คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3210/2522

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เดิมมีที่ดินแปลงใหญ่อยู่แปลงหนึ่ง เจ้าของได้แบ่งขายและแยกโฉนดไปเรื่อย ๆ จนเหลือที่ดินแปลงเดิมคือที่ดินแปลงหมายเลข 6 ซึ่งเป็นของจำเลย แม้ในขณะยื่นฟ้อง พ. มารดาโจทก์ยังมีชื่อเป็นเจ้าของที่ดินแปลงหมายเลข 108 และ 122 ซึ่งแบ่งแยกออกมาและอยู่ติดต่อกันแต่ที่ดินทั้งสองแปลงก็เป็นที่ดินคนละโฉนด จะถือว่าเป็นที่ดินแปลงเดียวกันไม่ได้ เมื่อที่ดินแปลงหมายเลข 122 ไม่มีทางออกไปสู่ทางสาธารณะนอกจากผ่านที่ดินแปลงหมายเลข 108 หรือแปลงหมายเลข 6ซึ่งเป็นที่ดินแปลงเดิมแล้ว โจทก์ก็มีสิทธิเรียกร้องให้เปิดทางจำเป็นบนที่ดินแปลงเดิมแปลงใดแปลงหนึ่งที่แบ่งแยกไปได้ตามความจำเป็นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1350

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนางพวงรัตน์มารดา เดิมขุนประมวลธุราธรมีที่ดิน 1 แปลง แต่ได้แบ่งโอนให้บุคคลต่าง ๆ แยกโฉนดเป็นแปลง คือแปลงหมายเลข 108 และ 122 โอนให้นางพวงรัตน์มารดาโจทก์ แปลงที่ 119 กับพวกแปลงเดิมคือหมายเลข 6 โอนให้จำเลยการแบ่งดังกล่าว ทำให้ที่ดินแปลงหมายเลข 122 ของนางพวงรัตน์ไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ นอกจากผ่านที่ดินแปลงหมายเลข 6 เจ้าของที่ดินเดิมจึงให้ทางเดินบนที่ดินแปลงหมายเลข 6 กว้าง 3 เมตร ยาว 50 เมตร นางพวงรัตน์ได้ใช้เดินออกจากที่ดินไปสู่ทางสาธารณะเกินกว่า 10 ปีแล้ว ทางเดินดังกล่าวจึงเป็นภารจำยอมด้วยต่อมาจำเลยปิดกั้น จึงขอให้บังคับจำเลยเปิดทางบนที่ดินแปลงหมายเลข 6

จำเลยให้การว่า ทางที่โจทก์อ้างไม่เคยเป็นทางเดินมาก่อนขุนประมวลธุราธรไม่เคยแบ่งไว้ในทางเดิน เจ้าของที่ดินแปลงหมายเลข 121,122 และ 108 ไม่เคยใช้ทางนี้ เมื่อที่ดินยังเป็นแปลงใหญ่อยู่ เจ้าของที่ดินเดิมใช้ทางเดินออกสู่ถนน ตรงมุมโฉนดที่ดินแปลงหมายเลข 108 โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องให้เปิดทางจำเป็น เพราะที่ดินแปลงหมายเลข 122 กับ 108 ของนางพวงรัตน์เป็นที่ดินที่ติดต่อกัน ที่ดินแปลง 108 มีทางออกสู่ถนนอยู่แล้วหากจะให้จำเลยเปิดทางชอบที่จะให้ชดใช้ค่าที่ดินแก่จำเลย

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยเปิดทางพิพาท

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า แม้ในขณะที่โจทก์ยื่นฟ้อง นางพวงรัตน์มารดาโจทก์ยังมีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงหมายเลข 108 และ 122 ซึ่งอยู่ติดต่อกันแต่ที่ดินทั้งสองแปลงก็เป็นที่ดินคนละโฉนด จึงจะถือว่าเป็นที่ดินแปลงเดียวกันไม่ได้ เมื่อที่ดินแปลงหมายเลข 122 ไม่มีทางออกไปสู่ทางสาธารณะนอกจากจะผ่านที่ดินแปลงหมายเลข 108 หรือแปลงหมายเลข 6 ซึ่งเป็นที่ดินแปลงเดิมแล้ว โจทก์ก็มีสิทธิเรียกร้องให้เปิดทางจำเป็นบนที่ดินแปลงเดิมแปลงใดแปลงหนึ่งที่แบ่งแยกไปได้ตามความจำเป็นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1350 โดยไม่ต้องเสียค่าทดแทน จำเลยไม่มีสิทธิที่จะปิดทางพิพาทซึ่งเป็นทางจำเป็นดังกล่าว

พิพากษายืน

Share