แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์ และ ล. ได้รับมรดกตามพินัยกรรมเป็นที่ดิน 1 แปลงโดยลงชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดร่วมกัน ต่อมาโจทก์และ ล.ได้ขอแบ่งแยกที่ดินดังกล่าวออกไป 2 โฉนด โดยขอแบ่งแยกตามส่วนที่แต่ละคนครอบครอง แต่มีการระบุชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินสลับกันกรณี เช่นนี้ต้องถือว่าแต่ละฝ่ายมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินในส่วนที่ตนครอบครองอย่างเป็นเจ้าของจริง ๆ ตลอดมา และมีสิทธิขอแก้ไขชื่อในโฉนดให้ตรงตามความจริงได้.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า นางละม่อม ภู่ช้าง เป็นพี่สาวร่วมบิดามารดาเดียวกันกับโจทก์ จำเลยที่ 1 เป็นบุตรสาวของนางละม่อมและเป็นมารดาของจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 นางสาวเจียก เหมเกิดเป็นน้าของโจทก์และนางละม่อม นางสาวเจียกเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 1097 ตำบลบางแวก (บางเชือกหนังฝั่งใต้) อำเภอภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร นางสาวเจียกได้แบ่งให้โจทก์และนางละม่อมทำกิน โดยแบ่งให้นางละม่อมเข้าครอบครองทำกินปลูกต้นไม้ปลูกบ้านอยู่อาศัยทางด้านทิศเหนือซึ่งติดคลองบางเชือกหนัง และแบ่งให้โจทก์ครอบครองทำกิน ปลูกผลไม้ทั้งยืนต้นและล้มลุกตลอดจนพืชผักสวนครัว ถัดจากที่ยกให้นางละม่อมไปทางทิศใต้ซึ่งอยู่ติดทางหลวงนับตั้งแต่นางสาวเจียกแบ่งที่ดินให้นางละม่อมและลูก ๆ ได้เข้าครอบครองปลูกเรือนอยู่อาศัย 3 หลัง เรือนครัว 1 หลัง กับปลูกต้นไม้ยืนต้นและพืชผักสวนครัวตลอดมาจนถึงปัจจุบัน ส่วนโจทก์และลูก ๆก็ได้เข้าครอบครองที่ดินส่วนทางด้านทิศใต้ถัดจากของนางละม่อมไปจนจดทางหลวงโดยปลูกไม้ยืนต้นต่าง ๆ และพืชผักสวนครัวจนกระทั่งถึงปัจจุบันเช่นกัน โจทก์กับนางละม่อมได้ครอบครองที่ดินในลักษณะดังกล่าวมาหลายสิบปีนางสาวเจียกก็ถึงแก่ความตาย ก่อนถึงแก่ความตาย นางสาวเจียกได้ทำพินัยกรรมที่อำเภอภาษีเจริญ ยกที่ดินโฉนดเลขที่ 1097 ให้นางละม่อมได้ส่วนทางทิศเหนือติดกับครองบางเชือกหนัง และให้โจทก์ได้ส่วนทางด้านทิศใต้ติดกับทางหลวงตามลักษณะการครอบครองของทั้งสองฝ่าย เจ้าพนักงานที่ดินได้จดใส่ชื่อนางละม่อมและโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดดังกล่าวร่วมกันโจทก์กับนางละม่อมได้ยื่นคำร้องขอแบ่งแยกโฉนดที่ดินตามที่แต่ละฝ่ายครอบครองอยู่ เจ้าพนักงานที่ดินได้รังวัดแล้วแบ่งแยกที่ดินโฉนดดังกล่าวออกเป็นสองแปลงคือโฉนดเลขที่ 1097 และโฉนดเลขที่ 38466เฉพาะที่ดินตามโฉนดเลขที่ 1097 ส่วนที่คงเหลืออยู่ในโฉนดเดิมโจทก์เป็นผู้ครอบครอง ส่วนที่ดินตามโฉนดเลขที่ 38466 ซึ่งแยกออกมาใหม่นางละม่อมเป็นผู้ครอบครอง เมื่อแบ่งแยกโฉนดเสร็จแล้วเจ้าพนักงานที่ดินได้ให้นางละม่อมและโจทก์จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมแต่เจ้าพนักงานที่ดินจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์และนางละม่อมสลับโฉนดกับ คือนางละม่อมผู้ได้รับการยกให้และครอบครองที่ดินโฉนดเลขที่38466 กลับได้รับการใส่ชื่อในโฉนดเลขที่ 1097 ผิดไปจากความเป็นจริงและแทนที่จะใส่ชื่อโจทก์ในโฉนดเลขที่ 1097 ตามที่โจทก์ได้รับการยกให้และครอบครองอยู่กลับถูกใส่ชื่อไว้ในโฉนดเลขที่ 38466ต่อมาเจ้าพนักงานรายได้เขตภาษีเจริญได้เรียกโจทก์และนางละม่อมให้นำโฉนดที่ดินไปประเมินเสียภาษีบำรุงท้องที่ใหม่ นางละม่อมกับโจทก์เพิ่งทราบความจริงในครั้งนั้นว่า โฉนดที่ดินของแต่ละฝ่ายมีชื่อในโฉนดสลับกันอยู่โจทก์กับนางละม่อมจึงตกลงกันไปที่สำนักงานที่ดินเพื่อจะจดทะเบียนแลกเปลี่ยนโฉนดกันให้ถูกต้องตามความเป็นจริง แต่การจดทะเบียนแลกเปลี่ยนจะต้องเสียค่าธรรมเนียม นางละม่อมและโจทก์จึงตกลงผัดไปจดทะเบียนแลกเปลี่ยนกันในวันหลังเพื่อจะได้เตรียมเงินค่าธรรมเนียมไปชำระให้ถูกต้องเมื่อถึงกำหนดนัดนางละม่อมอ้างว่าได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 1097 ใส่ชื่อจำเลยที่ 1 ไปแล้ว จึงจดทะเบียนแลกเปลี่ยนกันไม่ได้ ต่อมาโจทก์กับนางละม่อมและจำเลยที่ 1ตกลงกันเพื่อที่จะไปจดทะเบียนแลกเปลี่ยนโฉนดกันให้ถูกต้องแต่เมื่อวันนัดจำเลยที่ 1 กลับปฏิเสธไม่ยอมไปโอน ครั้นวันที่ 31 มกราคม2529 จำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนโอนใส่ชื่อจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4และที่ 5 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกันในโฉนดเลขที่ 1097 ต่อมานางละม่อมถึงแก่ความตายโจทก์ขอให้จำเลยทั้งห้าจดทะเบียนแลกเปลี่ยนโฉนดกันเสียให้ถูกต้อง แต่จำเลยทั้งห้าก็ไม่ยอมดำเนินการให้ ขอให้ศาลสั่งแก้ทะเบียนที่ดินให้เป็นไปตามกรรมสิทธิ์ที่แท้จริงคือให้จำเลยทั้งห้าใส่ชื่อโจทก์ในโฉนดเลขที่ 1097 ตำบลบางแวก(บางเชือกหนังฝั่งใต้) อำเภอภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร และใส่ชื่อจำเลยทั้งห้าในโฉนดเลขที่ 38466 ตำบลบางแวก อำเภอภาษีเจริญกรุงเทพมหานคร หากจำเลยทั้งห้าไม่ไปดำเนินการก็ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งห้าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ให้การทำนองเดียวกันว่า นางสาวเจียกทำพินัยกรรมยกที่ดินโฉนดเลขที่ 1097 ให้แก่โจทก์และนางละม่อมโดยมิได้ระบุว่าที่ดินทางด้านทิศไหนเป็นของใคร ที่โจทก์กล่าวอ้างว่านางสาวเจียกได้แบ่งที่ดินทางด้านทิศเหนือให้เป็นสิทธิของนางละม่อม ส่วนที่ดินด้านทิศใต้ให้เป็นสิทธิของโจทก์นั้นไม่เป็นความจริง เมื่อนางสาวเจียกถึงแก่ความตาย โจทก์และนางละม่อมนำพินัยกรรมของนางสาวเจียกไปจดทะเบียนรับมรดกใส่ชื่อโจทก์กับนางละม่อมไว้ในฐานะผู้รับมรดกที่ดินโฉนดเลขที่ 1097ต่อมาโจทก์และนางละม่อมได้แบ่งแยกที่ดินโฉนดดังกล่าวออกเป็น2 แปลง แปลงหนึ่งเป็นโฉนดเลขที่ 1097 ซึ่งเป็นที่ดินทางด้านทิศใต้ใส่ชื่อนางละม่อม และอีกแปลงหนึ่งเป็นโฉนดเลขที่ 38466 ซึ่งเป็นที่ดินทางด้านทิศเหนือใส่ชื่อโจทก์ตามที่โจทก์กับนางละม่อมตกลงกัน ที่โจทก์กล่าวอ้างว่าได้มีการจดทะเบียนใส่ชื่อสลับกันไม่เป็นความจริง เพราะก่อนที่โจทก์กับนางละม่อมจะรับโฉนดมามาเจ้าพนักงานที่ดินได้สอบถามโจทก์และนางละม่อมถึงความถูกต้องแล้ว