แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยที่ 1 ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ออกไป 7 วัน ครั้นถึงวันครบกำหนดยื่นอุทธรณ์ ทนายจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอถอนตัวจากการเป็นทนาย และจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ออกไปอีก 10 วัน อ้างว่าทนายจำเลยที่ 1 ถอนตัว ไม่อาจหาทนายใหม่ได้ทัน เป็นพฤติการณ์ที่ส่อไปในทางประวิงคดี ถือไม่ได้ว่าเป็นพฤติการณ์พิเศษที่ศาลจะอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์
ย่อยาว
คดีนี้สืบเนื่องจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยทั้งสองเด็ดขาด ครบกำหนดยื่นอุทธรณ์วันที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๓๑ ในวันดังกล่าวทนายจำเลยที่ ๑ ยื่นคำร้องว่า จำเลยที่ ๑ เพิ่งได้รับสำเนาคำสั่งเมื่อวันที่ ๒๑ มกราคม ๒๕๓๑ คดีนี้เป็นคดีที่มีข้อยุ่งยากข้อเท็จจริงมากเพราะมีเอกสารจำนวนมาก ทนายจำเลยที่ ๑ ทำอุทธรณ์ไม่ทันภายในกำหนด ขอให้ศาลชั้นต้นขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ต่อไป๗ วัน ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ถึงวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๑
ต่อมาวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๑ ทนายจำเลยที่ ๑ ยื่นคำร้องขอถอนตัวจากการเป็นทนายจำเลยที่ ๑ ศาลชั้นต้นอนุญาต ในวันเดียวกันจำเลยที่ ๑ ยื่นคำร้องอ้างว่าทนายจำเลยที่ ๑ ได้ถอนตัวจากการเป็นทนายให้จำเลยที่ ๑ ในวันนั้น ไม่อาจหาทนายใหม่ได้ทัน จึงขอให้ศาลสั่งขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ต่อไปอีก ๑๐ วัน
ศาลชั้นต้นสั่งว่า เป็นเรื่องที่จำเลยที่ ๑ กับทนายมีความเห็นขัดแย้งกันจนทนายจำเลยที่ ๑ ขอถอนตัว ถือไม่ได้ว่ามีพฤติการณ์พิเศษที่จะขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ได้อีก ให้ยกคำร้อง
จำเลยที่ ๑ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ ๑ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า หากจำเลยที่ ๑ มีความคิดเห็นขัดแย้งกับทนายจำเลยที่ ๑ จริง ก็น่าจะแต่งตั้งทนายความอื่นให้ทำอุทธรณ์ยื่นให้ทันกำหนดเวลา โดยไม่ต้องรอให้ถึงวันสุดท้าย หรือรอให้ทนายจำเลยที่ ๑ ถอนตัวเสียก่อน การที่ทนายจำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๑ มีเวลาพอที่จะดำเนินการยื่นอุทธรณ์ตามกำหนดเวลาได้ แต่มิได้ดำเนินการกลับมายื่นคำร้องขอถอนตัวและขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ในวันครบกำหนดระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นขยายให้ โดยอ้างว่ามีความคิดเห็นขัดแย้งกันนั้น เป็นพฤติการณ์ที่ส่อไปในทางประวิงคดี ไม่มีเหตุผลให้เชื่อว่ามีความคิดเห็นขัดแย้งกัน ถือไม่ได้ว่าเป็นพฤติการณ์พิเศษอันจะเป็นเหตุให้ศาลมีอำนาจขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ให้จำเลยที่ ๑ ได้ตามนัยแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๓ และพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๑๕๓ ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยชอบแล้ว
พิพากษายืน.