แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ที่ดินโฉนดเลขที่ 1870 เป็นที่ดินสามยทรัพย์ได้ทางภารจำยอมเหนือที่ดินโฉนดเลขที่ 1871 เมื่อปี 2530 ส. ในฐานะผู้จัดการมรดกได้ขอแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 1871 โดยแบ่งแยกที่ดินส่วนที่เป็นทางภารจำยอมออกเป็นโฉนดเลขที่ 133383 จำเลยที่ 1เป็นผู้เช่าที่ดินโฉนดเลขที่ 1871 และ 133382 จาก ส. เมื่อปลายปี 2534 จำเลยได้ก่อสร้างอาคารลงในที่ดินที่เช่าและขึงลาดตาข่ายปิดกั้นทางภารจำยอม ดังนี้ เมื่อที่ดินภารยทรัพย์โฉนดเลขที่ 133383 เป็นของ ส. ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ม. ส. ในฐานะผู้จัดการมรดกจึงมีหน้าที่ต้องยอมให้โจทก์ในฐานะเจ้าของที่ดินสามยทรัพย์โฉนดเลขที่ 1870 ใช้ทางภารจำยอมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1387 และ ส.ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ม. เท่านั้นที่มีสิทธิยกข้ออ้างว่าภารจำยอมสิ้นไปโดยอายุความหรือหมดประโยชน์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1399 หรือมาตรา 1400ส่วนจำเลยที่ 1เป็นแต่เพียงผู้เช่า และจำเลยที่ 2 เป็นแต่เพียงผู้ครอบครองไม่อาจยกเอาเหตุดังกล่าวซึ่งเป็นสิทธิของเจ้าของภารยทรัพย์มาต่อสู้กับโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของสามยทรัพย์ได้ โจทก์อุทธรณ์ในปัญหาเรื่องการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตเป็นปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องอันเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนการที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยให้เป็นการไม่ชอบ โจทก์เป็นเจ้าของสามยทรัพย์ได้สิทธิในการใช้ทางภารจำยอมเพราะมีการจดทะเบียนสิทธิโดยชอบ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองฐานกระทำละเมิดโดยปิดทางภารจำยอมได้ ไม่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง>เปิดทางภารจำยอมให้แก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 1870 เป็นทางเข้าออกระหว่างที่ดินโจทก์กับซอยยอดสุวรรณตามเดิม และให้ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ15 ต่อปี นับแต่วันผิดนัดจนกว่าชำระเสร็จ กับให้ใช้ค่าเสียหายอีกวันละ 2,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสองจะเปิดทางภารจำยอม
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยทั้งสองมิได้ก่อสร้างล้อมรั้วลงบนทางภารจำยอม ภารจำยอมไม่ได้ใช้เป็นเวลากว่า 10 ปี แล้วเนื่องจากมีถนนประชาอุทิศตัดผ่านที่ดินของนางอุษณีย์ สิงคาลวณิชนางอุษณีย์จึงแบ่งแยกที่ดินในนามเดิมออกเป็น 6 แปลงแล้วสมคบกับโจทก์ให้โจทก์รับโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 1870 มาเพื่อฟ้องจำเลยทั้งสองซึ่งนายสม ยอดสุวรรณ เจ้าของที่ดินภารยทรัพย์ได้ยื่นฟ้องนางอุษณีย์เจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 1870 ให้ยกเลิกภารจำยอมต่อศาลชั้นต้นแล้วก่อนที่โจทก์จะได้รับโอนที่ดินมาจากนางอุษณีย์ ตามคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 19871/2534 ระหว่างนายสม ยอดสุวรรณ โจทก์ นางอุษณีย์ สิงคาลวณิช จำเลยคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณา