมาถึงก่อนจำเลย” แต่นายสมวงษ์กลับว่า “เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2526 โจทก์ไปตามข้อ ฯ ไปที่บ้าน ถึงบ้านโจทก์เวลา 3 โมงเช้า” และเบิกความตอบคำถามค้านถึงการทำสัญญากู้ว่า”ใช้ปากกาด้ามเดียวกันเขียนสัญญาและเซ็นชื่อ ขณะที่ข้า ฯ มาถึงข้อความอื่นในสัญญาที่ข้า ฯ ไม่ได้เขียนนั้นมีอยู่ก่อนแล้ว” แต่นายพายัพกลับว่า “ข้า ฯ ไปที่บ้านโจทก์ตามนัด พบโจทก์จำเลยและนายสมวงษ์อยู่ที่บ้านก่อนแล้ว ฯลฯ จำเลยเป็นคนเขียนข้อความในสัญญากู้ก่อนจนถึงตัวเลขที่กู้เงินไป ส่วนนายสมวงษ์ได้เขียนตั้งแต่ตัวหนังสือจำนวนเงินที่จำเลยกู้” พยานโจทก์จึงเบิกความแตกต่างกันในเรื่องการทำสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.1 ในข้อสาระสำคัญ ทั้งเมื่อพิจารณาลายมือชื่อผู้กู้ ผู้ให้กู้ พยานทั้งสองคนในสัญญากู้ที่กล่าวแล้ว เห็นได้ชัดเจนว่าบุคคลเหล่านี้ต่างใช้ปากกาคนละด้ามในการลงลายมือชื่อ หาใช่ด้ามเดียวกันดังที่นายสงวงษ์เบิกความไม่ กรณีจึงไม่น่าเชื่อว่าจำเลยได้รับเงินตามที่ปรากฏในสัญญากู้เอกสารหมายจ.1 ทั้งในการทำสัญญากู้เอกสารหมาย ล.1 ล.3 ก็ได้ความจากโจทก์ว่านอกจากข้อความที่จำเลยกรอกลงไปในสัญญาแล้วโจทก์เป็นผู้เขียนทั้งสิ้นแต่ในครั้งนี้โจทก์กลับไม่เขียนสัญญาเองเช่นที่เคยปฏิบัตินับว่าเป็นข้อพิรุธของโจทก์อีกอย่างหนึ่ง ศาลฎีกาจึงเห็นว่า พยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักน้อยกว่าพยานจำเลย ข้อเท็จจริงน่าเชื่อว่าเมื่อจำเลยไม่ชำระหนี้เงินกู้ตามสัญญากู้เอกสารหมาย ล.1 ล.3 โจทก์จำเลยตกลงแปลงหนี้ตามสัญญากู้นั้น ซึ่งรวมดอกเบี้ยเกินอัตราและคิดโดยวิธีทบต้นมาเป็นต้นเงินกู้ตามเอกสารหมาย จ.1 ดังนี้ส่วนที่เป็นดอกเบี้ยเกินอัตราและคิดโดยวิธีทบต้น จึงต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 113, มาตรา 654และมาตรา 655 ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่า จำเลยเป็นหนี้โจทก์เฉพาะต้นเงินตามสัญญากู้เอกสารหมาย ล.1 และ ล.3 (ซึ่งมิได้กำหนดเวลาชำระต้นเงินคืนไว้) พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันกู้รวม 17,175 บาท นั้นชอบแล้ว แต่ที่วินิจฉัยว่า จำเลยชำระหนี้ให้โจทก์ตามเอกสารหมาย ล.11 แผ่นที่ 1 ที่ 2 และที่ 20แล้วเป็นเงิน 5,080 บาท และนำมาหักหนี้ส่วนที่จำเลยจะต้องชำระให้โจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าตามเอกสารที่กล่าวแล้วแสดงว่าหนี้ที่จำเลยชำระเป็นดอกเบี้ยเกินอัตราที่คิดโดยวิธีทบต้น เพราะหลังจากชำระหนี้จำนวนนั้นให้โจทก์ก็ไม่ปรากฏว่าต้นเงินกู้ตามเอกสารหมายล.1 และ ล.3 ได้ลดลงแต่ประการใด ดังนั้น จำนวนเงินที่จำเลยชำระหนี้ไปตามอำเภอใจ จึงนำเงินจำนวนนั้นมาหักต้นเงินกู้ที่จำเลยจะต้องชำระให้โจทก์ไม่ได้ ทั้งจะนำมาหักหนี้ดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดก็ไม่ได้ด้วยเพราะจำเลยมิได้ชำระดอกเบี้ยจำนวนนั้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 17,175 บาท ให้โจทก์นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share