แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยร้องขอให้ตั้งตนเป็นผู้จัดการของเจ้ามรดกเพราะเจ้ามรดกเป็นหนี้ผู้อื่น ต้องขายทรัพย์มรดกชำระหนี้ ศาลได้ตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกแล้ว เมื่อปรากฏว่าเจ้ามรดกมิได้เป็นหนี้ผู้อื่นกรณีจึงมีเหตุสมควรที่ศาลจะสั่งถอนจำเลยจากการเป็นผู้จัดการมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1727
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์และจำเลยเป็นบุตรนายบุตร์ นางเปล่งเจ้ามรดกทั้งสอง จำเลยร้องขอต่อศาลให้ตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกอ้างว่าเจ้ามรดกกู้ยืมเงินจากผู้อื่น ซึ่งไม่เป็นความจริงจำเลยไม่สมควรเป็นผู้จัดการมรดก ขอให้ถอนจากการเป็นผู้จัดการมรดกจำเลยให้การว่าเจ้ามรดกกู้ยืมเงินจากผู้อื่น ซึ่งจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกได้ออกเงินทดรองชำระหนี้ไปแล้ว ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “จำเลยอ้างว่าเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์2516 เจ้ามรดกทั้งสองได้กู้ยืมเงินนางประชุม ยามสุข เป็นเงิน25,000 บาท และเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2517 นางเปล่งเจ้ามรดกได้กู้ยืมเงินนายทอง อวยพร เป็นเงิน 5,000 บาท ปรากฏตามสำเนาภาพถ่ายหนังสือกู้ยืมเงินเอกสารหมาย ล.1 และ ล.2 ในสำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 775/2527 ของศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยาระหว่าง นางปราณี ฤกษ์แสงศรี โจทก์ นางเลี่ยม อยู่อาศรมจำเลย โจทก์ขอให้ผู้เชี่ยวชาญ กองพิสูจน์หลักฐาน กรมตำรวจตรวจพิสูจน์ลายมือชื่อและลายพิมพ์นิ้วมือในช่องผู้กู้ในหนังสือสัญญากู้ยืมเงินทั้งสองฉบับ ครั้งแรกทนายจำเลยแถลงว่า ต้นฉบับอาจอยู่ที่จำเลยจะให้จำเลยนำมาส่งศาล ต่อมาได้แถลงว่าได้ทำลายต้นฉบับไปแล้วขอส่งสำเนาภาพถ่ายหนังสือสัญญากู้ยืมเงินฉบับแรกต่อศาล คู่ความตกลงท้ากันว่า ถ้าผู้เชี่ยวชาญพิสูจน์แล้วมีความเห็นว่า ลายมือชื่อในช่องผู้กู้เป็นลายมือชื่อของนายบุตร์เจ้ามรดกโจทก์ยอมแพ้คดี ถ้ามิใช่ลายมือชื่อของนายบุตร์เจ้ามรดกจำเลยยอมแพ้คดี ปรากฏว่าผู้เชี่ยวชาญไม่สามารถตรวจพิสูจน์ได้เพราะหนังสือสัญญากู้ยืมเงินที่ส่งไปให้พิสูจน์เป็นสำเนาภาพถ่ายมิใช่ต้นฉบับ นางประชุมเป็นญาติของสามีจำเลยและอยู่ที่กรุงเทพมหานครแต่ปรากฏตามสำเนาภาพถ่ายหนังสือสัญญากู้ยืมเงินที่จำเลยอ้างนางประชุมนำเงินมาให้เจ้ามรดกทั้งสองกู้ยืมที่บ้านเลขที่ 6หมู่ 4 ตำบลจรเข้ อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา คดีเป็นที่น่าสงสัยว่า ถ้าเจ้ามรดกทั้งสองกู้ยืมเงินจากนางประชุมจริงก็น่าจะไปขอกู้ที่บ้านผู้ให้กู้ ในเรื่องนี้จำเลยก็มิได้แสดงให้เห็นว่าเหตุใดนางประชุมจึงนำเงินมาให้เจ้ามรดกทั้งสองกู้ยืมถึงบ้านเจ้ามรดกทั้งสองและเจ้ามรดกทั้งสองมีความจำเป็นอย่างไรจึงต้องกู้ยืมเงินจากนางประชุมเป็นจำนวนมากเช่นนั้นศาลฎีกาเห็นว่า ขณะนั้นนายบุตร์เจ้ามรดกอายุเกือบ 84 ปีแล้วและอยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของนางปราณี ไม่น่าจะมีความจำเป็นต้องใช้เงินจำนวนมาก นอกจากนี้ยังได้ความจากคำนายจำปี ฤกษ์เสรีพยานโจทก์ซึ่งเป็นญาติสนิทของโจทก์จำเลยว่า นายบุตร์เจ้ามรดกป่วยเดินไปไหนไม่ได้เป็นเวลา 1 ปี ก่อนถึงแก่กรรมนายจำปีไปเยี่ยมหลายครั้ง ด้วยเหตุผลดังกล่าวศาลฎีกาไม่เชื่อว่า เจ้ามรดกทั้งสองได้กู้ยืมเงินจากนางประชุมและไม่เชื่อว่านางเปล่งเจ้ามรดกกู้ยืมเงินจากนายทองจริงดังที่จำเลยอ้าง จำเลยยื่นคำร้องขอต่อศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ขอให้ตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกทั้งสองก็เพื่อให้จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกมีอำนาจขายทรัพย์สินในกองมรดก โดยอ้างว่าจะนำเงินไปชำระหนี้ที่เจ้ามรดกทั้งสองกู้ยืมจากนางประชุมและนายทอง เมื่อปรากฏว่าเจ้ามรดกทั้งสองมิได้กู้ยืมเงินจากนางประชุมและนายทองกรณีถือได้ว่ามีเหตุที่สมควรที่ศาลจะสั่งถอนจำเลยจากการเป็นผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกทั้งสอง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1727 ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้ถอนจำเลยจากการเป็นผู้จัดการมรดก