โจทก์รับโอนที่ดินดังกล่าวมาโดยไม่สุจริตและโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสองตามฟ้องขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองรื้อถอนรั้วและสิ่งปลูกสร้างจากทางภารจำยอมที่ดินโฉนดเลขที่ 133383 และเปิดให้โจทก์ใช้ทางภารจำยอมดังกล่าวได้ตามเดิม ห้ามจำเลยทั้งสองรบกวนหรือขัดขวางการใช้ทางภารจำยอมของโจทก์ ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าเสียหายอัตราวันละ 100 บาท แก่โจทก์ นับแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน 2534 จนกว่าจำเลยทั้งสองจะรื้อถอนและเปิดทางภารจำยอมให้โจทก์ใช้ได้ตามเดิมคำขอนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสองฎีกาข้อแรกว่า ภารจำยอมของโจทก์หมดสิ้นไป เพราะโจทก์มิได้ใช้ประโยชน์ในทางภารจำยอมเกินกว่า 10 ปี เมื่อถนนประชาอุทิศตัดผ่านที่ดินโฉนดเลขที่ 1870แล้วภารจำยอมย่อมหมดประโยชน์ไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1400 เห็นว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยโดยจำเลยทั้งสองมิได้ฎีกาโต้แย้งว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 1870เป็นที่ดินสามยทรัพย์ได้ทางภารจำยอมเหนือที่ดินโฉนดเลขที่ 1871เมื่อปี 2530 นายสมในฐานะผู้จัดการมรดกได้ขอแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 1871 โดยแบ่งแยกที่ดินส่วนที่เป็นทางภารจำยอมออกเป็นโฉนดเลขที่ 133383 จำเลยที่ 1 เป็นผู้เช่าที่ดินโฉนดเลขที่ 1871 และ133382 จากนายสม เมื่อปลายปี 2534 จำเลยทั้งสองได้ก่อสร้างอาคารลงในที่ดินที่เช่าและขึงลวดตาข่ายปิดกั้นทางภารจำยอมเห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ที่ดินภารยทรัพย์โฉนดเลขที่133383 เป็นของนายสม ยอดสุวรรณ ในฐานะผู้จัดการมรดกนายมล ยอดสุวรรณ นายสม ในฐานะผู้จัดการมรดกนายมลจึงมีหน้าที่ต้องยอมให้โจทก์ในฐานะเจ้าของที่ดินสามยทรัพย์โฉนดเลขที่ 1870 ใช้ทางภารจำยอมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1387 ฉะนั้น นายสมในฐานะผู้จัดการมรดกนายมลเท่านั้นที่มีสิทธิยกข้ออ้างว่า ภารจำยอมสิ้นไปโดยอายุความหรือหมดประโยชน์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1399 หรือมาตรา 1400จำเลยที่ 1 เป็นแต่เพียงผู้เช่า จำเลยที่ 2 เป็นแต่เพียงผู้ครอบครองไม่อาจยกเอาเหตุดังกล่าวซึ่งเป็นสิทธิของเจ้าของภารยทรัพย์มาต่อสู้กับโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของสามยทรัพย์ได้
จำเลยทั้งสองฎีกาต่อไปว่า โจทก์ใช้สิทธิไม่สุจริตเพราะนางอุษณีย์ได้แบ่งแยกที่ดินสามยทรัพย์ออกโดยให้ที่ดินส่วนหนึ่งไม่สามารถมีทางออกได้และขายให้โจทก์โดยนางอุษณีย์เป็นผู้ถือหุ้นบริษัทโจทก์เพื่อให้โจทก์ฟ้องคดี แม้ศาลชั้นต้นมิได้ตั้งประเด็นไว้ศาลสูงก็ยกขึ้นวินิจฉัยได้ เห็นว่า ปัญหาเรื่องการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตเป็นปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยให้ไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นควรวินิจฉัยไปโดยไม่ต้องส่งสำนวนคืนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 243(1) ประกอบมาตรา 247 และวินิจฉัย ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์เป็นเจ้าของสามยทรัพย์ได้สิทธิในการใช้ทางภารจำยอมเพราะมีการจดทะเบียนสิทธิโดยชอบ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองฐานกระทำละเมิดโดยปิดทางภารจำยอมได้ ไม่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต
พิพากษายืน