แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
บุคคลที่อยู่ในราชอาณาจักรไทยย่อมจะต้องอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายไทย ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายมหาชนหรือกฎหมายเอกชนโดยเฉพาะในทางอาญา ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 4 บัญญัติว่าผู้ใดกระทำผิดในราชอาณาจักรต้องรับโทษตามกฎหมาย ส่วนในทางแพ่งข้อขัดแย้งระหว่างบุคคลต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ในบางกรณีหากมีปัญหาว่าจะใช้กฎหมายของประเทศใดบังคับ ก็ต้องเป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมายฯ
ปัญหาแรงงานส่วนใหญ่ต้องบังคับตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน และพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์พ.ศ.2518 โดยเฉพาะพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ ฯ หมวด 10มีบทบัญญัติกำหนดโทษทางอาญาแก่ผู้ฝ่าฝืน หากมีการกระทำผิดทางอาญาตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ ฯ ภายในราชอาณาจักรก็ต้องฟ้องร้องต่อศาลไทยและบังคับตามกฎหมายไทยไม่มีเหตุผลใดที่จะแยกฟ้องและบังคับตามกฎหมายของประเทศไทยเฉพาะในทางอาญาแต่ปัญหาแรงงานแท้ ๆ ให้ฟ้องร้องและบังคับตามกฎหมายของประเทศอื่น ดังนั้น เมื่อมีข้อพิพาทแรงงานในประเทศไทย แม้จะมีการตกลงจ้างกันในประเทศอื่น ก็ต้องฟ้องร้องและบังคับคดีตามกฎหมายไทยโดยไม่ต้องคำนึงว่าคู่กรณีเจตนาให้ใช้กฎหมายของประเทศใดบังคับ
จำเลยทำสัญญาจ้างโจทก์ที่ประเทศสิงคโปร์ ต่อมามีการผิดสัญญาในประเทศไทย โจทก์จึงฟ้องเรียกเงินเดือนค่าเบี้ยเลี้ยง เงินโบนัส ค่ารักษาพยาบาล ค่าเดินทางค่าใช้พาหนะของโจทก์ ค่าซ่อมรถ ค่าภาษีและค่าปรับภาษีจากจำเลย กรณีต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย ฯ มาตรา 13 คือต้องถือตามเจตนาของคู่กรณี แต่เมื่อไม่อาจทราบได้ว่าขณะทำสัญญาคู่กรณีประสงค์จะใช้กฎหมายของประเทศใดบังคับและปรากฏว่าคู่กรณีมีสัญชาติอเมริกันทั้งสองฝ่าย กฎหมายที่ใช้บังคับแก่กรณีตามฟ้องจึงต้องเป็นกฎหมายสัญชาติอันร่วมกันของคู่กรณีคือกฎหมายของสหรัฐอเมริกา แต่ไม่มีฝ่ายใดนำสืบว่ากฎหมายของสหรัฐอเมริกาในเรื่องนี้มีอยู่อย่างไร กรณีจึงต้องบังคับตามมาตรา 8 คือให้ใช้กฎหมายของประเทศไทย
อุทธรณ์ว่าที่ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงตามคำพยานโจทก์นั้นเป็นการรับฟังขัดกับพยานหลักฐานในสำนวนเพราะเป็นการฟังพยานบอกเล่า โจทก์สืบไม่ได้ตามที่ตนมีหน้าที่นำสืบจึงต้องถือข้อเท็จจริงตามคำให้การของจำเลย ดังนี้ เป็นอุทธรณ์ดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลางจึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงาน ฯ มาตรา 55
เบี้ยเลี้ยงชีพที่นายจ้างจ่ายให้ลูกจ้างมีจำนวนแน่นอนและจ่ายให้เป็นประจำเป็นรายเดือนเช่นเดียวกับเงินเดือนจึงเป็นการจ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานในเวลาปกติของวันทำงานถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของค่าจ้าง จึงต้องนำมารวมกับเงินเดือนเพื่อคำนวณค่าชดเชยด้วย
โจทก์มิได้ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแม้โจทก์นำสืบฟังได้ว่าจำเลยบอกเลิกจ้างและเลิกจ้างในวันเดียวกันก็ยังไม่พออนุมานได้ว่าโจทก์ฟ้องเรียกสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์จึงเกินคำขอ ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานฯ มาตรา 52
