คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3225/2540

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การรถไฟแห่งประเทศไทยจำเลยเป็นรัฐวิสาหกิจซึ่งดำเนินกิจการที่กระทบกระเทือนต่อผลประโยชน์ของประชาชน รัฐจึงต้องควบคุมอย่างใกล้ชิด เมื่อมีข้อขัดแย้งเกิดขึ้น คู่กรณีจะต้องนำเข้าสู่กระบวนการตามขั้นตอนที่รัฐกำหนดขึ้นตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 23 การที่โจทก์ซึ่งเป็นพนักงานของจำเลยและจำเลยตกลงกันให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาดข้อขัดแย้งเกี่ยวกับการเงินระหว่างโจทก์และจำเลยโดยมีเจตนาหลีกเลี่ยงไม่ยอมอยู่ในบังคับบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว อันเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 113 เดิมเป็นเหตุให้คำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการไม่มีผลบังคับตามไปด้วย

ย่อยาว

คดีทั้งสี่สำนวนนี้ ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกันโดยให้เรียกโจทก์ตามลำดับสำนวนว่าโจทก์ที่ 1 ถึงโจทก์ที่ 4

โจทก์ทั้งสี่สำนวนฟ้องว่า โจทก์ทั้งสี่เป็นลูกจ้างของจำเลยได้รับค่าจ้างเป็นรายวันรายชั่วโมง เหมาเดือน และตามผลงานต่อมาได้รับการปรับเปลี่ยนฐานะเป็นพนักงานเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2526 เดือนตุลาคม 2529 โจทก์ที่ 4 เกษียณอายุ ในการปรับเปลี่ยนฐานะเป็นพนักงานได้เกิดข้อพิพาทแรงงานระหว่างจำเลยกับพนักงานรวมทั้งโจทก์ทั้งสี่เกี่ยวกับค่าจ้างซึ่งทั้งสองฝ่ายได้ตกลงกันแต่งตั้งคณะอนุญาโตตุลาการเป็นผู้ชี้ขาดข้อพิพาท ต่อมาคณะอนุญาโตตุลาการได้มีคำชี้ขาดเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2527 ให้ถือว่าวันเสาร์เป็นวันหยุดประจำสัปดาห์ การปรับค่าจ้างรายวันและค่าจ้างรายปี รายชั่วโมงของลูกจ้างประจำ ซึ่งเปลี่ยนฐานะมาเป็นพนักงานนั้นจะต้องคูณค่าจ้างรายวันด้วย 30 และคูณค่าจ้างรายชั่วโมงด้วย 240 แต่จำเลยไม่ปฏิบัติตามคำชี้ขาดดังกล่าว กลับทำการตกลงกับสหภาพแรงงานในการรถไฟแห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2533 ในส่วนที่เกี่ยวกับการปรับอัตราค่าจ้างรายวันรายชั่วโมงโดยปรับเงินเดือนให้พนักงานทุกคนเป็นกรณีพิเศษคนละ 1 ขั้น ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2532 เป็นต้นไป ซึ่งไม่ถูกต้องเนื่องจากสหภาพแรงงานที่ตกลงกับจำเลยดังกล่าวไม่ได้รับมอบอำนาจให้เป็นผู้แทนของพนักงานแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยดังกล่าวทำให้ลูกจ้างของจำเลยที่ได้รับการปรับเปลี่ยนฐานะเป็นพนักงานรวมทั้งโจทก์ทั้งสี่ได้รับความเสียหายขาดคาจ้างที่ควรจะได้รับคิดคำนวณตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2526 เป็นต้นมา จนถึงเดือนเมษายน 2537 เฉพาะโจทก์ที่ 1 คิดเป็นเงิน163,118.96 บาท โจทก์ที่ 2 คิดเป็นเงิน 187,275.80 บาท โจทก์ที่ 3 คิดเป็นเงิน257,997 บาท ส่วนโจทก์ที่ 4 ที่เกษียณอายุคิดถึงเดือนตุลาคม 2529 เป็นเงินทั้งสิ้น55,811.20 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ทั้งสี่พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินที่โจทก์แต่ละคนจะได้รับนับจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จและให้จำเลยปฏิบัติตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการฉบับลงวันที่ 8มิถุนายน 2537 ต่อไป

จำเลยทั้งสี่สำนวนให้การว่า ข้อเรียกร้องเกี่ยวกับสภาพการจ้างของโจทก์ทั้งสี่ตามฟ้องยังไม่ถึงที่สุด ซึ่งตามกฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์โจทก์ทั้งสี่จะต้องนำเรื่องเข้าสู่การชี้ขาดของคณะกรรมการภายใน 90 วัน ตามกฎหมายดังกล่าว โจทก์ทั้งสี่จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง

