คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3208/2540

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาในคดีก่อนวินิจฉัยว่า ที่ดินพิพาทอยู่ในเขตที่ดินของโจทก์ดังนั้น ผลของคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวจึงผูกพันคู่ความในกระบวนพิจารณาของศาลที่พิพากษา นับแต่วันที่ได้พิพากษาจนถึงวันที่คำพิพากษานั้นได้ถูกเปลี่ยนแปลงแก้ไขกลับหรืองดเสียตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 ซึ่งตามคำให้การของจำเลยทั้งสามในคดีนี้ก็ไม่ปรากฏว่าหลังจากศาลฎีกาพิพากษาในคดีดังกล่าวแล้วจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้บอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือไปยังโจทก์ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 จะยึดถือครอบครองที่ดินพิพาทในฐานะเจ้าของต่อไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1381 และจำเลยที่ 3 ก็มิได้ให้การต่อสู้ว่าตนมีสิทธิดีกว่าโจทก์แต่ประการใด กรณีจึงต้องถือว่าจำเลยทั้งสามไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทดีไปกว่าโจทก์ คดีจึงสามารถวินิจฉัยชี้ขาดได้โดยไม่ต้องสืบพยานต่อไป การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งงดสืบพยานจึงชอบแล้ว แต่การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยทั้งสามส่งมอบโฉนดที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์เพื่อดำเนินการแบ่งแยกนั้นประมวลกฎหมายที่ดินฯ มาตรา 78 และกฎกระทรวง ฉบับที่ 7(พ.ศ. 2497) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดินฯ กำหนดไว้แล้วว่าจะต้องดำเนินการอย่างไร ซึ่งโจทก์สามารถนำคำพิพากษาไปดำเนินการตามขั้นตอนได้อยู่แล้วโดยไม่จำต้องอาศัยคำสั่งศาลให้จำเลยทั้งสามส่งมอบโฉนดที่ดินให้แต่อย่างใดจึงต้องยกคำขอในส่วนนี้ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้จำเลยทั้งสามมิได้ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยแก้ไขเสียให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5) ประกอบมาตรา 246และ 247

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 2491 ตำบลบ้านฆ้อง อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี ซึ่งอยู่ติดกับที่ดินโฉนดเลขที่ 2456 ของจำเลยทั้งสามซึ่งเป็นเจ้าของร่วมกันทางด้านทิศใต้ เมื่อปี 2519 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันเป็นโจทก์ฟ้องโจทก์เป็นจำเลยโดยอ้างว่า โจทก์ถือกรรมสิทธิ์เป็นเจ้าของบ่อน้ำและที่ดินในที่ดินของจำเลยโฉนดเลขที่ 2456 ทางทิศใต้ ส่วนที่มีอาณาเขตติดต่อกันเป็นเนื้อที่ประมาณ 1 ไร่ 2 งาน โจทก์ให้การต่อสู้ในคดีดังกล่าวว่า ที่ดินและบ่อน้ำอยู่ในที่ดินของโจทก์โฉนดเลขที่ 2491 โดยโจทก์ครอบครองสืบทอดมาจากมารดาและลุงกว่า 30 ปี ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า บ่อน้ำมีอยู่ในเขตที่ดินของโจทก์บ่อหนึ่งและในที่ดินของจำเลยก็มีบ่อน้ำอยู่ใกล้กับบ่อน้ำของโจทก์คือบ่อหมายเลข 5 และหมายเลข 4 ในแผนที่พิพาทเขตที่ดินโจทก์จำเลยจรดกันที่เส้นสีชมพูและสีม่วงในแผนที่พิพาท ที่ดินภายในเส้นสีฟ้าซึ่งถูกตัดโดยเส้นสีชมพูตามที่โจทก์จำเลยนำชี้ทับกันอยู่ในเขตที่ดินของจำเลย (โจทก์คดีนี้) แต่ไม่รับวินิจฉัยว่าจำเลยได้กรรมสิทธิ์ที่ดินภายในเส้นสีม่วงตามแผนที่พิพาทเพราะจำเลย (โจทก์คดีนี้) มิได้ฟ้องแย้ง พิพากษาว่าที่ดินนอกเส้นสีชมพูในแผนที่พิพาทเป็นของโจทก์ (จำเลยที่ 1 และที่ 2 คดีนี้) ห้ามจำเลยและบริวารเกี่ยวข้องต่อไป คดีถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1411/2525 คำพิพากษาดังกล่าวแสดงว่าที่ดินตามแผนที่พิพาทในเส้นสีชมพูและเส้นสีฟ้าตัดกันอยู่ในเขตครอบครองของโจทก์ และโจทก์ครอบครองทำประโยชน์โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ เมื่อปี 2535 โจทก์ยื่นคำขอรังวัดที่ดินโฉนดเลขที่ 2491 พร้อมที่ดินพิพาทเพื่อจะแบ่งแยกโฉนดที่ดิน แต่จำเลยที่ 2 คัดค้านอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินโฉนดเลขที่ 2456เจ้าพนักงานที่ดินจึงให้โจทก์ดำเนินคดีทางศาล ขอให้พิพากษาว่าที่ดินพิพาทตามสำเนาแผนที่ท้ายฟ้องเอกสารหมาย 2 ภายในเส้นสีฟ้าซึ่งถูกตัดโดยเส้นสีชมพูเนื้อที่ประมาณ3 งาน 43 ตารางวา เป็นส่วนหนึ่งของที่ดินจำเลยทั้งสามโฉนดเลขที่ 2456 ตำบลบ้านฆ้อง (ดีบอน) อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์โดยการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 ให้จำเลยทั้งสามส่งมอบโฉนดที่ดินและให้ความยินยอมแบ่งแยกที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสามไม่ยินยอมให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา

