คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 320/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคหนึ่ง มิได้บังคับว่า หลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือต้องมีข้อความว่า ใครเป็นผู้ให้กู้ ใครเป็นผู้กู้กู้ยืมกันเมื่อไร กำหนดชำระเงินกันอย่างไร อีกทั้งตามมาตราดังกล่าวที่ว่าถ้า มิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ นั้น หาได้มีความหมายเคร่งครัดว่าจะต้องมีถ้อยคำว่ากู้ยืมปรากฏอยู่ในเอกสารนั้นไม่ และข้อความที่จะรับฟังเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมได้นั้นไม่จำต้องมีบรรจุอยู่ในเอกสารฉบับเดียวกัน อาจรวบรวมจากเอกสารหลายฉบับที่เกี่ยวโยงเป็นเรื่องเดียวกัน และรับฟังประกอบกันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมได้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกู้ยืมเงิน ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินต้นจำนวน 10,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า จำเลยมิได้กู้ยืมเงินโจทก์
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า เอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 ไม่มีข้อความใดที่แสดงว่าเป็นการกู้ยืมเงิน จึงมิใช่หลักฐานแห่งการกู้ยืม โจทก์ฟ้องบังคับจำเลยหาได้ไม่ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยว่า เอกสารหมาย จ.2 เป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมโจทก์ฟ้องบังคับจำเลยได้ พิพากษากลับให้จำเลยชำระต้นเงินจำนวน 10,000 บาทพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามพยานหลักฐานของโจทก์โดยจำเลยไม่สืบพยานว่า โจทก์ จำเลย รู้จักกันมาแต่เด็กเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2530 จำเลยติดต่อขอรับสินค้าจากโจทก์ไปขายเงินผ่อนโดยคิดบัญชีตอนสิ้นเดือนและจำเลยได้ขอกู้เงินโจทก์อีกจำนวน5,000 บาท ไม่ได้ทำหลักฐานแห่งการกู้ยืมกันไว้ เมื่อโจทก์คิดบัญชีแล้วจำเลยคงเป็นหนี้โจทก์จำนวน 13,000 บาท โจทก์ทวงถามแต่จำเลยขอผัดผ่อนเรื่อยมา จำเลยเคยชำระเงินให้โจทก์ 1 ครั้ง จำนวน 200 บาทโดยฝากสิบตำรวจตรียสไกร มาประเสริฐ มาให้โจทก์พร้อมจดหมาย 1 ฉบับมีข้อความว่า “ไม่ต้องปากมากพูดให้น้อย เงินจะศูนย์เปล่า ลืมไปแล้วใช่ไหมที่บอกว่าไม่เอาแล้ว ลองนึกให้ดี ๆ จำได้ก่อหน้อย ฉันฝากมาแล้ว 200 : ฉันจดไว้แล้วด้วยนะ เธออย่าลืมจดด้วย” ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.1 หลังจากนั้นจำเลยก้ไม่ชำระเงินให้โจทก์อีกเลย โจทก์ไปทวงถามจำเลยที่ที่ทำงานของจำเลย ในที่สุดจำเลยยอมรับเป็นหนี้โจทก์เพียง 10,000 บาท โจทก์ยอมรับจำเลยจึงทำบันทึกเป็นหลักฐานให้โจทก์ซึ่งมีข้อความว่า “ยกเลิกบัญชีเก่า คิดตามเงินต้นใหม่10,000 บาท” ลงลายมือชื่อจำเลยปรากฏตามเอกสารหมาย จ.2 ต่อมาจำเลยไม่ชำระเงินให้โจทก์อีกเลย โจทก์ทวงถามให้จำเลยชำระเงินตามเอกสารหมาย จ.3 ซึ่งจำเลยได้รับแล้วเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2532ปรากฏตามใบไปรษณีย์ตอบรับเอกสารหมาย จ.4 จำเลยคงเพิกเฉย ปัญหาข้อกฎหมายตามฎีกาจำเลยที่จะต้องวินิจฉัยมีว่า เอกสารหมาย จ.2เป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมหรือไม่
พิเคราะห์แล้ว ความในเอกสารหมาย จ.2 มีว่า “ยกเลิกบัญชีเก่าคิดตามเงินต้นใหม่ 10,000 บาท” แล้วลงลายมือชื่อจำเลย จำเลยฎีกาว่า ข้อความดังกล่าวไม่มีข้อความตอนใดชี้ให้เห็นเลยว่า ใครเป็นผู้ให้กู้ ใครเป็นผู้กู้ กู้ยืมกันเมื่อไร กำหนดชำระเงินกันอย่างไรและไม่มีข้อความตอนใดว่ามีการกู้ยืมเงินกัน ศาลฎีกาเห็นว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 วรรคหนึ่ง มิได้บังคับว่าหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือต้องมีข้อความว่า ใครเป็นผู้ให้กู้ใครเป้นผู้กู้ กู้ยืมกันเมื่อไร กำหนดชำระเงินกันอย่างไร ดังที่จำเลยอ้าง อีกทั้งตามบทบัญญัติมาตราดังกล่าวที่ว่า “ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ” นั้น หาได้มีความหมายเคร่งครัดว่าจะต้องมีถ้อยคำว่ากู้ยืมปรากฏอยู่ในเอกสารนั้นไม่ และข้อความที่จะรับฟังเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมได้นั้นไม่จำต้องมีบรรจุอยู่ในเอกสารฉบับเดียวกันอาจรวบรวมจากเอกสารหลายฉบับที่เกี่ยวโยงเป็นเรื่องเดียวกันก็ได้ ตามเอกสารหมาย จ.2 ที่ว่า “ยกเลิกบัญชีเก่า คิดตามเงินต้นใหม่10,000 บาท” เมื่อรับฟังประกอบกับเอกสารหมาย จ.1 ที่จำเลยทำขึ้นมีใจความว่า “ไม่ต้องปากมาก พูดให้น้อยเงินจะศูนย์เปล่าลืมไปแล้วใช่ไหมที่บอกว่าไม่เอาแล้ว ลองนึกให้ดี ๆ จำได้ก่อหน้อย ฉันฝากมาแล้ว 200 :- ฉันจดไว้แล้วด้วยนะ เธออย่าลืมจดด้วย” ย่อมรับฟังได้ว่า จำเลยมีหนี้ที่จะต้องใช้คืนแก่โจทก์ ซึ่งหนี้ดังกล่าวมีจำนวน10,000 บาท เอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 จึงรับฟังประกอบกันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืม โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องบังคับจำเลยได้…”
พิพากษายืน.

Share