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้สมัครงานกับจำเลยที่ 1 ณ ประเทศสิงคโปร์ จำเลยที่ 1รับโจทก์เป็นลูกจ้างประจำแล้วส่งมาทำงานในประเทศไทย ต่อมาจำเลยทั้งสี่ได้ร่วมกันเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยพร้อมดอกเบี้ย เงินเดือน ค่าเบี้ยเลี้ยงชีพ เงินโบนัส ค่ารักษาพยาบาล ค่าพาหนะ ค่าที่จำเลยใช้รถโจทก์ ค่าซ่อมรถ ค่าภาษีและค่าปรับภาษีแก่โจทก์เป็นเงินรวม 5,506,684 บาท
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยที่ 1 ไม่มีสำนักงานสาขาในประเทศไทย และสัญญาทำกันที่ต่างประเทศ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 มิได้จ้างโจทก์เป็นส่วนตัวและมิได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 โจทก์จงใจทำให้จำเลยที่ 1 เสียหายอยู่เสมอละเลยไม่ปฏิบัติงาน ไม่เชื่อฟังคำสั่งของผู้บังคับบัญชา จำเลยจึงมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์นอกจากนี้โจทก์ยังทำให้เครื่องจักรของจำเลยที่ 1 เสียหายคิดเป็นเงิน 100,000 บาท และจำเลยที่ 1 ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการหาคนงานใหม่แทนโจทก์เป็นเงิน 100,000 บาท ขอให้บังคับโจทก์ใช้ค่าเสียหายจำนวน 200,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โจทก์ไม่เคยประพฤติผิดหรือบกพร่องในหน้าที่จำเลยที่ 1 ไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายจากโจทก์ ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ต่อมาโจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 2, ที่ 3 และที่ 4 ศาลแรงงานกลางอนุญาต
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยเป็นเงิน 63,296 บาท พร้อมดอกเบี้ย และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเงิน 15,002.40 บาทแก่โจทก์ คำขออื่นของโจทก์นอกจากนี้ให้ยก และให้ยกฟ้องแย้งจำเลย
โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงได้ความว่าสาขาของจำเลยที่ 1ที่ประเทศสิงคโปร์ ทำสัญญาจ้างโจทก์ที่ประเทศสิงคโปร์แล้วส่งโจทก์มาทำงานในประเทศไทย โจทก์ทำงานยังไม่ครบ 1 ปี จำเลยที่ 1 ก็เลิกจ้างโจทก์ โจทก์และจำเลยที่ 1มีสัญชาติอเมริกัน เห็นสมควรวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ข้อ 2.2 เสียก่อนจำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่าโจทก์จำเลยตกลงว่าจ้างกันที่ประเทศสิงคโปร์ ย่อมมีเจตนาที่จะผูกพันกันตามกฎหมายสิงคโปร์เมื่อโจทก์ไม่นำสืบว่ากฎหมายในเรื่องค่าชดเชยของประเทศสิงคโปร์บัญญัติไว้อย่างไร โจทก์จึงไม่มีสิทธิรับค่าชดเชย ศาลฎีกาพิเคราะห์ปัญหาข้อนี้แล้ว เห็นว่าตามกฎหมายไทย บุคคลที่อยู่ในพระราชอาณาจักรไทยย่อมจะต้องอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายไทยไม่ว่าจะเป็นกฎหมายมหาชนหรือกฎหมายเอกชน โดยเฉพาะในทางอาญา ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 4 บัญญัติว่า “ผู้ใดกระทำความผิดในราชอาณาจักร ต้องรับโทษตามกฎหมาย” ในทางแพ่งข้อขัดแย้งระหว่างบุคคลต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ในบางกรณีหากมีปัญหาว่าจะใช้กฎหมายของประเทศใดบังคับ ก็ต้องเป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พุทธศักราช 2481 ในปัญหาแรงงาน ส่วนใหญ่ต้องบังคับตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานและพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 โดยเฉพาะพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 หมวด 10 มีบทบัญญัติกำหนดโทษทางอาญาแก่ผู้ฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตราต่าง ๆ ไว้ในมาตรา 128 ถึง 159 หากมีการกระทำผิดทางอาญาตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ภายในพระราชอาณาจักรไม่ว่าผู้กระทำผิดจะเป็นคนสัญชาติใด ก็ต้องฟ้องร้องต่อศาลไทย และบังคับตามกฎหมายไทยฉะนั้น