คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3229/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้เอาประกันชีวิตรู้อยู่แล้วว่าตนเองเป็นโรคความดันโลหิตสูงแต่แจ้งในคำขอเอาประกันชีวิตว่าไม่เคยเป็นโรคดังกล่าวอันเป็นความเท็จสัญญาประกันชีวิตย่อมเป็นโมฆียะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา865วรรคหนึ่ง ส.เป็นผู้ชักชวนให้ธ. ทำสัญญาประกันชีวิตกับจำเลยแม้ส.รู้ว่าธ. เป็นโรคความดันโลหิตสูงก็จะถือว่าจำเลยรู้เช่นนั้นด้วยไม่ได้เพราะส. มิได้เป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนหรือเป็นตัวแทนของจำเลยผู้รับประกันชีวิตแต่เป็นเพียงผู้หาผู้ที่จะเอาประกันชีวิตและดำเนินการทำคำขอเอาประกันชีวิตให้แก่ผู้เอาประกันเท่านั้น

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอบังคับให้จำเลยชำระเงินตามสัญญาประกันชีวิต จำนวน 200,000 บาท แก่โจทก์ทั้งสอง พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับตั้งแต่วันที่ 11 ตุลาคม 2531คิดถึงวันฟ้องเป็นดอกเบี้ย 2,876.72 บาท และจำเลยต้องชำระดอกเบี้ยอัตราดังกล่าวจากต้นเงิน 200,000 บาท นับจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า นายธีรพงษ์ หาญตนศิริสกุล ได้เอาประกันชีวิตไว้กับจำเลย และแถลงเรื่องสุขภาพว่าไม่เคยมีความดันโลหิตสูงมาก่อนที่จะเอาประกันชีวิต และไม่เคยเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลในระยะเวลา 2 ปี ที่ผ่านมาต่อมาเมื่อได้รับแจ้งการตายของนายธีรพงษ์ จำเลยได้ดำเนินการสอบสวนทราบว่าก่อนทำสัญญาประกันชีวิต นายธีรพงษ์เคยเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลด้วยโรคความดันโลหิตสูงและใช้ยาลดความดันโลหิตสูงมาก่อนดังนั้นการกระทำของนายธีรพงษ์จึงเป็นการละเว้นเสียไม่เปิดเผยข้อความจริง ทั้งที่รู้อยู่แล้วและยังแถลงข้อความอันเป็นเท็จแก่จำเลยด้วย ซึ่งหากจำเลยทราบความจริงจะต้องปฏิเสธไม่รับทำสัญญาประกันชีวิตให้ สัญญาประกันชีวิตระหว่างนายธีรพงษ์กับจำเลยจึงตกเป็นโมฆียะ และจำเลยได้บอกล้างสัญญาแล้วสัญญาดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะจำเลยไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองและยินยอมคืนเงินเบี้ยประกันที่ผู้เอาประกันชีวิตชำระมาแล้วแก่โจทก์ทั้งสอง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ โดยได้รับอนุญาตให้อุทธรณ์อย่างคนอนาถา
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า ให้จำเลยใช้เงินค่าทดแทนจำนวน200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 11 ตุลาคม 2531 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเงินเสร็จ ทั้งนี้ดอกเบี้ยถึงวันฟ้อง (วันที่ 19 ธันวาคม 2531) ต้องไม่เกิน2,876.72 บาท
