แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยทำสัญญาซื้อรถยนต์ของกลางจากผู้ร้องโดยมีเงื่อนไขว่าให้กรรมสิทธิ์ตกเป็นของผู้ซื้อเมื่อชำระราคาหมดแล้ว จำเลยชำระค่างวดเป็นเช็คล่วงหน้าทุกงวด แต่เช็ค 7 งวดสุดท้ายถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน ผู้ร้องก็ไม่เคยดำเนินคดีอาญากับจำเลยฐานจ่ายเช็คไม่มีเงิน และไม่บอกเลิกสัญญา คงให้จำเลยครอบครองและใช้รถยนต์ของกลางเรื่อยมา แสดงว่าผู้ร้องไม่ต้องการเอารถยนต์ของกลางคืนแต่ประสงค์เพียงให้ได้รับชำระราคาส่วนที่ขาดเท่านั้น หากศาลสั่งคืนผู้ร้องก็ต้องมอบต่อให้จำเลยตามสัญญาซื้อขาย การขอคืนรถยนต์ของกลางของผู้ร้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ของจำเลยเป็นการขอคืนแทนจำเลยผู้กระทำผิด และเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจร้องขอคืนของกลาง.
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องจากศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295 และสั่งริบรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน80 – 7581 สระบุรี ของกลาง
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าของรถยนต์ของกลางและมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการที่จำเลยกระทำผิด ขอให้สั่งคืนรถยนต์ของกลางแก่ผู้ร้อง
โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่า รถยนต์ของกลางเป็นของจำเลยหากเป็นของผู้ร้อง ผู้ร้องก็รู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดด้วย ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า จำเลยได้ทำสัญญาซื้อขายรถยนต์ของกลางจากผู้ร้องแบบมีเงื่อนไขว่ากรรมสิทธิ์ตกเป็นของผู้ซื้อเมื่อชำระราคาหมดแล้วโดยตกลงราคา 800,000 บาท ชำระในวันทำสัญญาเป็นเงิน 80,000 บาท ส่วนที่เหลือผ่อนชำระ 30 งวดงวดละ 24,000 บาท ทุกวันที่ 29 ของเดือน ตั้งแต่วันที่ 29ธันวาคม 2527 เป็นต้นไป จำเลยชำระค่างวดเป็นเช็คล่วงหน้าทุกงวดและผู้ร้องส่งมอบรถยนต์ให้ จำเลยในวันทำสัญญา แต่เช็ค 7 งวดสุดท้าย คืองวดที่ 23 ถึงงวดที่ 30 ถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินจนบัดนี้จำเลยยังไม่ได้ชำระเงิน 7 งวด ดังกล่าวให้ผู้ร้องและผู้ร้องก็ยังมิได้บอกเลิกสัญญา เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2531จำเลยได้นำรถยนต์ของกลางไปบรรทุกทรายน้ำหนักเกินกว่าอันตราที่กฎหมายกำหนด จึงถูกศาลพิพากษาลงโทษและสั่งริบรถยนต์ของกลางปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยมีว่า ผู้ร้องมีอำนาจร้องขอรถยนต์ของกลางคืนหรือไม่ เห็นว่า แม้ตามสัญญาซื้อขายกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ของกลางยังเป็นของผู้ร้องเพราะจำเลยผู้ซื้อยังชำระราคาไม่ครบ แต่หลังจากจำเลยผิดนัดการชำระเงิน 7 งวดสุดท้าย ผู้ร้องก็ไม่เคยดำเนินคดีอาญากับจำเลยในความผิดฐานจ่ายเช็คไม่มีเงิน และไม่บอกเลิกสัญญาซื้อขาย ยังคงให้จำเลยครอบครองและใช้รถยนต์ของกลางเรื่อยมาจนถึงวันกระทำความผิดในคดีนี้เป็นเวลาถึง 2 ปี แสดงว่าผู้ร้องไม่ต้องการเอารถยนต์ของกลางคืนโดยการบอกเลิกสัญญา แต่ประสงค์เพียงให้ได้รับชำระราคาส่วนที่ขาดเท่านั้น เมื่อยังไม่มีการเลิกสัญญาซื้อขาย จำเลยก็ยังคงมีสิทธิครอบครองและใช้สอยรถยนต์คันนั้นอยู่ หากศาลสั่งคืนรถยนต์ของกลางให้ผู้ร้องผู้ร้องก็ต้องมอบต่อให้จำเลยตามสัญญาซื้อขายดังกล่าว การขอคืนรถยนต์ของกลางของผู้ร้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ของจำเลย จึงเป็นการร้องขอคืนแทนจำเลยผู้กระทำผิดนั่นเอง เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ผู้ร้องไม่มีอำนาจร้องขอคืนของกลางศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.