คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3198/2545

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จำเลยนำของเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อผลิตส่งออกไปจำหน่ายต่างประเทศโดยนำหนังสือค้ำประกันของธนาคารวางประกัน และรับของไปจากอารักขาของศุลกากรเป็นเพียงการผ่อนผันชำระค่าอากรขาเข้าให้แก่จำเลย เมื่อจำเลยมิได้ผลิตสินค้าส่งออกไปต่างประเทศภายในกำหนด 1 ปี ตามกฎหมาย ย่อมเป็นหน้าที่ของจำเลยที่จะนำเงินอากรขาเข้าและภาษีอากรตามที่เจ้าพนักงานประเมินไว้ไปชำระมิใช่เป็นหน้าที่เจ้าพนักงานประเมินจะต้องติดตามทางถามให้จำเลยชำระ ทั้งตาม พ.ร.บ. ศุลกากรก็ดี ประมวลรัษฎากรก็ดี มิได้บัญญัติกำหนดระยะเวลาให้เจ้าพนักงานประเมินติดตามทวงถามไว้แต่อย่างใด ดังนั้น เจ้าพนักงานประเมินจะเรียกให้จำเลยหรือผู้ค้ำประกันชำระค่าอากรขาเข้าเมื่อใดก็ได้ภายในอายุความ เมื่อจำเลยไม่ชำระค่าอากรที่ต้องเสียก็ต้องเรียกเงินเพิ่มจากจำเลยตามกฎหมาย
กรณีการนำหนังสือค้ำประกันของธนาคารมาวางก็ไม่มีบทบัญญัติใดตาม พ.ร.บ. ศุลกากรว่าถ้าผู้นำของเข้าไม่ชำระค่าอากรขาเข้า ภาษีการค้า และภาษีบำรุงเทศบาล (ปัจจุบันเป็นภาษีส่วนท้องถิ่น) ตามที่เจ้าพนักงานประเมินแจ้งให้ทราบแล้วภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้ง ก็ให้เรียกเก็บจากผู้ค้ำประกันทันที ตาม ป.พ.พ. มาตรา 686 ที่ให้สิทธิเจ้าหนี้เรียกให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ได้ ตั้งแต่ลูกหนี้ผิดนัดนั้น ถ้าหนี้จะใช้สิทธิเรียกร้องเมื่อใดก็ได้ภายในอายุความ และเมื่อเรียกจากธนาคารผู้ค้ำประกันแล้วหนี้ยังขาดอยู่เท่าใดจำเลยก็ต้องรับผิดชำระค่าภาษีอากรส่วนที่ขาดรวมทั้งเงินเพิ่มแก่โจทก์ การที่โจทก์ฟ้องเรียกเงินค่าอากรขาเข้า ภาษีการค้า ภาษีบำรุงเทศบาล (ปัจจุบันเป็นภาษีส่วนท้องถิ่น) และเงินเพิ่ม จึงเป็นการใช้สิทธิตามกฎหมายและภายในชอบที่กฎหมายบัญญัติ จึงมิใช่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตแต่อย่างใด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับชำระเงินค่าภาษีอากรและเงินเพิ่มจำนวน 4,778,456.27 บาท และเงินเพิ่มอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือน ของต้นเงินอากรขาเข้าที่ค้างชำระจำนวน 1,813,882.59 บาท และของต้นเงินค่าธรรมเนียมพิเศษค้างชำระจำนวน 20,933.28 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ โจทก์ยื่นคำขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดีโดยขาดนัด ศาลเห็นว่า คำฟ้องของโจทก์มีมูลและไม่ขัดต่อกฎหมาย จึงนัดฟังคำพิพากษา กับให้โจทก์ส่งพยานเอกสารแทนการสืบพยานเพื่อประกอบการวินิจฉัยชี้ขาดคดี
