คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3215/2552

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 เป็นผู้ขนส่ง จำเลยที่ 4 เกี่ยวข้องกับการขนส่งโดยทำหนังสือเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขเกี่ยวกับรูปแบบการขนส่งที่ท่าเรือปลายทาง กับรับค่าระวางและเจรจาเรื่องค่าเสียหายแทนจำเลยที่ 1 ไม่อาจถือได้ว่าจำเลยที่ 4 เป็นผู้ร่วมขนส่งกับจำเลยที่ 1 หรือผู้ขนส่งอื่น คงเป็นเพียงตัวแทนของผู้ขนส่งเกี่ยวกับการดำเนินการที่ท่าเรือปลายทางแทนผู้ขนส่งเท่านั้น
จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ขนส่งอื่นต่อสู้ว่า ผู้ส่งบรรจุสินค้าเข้าตู้สินค้าไม่ครบหรือสินค้าสูญหายไปในระหว่างการบรรจุสินค้าที่ท่าเรือต้นทาง เป็นการกล่าวอ้างเพื่อปฏิเสธความรับผิดตาม พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 52 (9) จำเลยที่ 2 จึงมีภาระการพิสูจน์ในข้อนี้
พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 58 จำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งไว้เพียง 10,000 บาท ต่อหนึ่งหน่วยการขนส่ง การระบุไว้ในใบตราส่งว่า มีสินค้าเครื่องรับโทรทัศน์จำนวน 510 ชุด หน่วยการขนส่งในการขนส่งครั้งนี้จึงหมายถึง 1 ชุด ของสินค้าเครื่องรับโทรทัศน์ เมื่อสินค้าสูญหายไป 50 ชุด ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องได้ คือ ไม่เกิน 500,000 บาท

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงิน 247,362.87 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 243,657.93 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ และขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ร่วมกันชำระเงิน 247,362.87 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 243,657.93 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 12,000 บาท ยกฟ้องจำเลยที่ 3 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 2 และที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 2 และที่ 4 ร่วมกันใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 5,000 บาท แทนโจทก์
จำเลยที่ 2 และที่ 4 ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นนี้รับฟังได้ว่า บริษัทซันคัลเลอร์ จำกัด ผู้ซื้อ สั่งซื้อเครื่องรับโทรทัศน์สีจากบริษัทอเมเจอร์ โฟโต้ สโตร์ พีทีอี จำกัด ผู้ขาย ที่ประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์ จำนวน 510 เครื่อง ผู้ขายว่าจ้างจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขนส่งเพื่อขนสินค้าดังกล่าวทางทะเลจากประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์มายังประเทศไทย ในรูปแบบการขนส่ง แบบสิงคโปร์ ซีวาย กรุงเทพ ซีวาย ในชื่อ “ACTLINK CONTAINER LINES” และระบุชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขนส่ง ผู้ขายเป็นผู้ส่งและผู้ซื้อเป็นผู้ได้รับแจ้งการมาถึงของเรือ จากนั้นจำเลยที่ 1 ได้ว่าจ้างให้ผู้ขนส่งอื่นทำการขนส่งสินค้าให้แทน ซึ่งผู้ขนส่งอื่นก็ได้ตกลงรับขนสินค้าให้และออกใบตราส่งให้แก่จำเลยที่ 1 ระบุชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ส่ง ใบตราส่งที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งครั้งนี้ทุกใบต่างก็ระบุถึงสินค้าไว้ว่า 510 ชุด และระบุหมายเลขตู้สินค้าและหมายเลขตรงตราผนึกไว้ตรงกัน คือ ตู้สินค้า หมายเลข อาร์ อี จี ยู 4936300 ดวงตราผนึก หมายเลข 113008 เส้นทางที่ใช้ขนส่ง คือ จากท่าเรือสิงคโปร์มายังท่าเรือกรุงเทพ เรือที่ใช้ในการขนส่งสินค้าคือเรือปิยะภูมิซึ่งเป็นของจำเลยที่ 2 เรือปิยะภูมิเดินทางถึงท่าเรือกรุงเทพเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2538 ก่อนหน้านั้น ในวันที่ 23 มิถุนายน 2538 จำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นตัวแทนเรือของจำเลยที่ 1 ผู้ขนส่งกับจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นตัวแทนเรือของผู้ขนส่งอื่นทำหนังสือเพื่อเปลี่ยนเงื่อนไขในการขนส่งที่ท่าเรือปลายทาง จากรูปแบบการขนส่ง แบบ ซีวาย หรือ เอฟ ซี แอล เป็นแบบ แอล ซี แอล เมื่อเรือปิยะภูมิเดินทางถึงท่าเรือกรุงเทพแล้วได้มีการยกตู้สินค้าบรรจุสินค้าขึ้นจากเรือวางไว้ที่หน้าท่าเรือในวันเดียวกัน ต่อมาวันที่ 