วันนัดพิจารณา ศาลแรงงานกลางสอบข้อเท็จจริงจากคู่ความแล้ว เห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้ มีคำสั่งงดสืบพยาน

ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า “กิจการรถไฟเป็นกิจการที่มีลักษณะเป็นสาธารณูปโภคข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ในกิจการดังกล่าวย่อมมีผลกระทบกระเทือนต่อเศรษฐกิจของประเทศหรือความสงบเรียบร้อยของประชาชน คดีโจทก์ทั้งสี่สืบเนื่องมาจากข้อขัดแย้งเกี่ยวกับสภาพการจ้างหรือข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ในกิจการรถไฟ แต่คู่กรณีคือสภาพแรงงานต่าง ๆ ในการรถไฟแห่งประเทศไทยกับจำเลยใช้วิธีตกลงกันแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการเป็นผู้ชี้ขาดข้อพิพาท เป็นการขัดต่อบทบัญญัติของกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ข้อตกลงแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการดังกล่าวตามหนังสือแต่งตั้งคณะอนุญาโตตุลาการเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 ของโจทก์ที่ 1 จึงเป็นโมฆะคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการตามฟ้องโจทก์ทั้งสี่จึงไม่มีผลบังคับ ในส่วนข้อตกลงระหว่างจำเลยกับสหภาพแรงงานต่าง ๆ ซึ่งเป็นคู่กรณีรวมทั้งโจทก์ทั้งสี่ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 8 ของโจทก์ที่ 1 ซึ่งตกลงกันเมื่อปี 2533 แม้จะฟังว่าประธานสหภาพแรงงานตามเอกสารดังกล่าวไม่มีอำนาจกระทำการแทนสมาชิกรวมทั้งโจทก์ทั้งสี่ด้วยก็ตามแต่การที่โจทก์ทั้งสี่ไม่โต้แย้งคัดค้านข้อตกลงดังกล่าวว่าไม่ถูกต้องอย่างใด ทั้ง ๆ ที่สามารถกระทำได้จนเพิ่งมาฟ้องคดีในปี 2537 เป็นการให้สัตยาบันแก่ข้อตกลงดังกล่าวแล้วโจทก์ทั้งสี่ต้องผูกพันตามนั้น จำเลยจึงไม่จำต้องปฏิบัติตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการตามฟ้อง พิพากษายกฟ้อง

โจทก์ทั้งสี่สำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “มีปัญหาตามที่โจทก์ทั้งสี่อุทธรณ์ว่า ข้อตกลงระหว่างฝ่ายโจทก์ทั้งสี่กับจำเลยที่ให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานมีผลบังคับตามกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า จำเลยเป็นรัฐวิสาหกิจสำคัญซึ่งดำเนินการที่กระทบกระเทือนต่อผลประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่ รัฐจึงต้องควบคุมอย่างใกล้ชิดทั้งด้านการบริหารทั่วไปและการเงิน โดยเฉพาะด้านการเงินจำเลยกับพนักงานการรถไฟแห่งประเทศไทยหรือตัวแทนจะทำข้อตกลงกันเองหรือเมื่อมีข้อขัดแย้งเกิดขึ้นจะตกลงตั้งบุคคลภายนอกเป็นผู้ชี้ขาดปัญหาโดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงการคลังหาได้ไม่ คู่กรณีจะต้องนำปัญหาข้อขัดแย้งเข้าสู่กระบวนการที่รัฐกำหนดขึ้น กล่าวคือ ต้องนำเข้าสู่ขั้นตอนการยื่นข้อเรียกร้อง เจรจา ไกล่เกลี่ย ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ในที่สุดหากตกลงกันไม่ได้ให้นำปัญหาเข้าสู่การวินิจฉัยของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 23 การที่ฝ่ายโจทก์และจำเลยตกลงกันให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาดข้อขัดแย้งเกี่ยวกับการเงินระหว่างโจทก์และจำเลยดังกล่าวข้างต้น จึงเป็นการตกลงกันโดยมีเจตนาหลีกเลี่ยงไม่ยอมอยู่ในบังคับบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว อันเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ข้อตกลงนั้นย่อมขัดต่อกฎหมายตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 113 เดิมเป็นเหตุให้คำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการไม่มีผลบังคับตามไปด้วยอุทธรณ์โจทก์ทั้งสี่สำนวนฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share