หากเจ้าพนักงานที่ดินจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์กับนางละม่อมสลับกัน โจทก์น่าจะคัดค้านและให้เจ้าพนักงานที่ดินแก้ไขชื่อในโฉนดให้ถูกต้องเสียในขณะนั้น แต่โจทก์ก็มิได้กระทำ ต่อมานางละม่อมได้ยกที่ดินโฉนดเลขที่ 1097 ให้แก่จำเลยที่ 1 แล้วนางละม่อมกับจำเลยที่ 1 พร้อมด้วยนายชอบสามีของจำเลยที่ 1และเป็นบิดาของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ก็ยังคงอาศัยอยู่ที่บ้านเลขที่ 8 หมู่ที่ 9 ตำบลบางแวก อำเภอภาษีเจริญ กรุงเทพมหานครซึ่งเป็นบ้านของนางสาวเจียกปลูกอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 38466อันเป็นที่ดินของโจทก์ที่แบ่งแยกออกมาจากโฉนดเลขที่ 1097และนางละม่อมได้ปลูกบ้านอีกหลังหนึ่งบนที่ดินโฉนดเลขที่ 38466ของโจทก์ด้วย เหตุที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ยังคงอยู่ในที่ดินโฉนดเลขที่ 38466 เพราะยังไม่มีค่าขนย้ายและค่าปลูกบ้านใหม่และโจทก์ยินยอม นับแต่นางละม่อมยกที่ดินโฉนดเลขที่ 1097 ให้แก่จำเลยที่ 1 ฝ่ายจำเลยที่ 1 ได้เสียภาษีที่ดินตามโฉนดเลขที่ 1097ตลอดมาทุกปี เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2529 จำเลยที่ 1 ได้แบ่งที่ดินโฉนดเลขที่ 1097 ให้แก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 โดยจดทะเบียนให้เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ร่วม โจทก์ไม่ได้โต้แย้งคัดค้านแต่ประการใดปัจจุบันมีการขยายถนนทางหลวงผ่านที่ดินโฉนดเลขที่ 1097 ทำให้ที่ดินแปลงดังกล่าวมีราคาสูงขึ้นและสูงกว่าที่ดินโฉนดเลขที่38466 ของโจทก์ ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้ให้นายชอบไปยื่นคำร้องต่อศาลคดีเด็กและเยาวชนกลางขอแบ่งแยกที่ดินแทนจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5บุตรผู้เยาว์ โจทก์ทราบเรื่องแต่ก็ไม่ได้คัดค้าน ศาลคดีเด็กและเยาวชนกลางมีคำสั่งอนุญาตให้แบ่งแยกที่ดินได้ ที่โจทก์อ้างว่าได้แจ้งให้นางละม่อมไปขอแก้ชื่อในโฉนดที่ดินเพราะชื่อไม่ตรงกันไม่เป็นความจริง และโจทก์มิได้แจ้งให้จำเลยทั้งห้าทราบในเรื่องที่ขอแก้ชื่อในโฉนดทั้งสองฉบับ โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องคดีเพราะสิทธิเรียกร้องติดตามเอาทรัพย์คืนโฉนดเลขที่ 1097ขาดอายุความ 10 ปี นับแต่ปี 2517 ซึ่งเป็นเวลาที่โจทก์ได้รับโฉนดเลขที่ 38466 และโจทก์ทราบดีอยู่แล้วมิได้ทักท้วง นอกจากนั้นโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ซึ่งเป็นผู้เยาว์ที่ศาลแพ่งธนบุรี โจทก์จะต้องฟ้องที่ศาลคดีเด็กและเยาวชนกลางขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งห้าแก้ทะเบียนที่ดินใส่ชื่อโจทก์ในโฉนดเลขที่ 1097 แขวงบางแวก (บางเชือกหนังฝั่งใต้)เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร และใส่ชื่อจำเลยทั้งห้าในโฉนดเลขที่ 38466 แขวงบางแวก เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานครหากจำเลยทั้งห้าไม่ไปแก้ทะเบียนดังกล่าวให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งห้า