26 มิถุนายน 2538 จึงได้มีการเปิดตู้สินค้า เพื่อนำสินค้าเข้าเก็บรักษาในโกดังของการท่าเรือแห่งประเทศไทย มีผู้เกี่ยวข้อง คือ ตัวแทนเรือ และเจ้าหน้าที่การท่าเรือแห่งประเทศไทย ปรากฏว่าหมายเลขตู้สินค้าในขณะนั้นคือหมายเลข อาร์ อี จี ยู 4936300 แต่ดวงตราผนึก ไม่ใช่หมายเลข 113008 กลับกลายเป็นหมายเลข 817334 และสินค้าเครื่องรับโทรทัศน์สีขนาด 14 นิ้ว ขาดหายไปจำนวน 50 เครื่อง จำเลยที่ 4 ได้ทำหน้าที่รับชำระค่าระวางเรือและเจรจาเรื่องค่าเสียหายแทนจำเลยที่ 1 ด้วย ส่วนโจทก์เป็นผู้รับประกันภัยความเสียหายสูญหายของสินค้าไว้จากผู้ส่งและได้ชดใช้ค่าเสียหายจากการที่สินค้าสูญหายให้แก่ผู้ส่งไปแล้ว…
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 4 ว่า จำเลยที่ 4 เป็นผู้ร่วมขนส่งกับจำเลยที่ 1 หรือไม่ เห็นว่า โจทก์ไม่มีหลักฐานใดที่นำสืบพิสูจน์ได้ว่า นอกจากการที่จำเลยที่ 4 เข้ามาเกี่ยวข้องกับการขนส่งในครั้งพิพาทนี้ด้วยการทำหน้าที่แทนจำเลยที่ 1 ในการทำหนังสือกับจำเลยที่ 3 เพื่อเปลี่ยนเงื่อนไขในการขนส่งที่ท่าเรือปลายทางจากรูปแบบการขนส่ง แบบ ซีวาย/ซีวาย เป็นระบบ แอล ซี แอล กับรับค่าระวางและเจรจาเรื่องค่าเสียหายแทนแล้ว จำเลยที่ 4 ได้ทำหน้าที่อื่นที่เกี่ยวกับการขนส่งสินค้าครั้งพิพาทอย่างไร ลำพังการดำเนินการดังกล่าวของจำเลยที่ 4 นั้น คงเข้าลักษณะเพียงตัวแทนของผู้ขนส่งที่เกี่ยวกับการดำเนินการที่ท่าเรือปลายทางแทนผู้ขนส่งเท่านั้น ไม่อาจถือได้ว่าจำเลยที่ 4 เป็นผู้ร่วมขนส่งกับจำเลยที่ 1 หรือผู้ขนส่งอื่น ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าพฤติการณ์ดังกล่าวฟังได้ว่าจำเลยที่ 4 เป็นผู้ร่วมขนส่งกับจำเลยที่ 1 นั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 4 ฟังขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า สินค้าได้รับความเสียหายระหว่างการขนส่งหรือไม่ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าพยานหลักฐานในคดีมีน้ำหนักให้น่าเชื่อได้ว่าสินค้าได้สูญหายไปในระหว่างการขนส่งในช่วงที่มีการนำดวงตราผนึกตู้หมายเลข 113008 ออกไป ก่อนมีการผนึกดวงตราตู้สินค้าใหม่เป็นหมายเลข 817334 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สินค้ายังอยู่ในความดูแลของผู้ขนส่งและผู้ขนส่งอื่น ส่วนที่จำเลยที่ 2 ต่อสู้ว่าผู้ส่งบรรจุสินค้าเข้าตู้สินค้าไม่ครบหรือสินค้าสูญหายไปในระหว่างบรรจุสินค้าที่ท่าเรือต้นทางนั้น เป็นเรื่องที่ผู้ขนส่งหรือผู้ขนส่งอื่นกล่าวอ้างเพื่อปฏิเสธความรับผิดตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 52 (9) จำเลยที่ 2 จึงมีภาระการพิสูจน์ให้ได้ความดังกล่าว ดังนั้น เมื่อข้อต่อสู้ดังกล่าวเป็นเพียงการกล่าวอ้างลอย ๆ โดยไม่มีพยานหลักฐานใดที่จะพิสูจน์ให้มีน้ำหนักรับฟังได้เช่นนั้นข้อต่อสู้ดังกล่าวจึงฟังไม่ขึ้น ฎีกาของจำเลยที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ประการสุดท้ายว่า จำเลยที่ 2 จะจำกัดความรับผิดได้เพียงใด ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ได้มีการระบุสินค้าไว้ในใบตราส่งมีสินค้าจำนวน 510 ชุด หน่วยการขนส่งในการขนส่งครั้งนี้จึงหมายถึง 1 ชุด ของสินค้าเครื่องรับโทรทัศน์ ตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 58 นั้น ผู้ขนส่งจำกัดความรับผิดได้ 10,000 บาท ต่อหนึ่งหน่วยการขนส่ง เมื่อสินค้าสูญหายไป 50 ชุด เท่ากับว่าค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องได้ คือ ไม่เกิน 500,000 บาท เมื่อโจทก์ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้รับประโยชน์ตามสัญญาประกันภัยไปเพียง 243,657.93 บาท แล้วเข้ารับช่วงสิทธิในการเรียกร้องค่าเสียหายจำนวนดังกล่าว ซึ่งไม่เกินวงเงิน 500,000 บาท ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 รับผิดในเงินจำนวน 243,657.93 บาท พร้อมดอกเบี้ย จึงชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 2 ที่ว่าต้องรับผิดเพียงไม่เกิน 19,500 บาท หรือ 10,000 บาท จึงฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 4 เสียด้วย ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นนี้กับค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 4 ในศาลล่างทั้งสองให้เป็นพับ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share