จำเลยทั้งสามให้การว่า ตั้งแต่ปี 2525 โจทก์มิได้แสดงเจตนาเข้าครอบครองที่ดินพิพาทในลักษณะยึดถือเพื่อตนหรือเข้าไปครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวเลยโจทก์ไม่ได้ฟ้องเอาคืนซึ่งการครอบครองภายใน 1 ปี นับแต่ถูกแย่งการครอบครอง โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งงดสืบพยานโจทก์จำเลยและพิพากษาให้จำเลยทั้งสามไปให้ความยินยอมแบ่งแยกที่ดินพิพาทภายในเส้นสีฟ้าซึ่งถูกตัดโดยเส้นสีชมพู(เครื่องหมายหลักเขต ข.67889, หมุด 11, ลม 17, ลม 19 และ ลม 15) ตามแผนที่พิพาทเอกสารหมาย จ.4 เนื้อที่ประมาณ 3 งาน 43 ตารางวา แก่โจทก์หากจำเลยทั้งสามไม่ไปถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสาม ให้จำเลยทั้งสามส่งมอบโฉนดที่ดินเลขที่ 2456 ตำบลบ้านฆ้อง (ดีบอน) อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี แก่โจทก์เพื่อดำเนินการแบ่งแยกที่ดินพิพาทดังกล่าว คำขอนอกจากนี้ให้ยก

จำเลยทั้งสามอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน

จำเลยทั้งสามฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 เคยฟ้องโจทก์เกี่ยวกับที่ดินพิพาทมาแล้ว และคดีถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1411/2525 เอกสารหมาย จ.3 ว่า เขตที่ดินโฉนดเลขที่ 2491ของโจทก์ และเขตที่ดินโฉนดเลขที่ 2456 ของจำเลยทั้งสามตามแผนที่เอกสารหมายจ.4 จรดกันที่เส้นสีชมพูและสีม่วงในรูปแผนที่ และที่ดินภายในเส้นสีฟ้าซึ่งถูกตัดโดยเส้นสีชมพูอยู่ในเขตที่ดินของโจทก์ คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยทั้งสามฎีกาข้อแรกว่า คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้งดสืบพยานเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่เห็นว่า ตามคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวข้อเท็จจริงฟังได้ชัดว่า ที่ดินพิพาทอยู่ในเขตที่ดินของโจทก์ ดังนั้น ผลของคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวจึงผูกพันคู่ความในกระบวนพิจารณาของศาลที่พิพากษานับแต่วันที่ได้พิพากษาจนถึงวันที่คำพิพากษานั้นได้ถูกเปลี่ยนแปลงแก้ไข กลับหรืองดเสีย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 และตามคำให้การของจำเลยทั้งสามก็ไม่ปรากฏว่าหลังจากศาลฎีกาพิพากษาในคดีดังกล่าวแล้ว จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้บอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือไปยังโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 จะยึดถือครอบครองที่ดินพิพาทในฐานะเจ้าของต่อไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1381 และจำเลยที่ 3 ก็มิได้ให้การต่อสู้ว่าตนมีสิทธิดีกว่าโจทก์แต่ประการใด กรณีจึงต้องถือว่าจำเลยทั้งสามไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทดีไปกว่าโจทก์เพราะได้ครอบครองที่ดินพิพาทแทนโจทก์ คดีจึงสามารถวินิจฉัยชี้ขาดได้โดยไม่ต้องสืบพยานต่อไป การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งงดสืบพยานจึงชอบแล้วที่จำเลยทั้งสามฎีกาประการต่อมาว่า หากข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า แม้โจทก์เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ตามคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวแล้วก็ตาม แต่โจทก์ฟ้องคดีให้บังคับคดีตามคำพิพากษาเกินสิบปี คดีของโจทก์จึงขาดอายุความ ทั้งการแย่งการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375 วรรคสอง กฎหมายมิได้บัญญัติว่าใช้บังคับเฉพาะที่ดินที่มีเพียงสิทธิครอบครองเท่านั้น ดังนั้น บทบัญญัติดังกล่าวจึงน่าจะใช้บังคับได้ทั้งที่ดินที่มีสิทธิครอบครองและกรรมสิทธิ์ เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์และจำเลยทั้งสามครอบครองแทนโจทก์ตลอดมาเช่นนี้แล้ว กรณีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสามในข้อนี้อีกต่อไป ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 3 ฎีกาของจำเลยทั้งสามฟังไม่ขึ้น แต่ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยทั้งสามส่งมอบโฉนดที่ดินเลขที่ 2456 ให้แก่โจทก์เพื่อดำเนินการแบ่งแยกนั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 78 และกฎกระทรวง ฉบับที่ 7(พ.ศ. 2497) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497บัญญัติไว้แล้วว่าจะต้องดำเนินการอย่างไร ซึ่งโจทก์สามารถนำคำพิพากษา ไปดำเนินการตามขั้นตอนได้อยู่แล้วโดยไม่จำต้องอาศัยคำสั่งศาลให้จำเลยทั้งสามส่งมอบ โฉนดที่ดินให้แต่อย่างใดจึงต้องยกคำขอในส่วนนี้ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้จำเลยทั้งสามมิได้ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยแก้ไขเสียให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 142(5) ประกอบมาตรา 246 และ 247”

พิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกคำขอของโจทก์ที่ให้จำเลยทั้งสามส่งมอบโฉนดที่ดินเลขที่ 2456 ตำบลบ้านฆ้อง (ดีบอน) อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี ให้แก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3

Share