จำเลยทั้งห้าอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งห้าฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงได้ความตามที่คู่ความนำสืบรับกันว่าที่ดินที่พิพาททั้งสองแปลงคือที่ดินโฉนดเลขที่1097 และ 38466 ตำบลบางแวก อำเภอภาษีเจริญ กรุงเทพมหานครเดิมเป็นที่ดินแปลงเดียวกันรวมอยู่ในโฉนดเลขที่ 1097 ซึ่งเป็นของนางสาวเจียกหรือลำเจียกน้าของโจทก์และนางละม่อมมารดาจำเลยที่ 1 นางสาวเจียกทำพินัยกรรมยกที่ดินแปลงดังกล่าวให้โจทก์และนางละม่อม เมื่อนางสาวเจียกถึงแก่ความตายแล้ว โจทก์และนางละม่อมได้รับมรดกตามพินัยกรรมโดยลงชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดเดิมร่วมกัน ต่อมาเมื่อปี 2517 โจทก์และนางละม่อมได้ขอแบ่งแยกที่ดินออกเป็น 2 โฉนด คือโฉนดเลขที่ 38466 เป็นที่ดินทางด้านทิศเหนือใส่ชื่อโจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ ส่วนที่ดินที่เหลือทางทิศใต้อยู่ในโฉนดเลขที่ 1097 มีชื่อนางละม่อมเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ตั้งแต่นางสาวเจียกยังมีชีวิตอยู่ นางละม่อมอยู่บ้านเดียวกับนางสาวเจียกซึ่งอยู่ในที่ดินทางด้านทิศเหนือส่วนโจทก์ปลูกต้นไม้ทั้งพืชยืนต้นและล้มลุกอยู่ในที่ดินทางด้านทิศใต้ เมื่อนางสาวเจียกถึงแก่ความตาย นางละม่อมก็คงอยู่บ้านตรงที่เดิมและเมื่อนางละม่อมถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ก็คงอยู่ในที่ดินทางด้านทิศเหนือ และโจทก์ครอบครองที่ดินอยู่ทางทิศใต้ตลอดมา…ปัญหาตามฎีกาของจำเลยทั้งห้าที่ว่า โฉนดที่ดินระบุชื่อถูกต้องแล้วนั้นศาลฎีกาได้พิจารณาถึงข้อเท็จจริงที่ยุติว่า ตั้งแต่นางละม่อมมารดาจำเลยที่ 1 ยังมีชีวิตและเมื่อนางละม่อมถึงแก่ความตาย จำเลยทั้งห้าก็ปลูกบ้านอาศัยอยู่ในที่ดินทางด้านทิศเหนือที่ติดคลองตลอดมา ส่วนโจทก์คงครอบครองทำประโยชน์อยู่ในที่ดินทางด้านทิศใต้ตลอดมาเช่นกันกรณีเช่นนี้ไม่มีเหตุที่โจทก์และนางละม่อมจะแบ่งแยกที่ดินกันโดยโจทก์จะไปเอาที่ดินทางด้านที่นางละม่อมปลูกบ้านอยู่และนางละม่อมกลับมาเอาที่ดินทางด้านที่โจทก์ครอบครอง ทำให้เกิดความยุ่งยากวุ่นวายในการที่จะต้องรื้อบ้านเรือนที่อยู่อาศัยมาแต่ดั้งเดิม ข้อเท็จจริงเห็นได้โดยสภาพปกติธรรมดาว่า จะต้องแบ่งแยกที่ดินกันตามทิศทางที่แต่ละคนครอบครองการที่โฉนดที่แบ่งแยกออกมาสลับชื่อในการถือกรรมสิทธิ์กันนั้นก็เป็นสิ่งธรรมดาที่จะเกิดขึ้นได้ ในกรณีของโจทก์และนางละม่อมนั้น เมื่อพฤติการณ์ในการครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินทั้งก่อนและหลังจากมีการแบ่งโฉนดกันมาแล้วแต่ละฝ่ายก็ทำประโยชน์ในที่ดินที่แต่ละฝ่ายครอบครองมาแต่เดิม จึงเชื่อได้ว่ามีการระบุชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินสลับกันจริง กรณีเช่นนี้ต้องถือว่าแต่ละฝ่ายมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินในส่วนที่ตนครอบครองอย่างเจ้าของจริง ๆตลอดมา และมีสิทธิที่ขอแก้ไขชื่อในโฉนดให้ตรงตามความจริงได้”
พิพากษายืน.