คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3200/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การที่จะเป็นความผิดฐานเบิกความเท็จตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 177 จะต้องได้ความด้วยว่าความเท็จที่เบิกความไปนั้นเป็นข้อสำคัญในคดี เมื่อปรากฏว่าข้อหาในคดีเดิมที่โจทก์นำมาเป็นมูลในการฟ้องคดีนี้ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องเพราะเห็นว่าโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้อง และมิได้ระบุมาตราที่ขอให้ลงโทษ ถือได้ว่าข้อหาที่โจทก์นำมาเป็นมูลในการฟ้องคดีนี้ ยังไม่เคยมีการฟ้องต่อศาลมาก่อนจึงไม่มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยว่าคำเบิกความของจำเลยในคดีนั้นเป็นข้อสำคัญในคดีอันจะเป็นความผิดฐานเบิกความเท็จหรือไม่คำเบิกความในคดีนั้นของจำเลยจึงไม่เป็นข้อสำคัญในคดี

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วพิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนโจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “โจทก์นำสืบว่าเดิมโจทก์ฟ้องพันตำรวจโทสมจิตร ไชยพัฒน์ กับพวกรวม 3 คน เป็นจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 706/2528 ของศาลชั้นต้น ในข้อหาเจ้าพนักงานร่วมกันปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เรียกทรัพย์สินจากโจทก์ ในคดีดังกล่าวจำเลยได้เข้าเบิกความเป็นพยานโจทก์ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องว่าจำเลยรู้ความจริงเกี่ยวกับการที่พันตำรวจโทสมจิตร กับพวกได้เรียกเงินจากโจทก์และพยานได้ร่วมเดินทางไปที่กองตรวจคนเข้าเมือง จังหวัดอุดรธานี และกรุงเทพมหานคร กับโจทก์และภรรยาโจทก์ ปรากฏรายละเอียดตามเอกสารหมาย จ.1 แต่ในชั้นสืบพยานโจทก์ จำเลยไม่ยอมมาเบิกความเป็นพยานโจทก์ กลับเข้าเบิกความเป็นพยานจำเลยว่า การที่จำเลยให้การในชั้นไต่สวนมูลฟ้องนั้นไม่เป็นความจริง ที่ให้การไปเช่นนั้น เนื่องจากโจทก์เป็นผู้สอนให้เบิกความและไม่รู้เห็นที่จำเลยที่ 3 มาเรียกร้องเงินทองจากโจทก์ ปรากฏรายละเอียดตามเอกสารหมาย จ.2 คำเบิกความของจำเลยเป็นความเท็จ ความจริงแล้วจำเลยได้รู้เห็นเหตุการณ์ที่นายดาบตำรวจวิลัย ได้มาเรียกเงินจากโจทก์ เพราะโจทก์ได้ให้บุตรชายของโจทก์ไปตามจำเลยมาที่บ้านขณะที่นายดาบตำรวจวิลัยมาเรียกเงินจากโจทก์และจำเลยได้ร่วมเดินทางไปที่กองตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดอุดรธานี และกรุงเทพมหานคร
พิเคราะห์แล้ว ที่โจทก์ฎีกาว่า คำเบิกความของจำเลยในคดีก่อนเป็นข้อสำคัญในคดีและความผิดของจำเลยก็ได้สำเร็จแล้ว จำเลยได้เบิกความไปครบถ้วนแล้ว การที่ศาลชั้นต้นจะหยิบยกคำเบิกความของจำเลยขึ้นมาวินิจฉัยหรือไม่ ไม่เป็นข้อที่ทำให้จำเลยไม่ต้องรับโทษนั้น เห็นว่าประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177 ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่โจทก์ประสงค์จะให้ศาลลงโทษจำเลยบัญญัติว่า “ผู้ใดเบิกความอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีต่อศาล ถ้าความเท็จนั้นเป็นข้อสำคัญในคดี ฯ” พึงเห็นได้ว่าการที่จะเป็นความผิดตามมาตรานี้ได้ นอกจากจะต้องได้ความว่า บุคคลที่ถูกฟ้องเข้าเบิกความอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีต่อศาลแล้ว ยังจะต้องให้ได้ความด้วยว่าความเท็จที่เบิกความไปนั้นเป็นข้อสำคัญในคดีปรากฏว่าในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 706/2528 ของศาลชั้นต้น ซึ่งโจทก์นำมาเป็นมูลในการฟ้องคดีนี้ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์เพราะเห็นว่า ในข้อหาเรียก รับหรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 143 โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องมาสำหรับข้อหานี้และมิได้ระบุมาตราที่ขอให้ลงโทษจำเลยมาท้ายฟ้อง ถือว่าโจทก์ไม่ประสงค์จะฟ้องจำเลยที่ 3 ให้ศาลพิจารณาโทษตามบทมาตราดังกล่าว เช่นนี้ จึงถือได้ว่าข้อหาสำหรับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 143 ซึ่งโจทก์นำมาเป็นมูลในการฟ้องคดีนี้ยังไม่เคยมีการฟ้องต่อศาลมาก่อน จึงไม่มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยว่าคำเบิกความของจำเลยในคดีนั้นเป็นข้อสำคัญในคดีอันจะเป็นความผิดฐานเบิกความเท็จในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา143 หรือไม่ ที่โจทก์อ้างว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามฟ้องโดยนัยแห่งคำพิพากษาฎีกาที่ 126-127/2523 ระหว่างนายอิทธิศักดิ์ หงษ์บุตร โจทก์ นางชม ประชุมพันธ์ กับพวกจำเลยนั้น เห็นว่าคดีดังกล่าวรูปคดีหาตรงกับคดีนี้ไม่ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาต้องกันมาว่าคดีโจทก์ไม่มีมูล ให้ยกฟ้องเสียศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share