เมื่อมีการขัดแย้งในปัญหาแรงงานในประเทศไทย ก็ต้องฟ้องร้องและบังคับตามกฎหมายไทยโดยไม่ต้องคำนึงว่าคู่กรณีจะมีเจตนาให้ใช้กฎหมายของประเทศใดบังคับ เพราะเมื่อมีปัญหาแรงงานเกิดขึ้นไม่มีเหตุผลใด ๆ ที่จะแยกฟ้องร้องและบังคับตามกฎหมายของประเทศไทยเฉพาะแต่ในทางอาญา แต่ในปัญหาแรงงานแท้ ๆ ให้ฟ้องร้องและบังคับตามกฎหมายของประเทศอื่นดังนี้เมื่อมีข้อพิพาทแรงงานระหว่างโจทก์และจำเลยในประเทศไทย แม้จะมีการตกลงจ้างกันในประเทศสิงคโปร์ ก็ต้องฟ้องร้องและบังคับคดีตามกฎหมายไทย อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ในข้อ 2.1 ว่า จำเลยที่ 1 ไม่มีสำนักงานในประเทศไทยสำนักงานของจำเลยที่ 1 ในประเทศไทยเป็นเพียงสำนักงานติดต่อเท่านั้น โจทก์ซึ่งมีหน้าที่นำสืบในข้อนี้ก็ไม่สามารถนำพยานหลักฐานมาแสดงว่า สำนักงานของจำเลยในประเทศไทยเป็นสำนักงานสาขาการที่ศาลแรงงานกลางฟังว่าโจทก์นำสืบว่าผู้จัดการฝ่ายบุคคลของจำเลยที่ 1 ในประเทศสิงคโปร์ได้บอกว่าสำนักงานในประเทศไทยของจำเลยที่ 1 เป็นสำนักงานสาขาของจำเลยที่ 1 แต่จำเลยมิได้นำสืบแก้ข้อนี้เลย จึงเป็นการขัดกับพยานหลักฐานในสำนวน เพราะเป็นการฟังพยานบอกเล่า ส่วนพยานจำเลยที่ 1 ให้การไว้ชัดเจนว่าสำนักงานในกรุงเทพฯ ไม่ใช่สำนักงานสาขาพิเคราะห์แล้วเห็นว่าเป็นการอุทธรณ์ดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง จึงเป็นการอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
ต่อไปศาลฎีกาจะได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ โจทก์อุทธรณ์ว่าค่าเสียหายอย่างอื่นตามฟ้อง (นอกเหนือไปจากค่าชดเชย) โจทก์และจำเลยที่ 1 มีภูมิลำเนาในประเทศไทย เมื่อโจทก์และจำเลยมิได้ตกลงกันไว้ชัดแจ้งว่า เมื่อมีคดีพิพาทกันขึ้นจะใช้กฎหมายใดบังคับ จึงเป็นที่เห็นได้โดยปริยายว่าโจทก์จำเลยมีเจตนาให้ใช้กฎหมายของประเทศไทยบังคับปัญหาข้อนี้ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่าโจทก์จำเลยทำสัญญาจ้างกันที่ประเทศสิงคโปร์ เมื่อมีปัญหาว่าจะใช้กฎหมายใดบังคับ ต้องพิจารณาตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พุทธศักราช 2481 มาตรา 13 ซึ่งบัญญัติว่า “ปัญหาว่าจะพึงใช้กฎหมายใดบังคับสำรับสิ่งซึ่งเป็นสารสำคัญ หรือผลแห่งสัญญานั้นให้วินิจฉัยตามเจตนาของคู่กรณี ในกรณีที่ไม่อาจหยั่งทราบเจตนาชัดแจ้งหรือโดยปริยายได้ ถ้าคู่สัญญามีสัญชาติอันเดียวกัน กฎหมายที่จะใช้บังคับก็ได้แก่กฎหมายสัญชาติอันร่วมกันแห่งคู่สัญญา ถ้าคู่สัญญาไม่มีสัญชาติอันเดียวกัน ก็ให้ใช้กฎหมายแห่งถิ่นที่สัญญานั้นได้ทำขึ้น” ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ผู้จัดการฝ่ายบุคคลของจำเลยที่ 1 ประจำสำนักงานสาขาประเทศสิงคโปร์และเป็นคนรับโจทก์เข้าทำงานเบิกความว่า สัญญาจ้างทำที่ประเทศสิงคโปร์ จึงต้องบังคับตามกฎหมายของประเทศสิงคโปร์ ปัญหาข้อนี้โจทก์มิได้นำสืบถึงเลยว่าได้ตกลงกันไว้อย่างใดหรือไม่ กรณีจึงพอเป็นที่ทราบเจตนาของโจทก์จำเลยได้โดยปริยายว่า โจทก์จำเลยได้ตกลงกันให้บังคับตามกฎหมายของประเทศสิงคโปร์ แต่คู่ความมิได้นำสืบว่ากฎหมายของประเทศสิงคโปร์ในข้อนี้มีอยู่อย่างไรจึงพิพากษายกฟ้องโจทก์ในประเด็นข้อนี้ ศาลฎีกาเห็นว่าขณะที่โจทก์จำเลยทำสัญญาจ้างกัน ไม่มีพยานหลักฐานว่าทั้งสองฝ่ายตกลงกันว่าอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องนี้ พฤติการณ์ที่พอจะอนุมานเจตนาของคู่กรณีก็ไม่ปรากฏ คำเบิกความของพยานจำเลยที่ศาลแรงงานกลางหยิบยกมาวินิจฉัยนี้มิใช่พยานหลักฐานที่จะฟังว่าคู่กรณีมีเจตนาที่จะให้ใช้กฎหมายของประเทศใดบังคับแก่กรณีตามฟ้อง แต่เป็นเพียงความเห็นของพยานเท่านั้น ดังนี้จึงต้องถือว่าไม่อาจทราบเจตนาชัดแจ้งหรือโดยปริยายว่าคู่กรณีประสงค์จะให้ใช้กฎหมายของประเทศใดบังคับ ปรากฏว่าคู่กรณีมีสัญชาติอเมริกันทั้งสองฝ่าย กฎหมายที่ใช้บังคับแก่กรณีตามฟ้องจึงต้องเป็นกฎหมายสัญชาติอันร่วมกันของคู่กรณี ซึ่งได้แก่กฎหมายของสหรัฐอเมริกา แต่ไม่มีฝ่ายใดนำสืบว่ากฎหมายของสหรัฐอเมริกาในเรื่องนี้มีอยู่อย่างไร กรณีจึงต้องบังคับตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พุทธศักราช 2481 มาตรา 8 คือให้ใช้กฎหมายภายในของประเทศไทย ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์ในข้อนี้ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
โจทก์อุทธรณ์ต่อไปว่า โจทก์ได้รับเงินเดือนเดือนละ 63,296 บาท เบี้ยเลี้ยงชีพเดือนละ 31,050 บาท แต่ศาลแรงงานกลางมิได้นำเบี้ยเลี้ยงชีพซึ่งถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของค่าจ้างมาเป็นฐานคำนวณค่าชดเชย ค่าชดเชยและดอกเบี้ยตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลางจึงไม่ถูกต้อง พิเคราะห์แล้วเห็นว่า เบี้ยเลี้ยงชีพที่จำเลยที่ 1 จ่ายให้โจทก์มีจำนวนแน่นอน จ่ายให้เป็นประจำเป็นรายเดือนเช่นเดียวกับเงินเดือน จึงเป็นเรื่องที่จ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานในเวลาทำงานปกติของวันทำงาน ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของค่าจ้าง และต้องนำมารวมกับเงินเดือนเพื่อคำนวณค่าชดเชยด้วย เงินเดือนและเบี้ยเลี้ยงชีพที่จำเลยที่ 1 จ่ายให้โจทก์รวมกันเป็นเงินเดือนละ 94,346 บาท โจทก์ทำงานไม่ครบ 1 ปี มีสิทธิได้ค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้าง 1 เดือน เป็นเงิน 94,346 บาท ไม่ใช่ 63,296 บาท ตามคำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลาง อุทธรณ์โจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์นำสืบว่าจำเลยบอกเลิกจ้างในวันที่ 24 ธันวาคม 2524 และเลิกจ้างในวันนั้นพอนุมานได้ว่าโจทก์ฟ้องเรียกสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าก่อนการเลิกจ้างมาด้วย และพิพากษาให้จำเลยที่ 1ชำระสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเงิน 15,002 บาท 40 สตางค์ด้วยนั้นพิเคราะห์แล้วเห็นว่าตามคำฟ้องและคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ไม่ได้ขอให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวนนี้ เพียงแต่ได้ความว่าจำเลยบอกเลิกจ้างและเลิกจ้างในวันเดียวกันยังไม่พออนุมานได้ว่าโจทก์ฟ้องเรียกสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า คำพิพากษาของศาลแรงงานกลางในส่วนนี้จึงเกินคำขอของโจทก์ ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 52 จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องชำระเงินจำนวนนี้ให้โจทก์
อย่างไรก็ดี ศาลแรงงานกลางยังมิได้วินิจฉัยปัญหาเรื่องค่าเสียหายอย่างอื่นตามฟ้อง (นอกเหนือไปจากค่าชดเชย) ศาลฎีกาเห็นสมควรย้อนสำนวนให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยปัญหาข้อนี้เสียก่อน
พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลแรงงานกลางเป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้าง 30 วัน เป็นเงิน 94,346 บาทพร้อมทั้งดอกเบี้ยในเงินต้น 94,346 บาทในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จให้โจทก์โดยจำเลยที่ 1 ไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้โจทก์ และให้ยกคำพิพากษาศาลแรงงานกลางเฉพาะในประเด็นที่มิได้วินิจฉัยเรื่องค่าเสียหายอย่างอื่นตามฟ้อง (นอกเหนือไปจากค่าชดเชย) ให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยเฉพาะปัญหาข้อนี้แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปความ