คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3233/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์จากโจทก์โดยมีจำเลยที่ 2ถึงที่ 5 ทำสัญญาค้ำประกัน ซึ่งสัญญาเช่าซื้อระบุว่าจำเลยที่ 1ต้องประกันภัยรถยนต์คันที่เช่าซื้อไปจากโจทก์และเสียเบี้ยประกันภัยโดยโจทก์เป็นผู้รับผลประโยชน์ซึ่งจำเลยที่ 1 ก็ได้เอาประกันภัยรถยนต์พิพาทไว้กับบริษัท ร. ก็เป็นการตกลงเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอก คือโจทก์ให้ได้รับชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเนื่องจากการสูญหายของรถยนต์ที่เช่าซื้อได้จากบริษัท ร.อีกทางหนึ่งด้วย อันมีผลบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 374 ซึ่งสิทธิของโจทก์จะเกิดขึ้นต่อเมื่อแสดงเจตนาต่อบริษัทร.ว่าจะถือประโยชน์จากสัญญานั้นแล้วแต่บริษัทร. ก็อาจจะยกข้อต่อสู้อันเกิดแก่สัญญาประกันภัยที่มีอยู่ต่อจำเลยที่ 1ซึ่งเป็นคู่สัญญาขึ้นต่อสู้โจทก์ผู้รับประโยชน์ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 376 การที่โจทก์จะเรียกร้องให้บริษัท ร. ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในการสูญหายของรถยนต์ที่จำเลยที่ 1 เช่าซื้อ จึงมีขั้นตอนเสี่ยงต่อการที่จะไม่ได้รับชดใช้ค่าสินไหมทดแทนยิ่งกว่าที่โจทก์จะใช้สิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1ถึงที่ 5 ต้องรับผิดต่อการสูญหายของรถยนต์เช่าซื้อโดยตรง การที่โจทก์ไม่ใช้สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนต่อบริษัท ร. แต่ได้เรียกร้องต่อจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 โดยตรงจึงเป็นการใช้สิทธิโดยสุจริตชอบที่จะกระทำได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เช่าซื้อรถยนต์จากโจทก์ 1 คัน ในราคา 884,016 บาท ชำระเดือนละ 24,556 บาท รวม36 งวด โดยจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ทำสัญญาค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อเพียง 8 งวด แล้วผิดนัดโจทก์จึงบอกเลิกสัญญา ขอให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันส่งมอบรถยนต์คืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อย หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคา 650,000 บาทพร้อมค่าปรับร้อยละ 1.25 ต่อเดือนของเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งห้าจะส่งมอบรถยนต์คืนหรือใช้ราคา ให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันใช้ค่าเสียหายจำนวน 168,000 บาท และค่าเสียหายเดือนละ12,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะคืนหรือใช้ราคารถยนต์
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดเพียง 467,452 บาทค่าปรับร้อยละ 1.25 ต่อเดือน ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์และจำเลยที่ 1ตกลงผ่อนชำระกันใหม่ จึงไม่ผูกพันผู้ค้ำประกัน โจทก์ชอบที่จะเรียกร้องจากผู้รับประกันภัยก่อน
จำเลยที่ 5 ให้การและแก้ไขคำให้การว่า สัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 5 ทำไว้กับโจทก์โดยยังมิได้กรอกข้อความ รถยนต์อยู่ในสภาพทรุดโทรมมีราคาไม่เกิน 500,000 บาท และให้เช่าได้ไม่เกินเดือนละ100 บาท โจทก์สามารถเรียกร้องเอาจากบริษัทประกันภัยได้
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันส่งมอบรถยนต์หมายเลขทะเบียน 9 ค-8163 กรุงเทพมหานคร คันที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์ หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคา 485,000 บาท ให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันใช้ค่าขาดประโยชน์แก่โจทก์เดือนละ 8,000 บาท นับแต่วันที่14 มิถุนายน 2532 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อไปจนกว่าจำเลยทั้งห้าจะส่งมอบรถยนต์หรือใช้ราคา แต่ไม่เกินห้าปีนับแต่วันดังกล่าว
จำเลยที่ 4 ที่ 5 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 4 ที่ 5 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาข้อที่สอง ที่จำเลยที่ 4 ที่ 5ฎีกาว่า โจทก์ต้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันภัยก่อนจึงจะมีสิทธิเรียกร้องเอาจากผู้ค้ำประกันตามสัญญาเช่าซื้อ เห็นว่าแม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่า สัญญาเช่าซื้อตามเอกสารหมาย จ.4 ข้อ 15จะระบุว่าผู้เช่าซื้อคือจำเลยที่ 1 ต้องประกันภัยรถยนต์คันที่เช่าซื้อไปจากโจทก์และเสียเบี้ยประกันภัยโดยโจทก์เป็นผู้รับประโยชน์จำเลยที่ 1 ได้เอาประกันภัยรถยนต์พิพาทไว้กับบริษัทรัตนโกสินทร์ประกันภัย จำกัด นั้น เป็นการตกลงเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอก คือ โจทก์ให้ได้รับชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเนื่องจากการสูญหายของรถยนต์ที่เช่าซื้อได้จากบริษัทรัตนโกสินทร์ประกันภัยจำกัด อีกทางหนึ่งด้วย อันมีผลบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 374 ซึ่งสิทธิของโจทก์จะเกิดขึ้นต่อเมื่อแสดงเจตนาต่อบริษัทรัตนโกสินทร์ประกันภัย จำกัด ว่าจะถือประโยชน์จากสัญญานั้นแล้ว แต่บริษัทรัตนโกสินทร์ประกันภัย จำกัด ก็อาจจะยกข้อต่อสู้อันเกิดแก่สัญญาประกันภัยที่มีอยู่ต่อจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นคู่สัญญาขึ้นต่อสู้โจทก์ผู้รับประโยชน์ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 376 การที่โจทก์จะเรียกร้องให้บริษัทรัตนโกสินทร์ประกันภัยจำกัด ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในการสูญหายของรถยนต์ที่จำเลยที่ 1เช่าซื้อไปจากโจทก์ จึงมีขั้นตอนเสี่ยงต่อการที่จะไม่ได้รับชดใช้ค่าสินไหมทดแทนยิ่งกว่าที่โจทก์จะใช้สิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1ถึงที่ 5 ต้องรับผิดต่อการสูญหายของรถยนต์ที่จำเลยที่ 1 เช่าซื้อโดยตรง ทั้งไม่มีข้อตกลงให้โจทก์จำต้องใช้สิทธิเรียกร้องให้บริษัทรัตนโกสินทร์ประกันภัย จำกัด ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเสียก่อนอีกด้วย ดังนั้น การที่โจทก์ไม่ใช้สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนต่อบริษัทรัตนโกสินทร์ประกันภัย จำกัด แต่ได้เรียกร้องต่อจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 โดยตรงจึงเป็นการใช้สิทธิโดยสุจริตชอบที่จะกระทำได้”
พิพากษายืน

Share