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยฎีกาว่านายธีรพงษ์ หาญตนศิริสกุลผู้เอาประกันชีวิตไว้กับจำเลยป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูงก่อนที่นายธีรพงษ์จะประกันชีวิตกับจำเลยแต่ขณะทำคำขอเอาประกันชีวิตนายธีรพงษ์แจ้งว่ามีสุขภาพสมบูรณ์ไม่เคยเป็นโรคความดันโลหิตสูงอันเป็นความเท็จสัญญาประกันชีวิตระหว่างจำเลยกับนายธีรพงษ์จึงตกเป็นโมฆียะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 865นายสมชาติ ไชยสิทธิ์ ผู้เป็นตัวแทนหาประกันชีวิตมิใช่ตัวแทนของโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เพราะมีหน้าที่เพียงชักชวนให้บุคคลทำสัญญาประกันชีวิตกับจำเลยเท่านั้น การที่นายสมชาติรู้ความจริงเกี่ยวกับโรคของผู้เอาประกันถือไม่ได้ว่าจำเลยรู้ด้วย และเมื่อจำเลยทราบว่านายธีรพงษ์เป็นโรคความดันโลหิตสูงจำเลยได้มีหนังสือบอกล้างสัญญาประกันชีวิตไปยังโจทก์ทั้งสองแล้ว สัญญาประกันชีวิตระหว่างจำเลยกับนายธีรพงษ์จึงตกเป็นโมฆะ จำเลยไม่ต้องจ่ายเงินค่าสินไหมทดแทนตามฟ้องนั้นปรากฏตามประวัติการรักษาตัวของนายธีรพงษ์ ที่โรงพยาบาลการไฟฟ้านครหลวงเอกสารหมาย ล.13 และหนังสือของผู้อำนวยการโรงพยาบาลไฟฟ้านครหลวงเอกสารหมาย ล.14 ว่า นายธีรพงษ์เป็นโรคความดันโลหิตสูงมาตั้งแต่ปี 2521 ในปี 2529, 2530 และ 2531นายธีรพงษ์ก็ยังเป็นโรคความดันโลหิตสูงอยู่โดยที่โจทก์ทั้งสองไม่ได้นำสืบโต้แย้งให้ฟังได้เป็นอย่างอื่น จึงฟังได้ว่านายธีรพงษ์เป็นโรคความดันโลหิตสูงจริง แต่ปรากฏตามคำขอเอาประกันชีวิตของนายธีรพงษ์เอกสารหมาย ล.11 ข้อ 10 ฉ. ซึ่งมีข้อความว่า ฯลฯท่านมีความดันโลหิตสูงหรือไม่ มีข้อความกรอกว่าไม่เคย แสดงให้เห็นว่านายธีรพงษ์ไม่เปิดเผยข้อความจริงเกี่ยวกับโรคความดันโลหิตสูง จึงเป็นกรณีที่นายธีรพงษ์รู้อยู่แล้วว่าตนเองเป็นโรคความดันโลหิตสูง แต่แจ้งว่าไม่เคยเป็นอันเป็นความเท็จสัญญาประกันชีวิตระหว่างจำเลยกับนายธีรพงษ์ จึงเป็นโมฆียะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 865 วรรคหนึ่ง ส่วนกรณีที่เกี่ยวกับนายสมชาติซึ่งเป็นผู้ชักชวนให้นายธีรพงษ์ทำสัญญาประกันชีวิตกับจำเลยนั้น แม้จะฟังว่านายสมชาติรู้ว่านายธีรพงษ์เป็นโรคความดันโลหิตสูง ก็จะถือว่าจำเลยรู้ว่านายธีรพงษ์เป็นโรคความดันโลหิตสูงไม่ได้ เพราะนายสมชาติมิได้เป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนหรือเป็นตัวแทนของจำเลย แต่เป็นเพียงผู้หาผู้ที่จะเอาประกันและดำเนินการทำคำขอเอาประกันให้แก่ผู้เอาประกัน เมื่อสัญญาประกันชีวิตระหว่างจำเลยกับนายธีรพงษ์ตกเป็นโมฆียะ จำเลยย่อมมีสิทธิบอกล้างได้ และจำเลยก็ได้มีหนังสือบอกล้างสัญญาประกันชีวิตดังกล่าวไปยังโจทก์ทั้งสองแล้วสัญญาประกันชีวิตระหว่างจำเลยกับนายธีรพงษ์จึงตกเป็นโมฆะ จำเลยหาต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนตามฟ้องให้แก่โจทก์ทั้งสองไม่
พิพากษากลับ ให้ยก ฟ้องโจทก์

Share