ศาลภาษีอากรกลาง พิพากษาให้จำเลยชำระเงินค่าภาษีอากรและเงินเพิ่มแก่โจทก์ทั้งสอง จำนวน 410,298.76 บาท คำขออื่นให้ยก
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า… เมื่อระหว่างเดือนมิถุนายน 2533 ถึงเดือนมีนาคม 2534 จำเลยนำ สินค้าเข้ามาในราชอาณาจักรหลายรายการรวม 7 ครั้ง เพื่อผลิตสินค้าส่งออกไปจำหน่ายต่างประเทศตามใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้า โดยจำเลยนำหนังสือค้ำประกันของธนาคารมาวางแทนเพื่อออกของไปตามมาตรา 19 ทวิ และมาตรา 19 ตรี แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2482 หลังจากพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 ตรวจปล่อยสินค้าให้จำเลยรับไปแล้ว จำเลยไม่ได้นำสินค้าดังกล่าวไปผลิตเป็นสินค้าเพื่อส่งออกภายในกำหนด 1 ปี นับแต่วันนำเข้า จำเลยจึงต้องชำระค่าภาษีอากรและค่าธรรมเนียมพิเศษสำหรับสินค้าที่นำเข้าดังกล่าวรวมทั้งเงินเพิ่มให้แก่โจทก์ทั้งสอง และพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 ได้แจ้งการประเมินให้จำเลยทราบแล้ว แต่จำเลยไม่ชำระ พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 ได้แจ้งให้ธนาคารซึ่งค้ำประกันนำเงินค่าภาษีอากรมาชำระตามหนังสือค้ำประกันแล้วเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2537 แต่นำไปหักชำระเป็นค่าอากรขาเข้า ภาษีการค้า ภาษีบำรุงเทศบาล (ปัจจุบันเป็นภาษีส่วนท้องถิ่น) และค่าธรรมเนียมพิเศษได้เพียงบางส่วน ยังมีหนี้ค่าภาษีอากรและเงินเพิ่มที่จำเลยค้างชำระโจทก์ทั้งสองอยู่คิดถึง วันฟ้องรวม 4,778,456.27 บาท ซึ่งโจทก์ทั้งสองทวงถามแล้วจำเลยไม่ชำระ
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองประการแรกว่า โจทก์ทั้งสองประเมินภาษีอากรและ ฟ้องเรียกค่าภาษีอากรตามฟ้องเป็นการใช้สิทธิโดยสุจริตหรือไม่ เห็นว่า การที่จำเลยนำของเข้ามาในราชอาณาจักร เพื่อผลิตส่งออกไปจำหน่ายต่างประเทศโดยนำหนังสือค้ำประกันของธนาคารวางประกันและรับของไปจาก อารักขาของศุลกากรเป็นเพียงการผ่อนผันชำระค่าอากรขาเข้าให้แก่จำเลย เมื่อจำเลยมิได้ผลิตสินค้าส่งออกไป ต่างประเทศภายในกำหนด 1 ปี ตามกฎหมาย ย่อมเป็นหน้าที่ของจำเลยที่จะนำเงินอากรขาเข้าและภาษีอากรตามที่ เจ้าพนักงานประเมินไว้ไปชำระ มิใช่เป็นหน้าที่ของเจ้าพนักงานประเมินจะต้องติดตามทวงถามให้จำเลยชำระ ทั้งตามพระราชบัญญัติศุลกากรก็ดี ประมวลรัษฎากรก็ดี มิได้บัญญัติกำหนดระยะเวลาให้เจ้าพนักงานประเมินติดตามทวงถามไว้แต่อย่างใด ดังนั้น เจ้าพนักงานประเมินจะเรียกให้จำเลยหรือผู้ค้ำประกันชำระค่าอากรขาเข้าเมื่อใดก็ได้ ภายในอายุความ เมื่อจำเลยไม่ชำระค่าอากรที่ต้องเสียก็ต้องเรียกเงินเพิ่มจากจำเลยตามกฎหมาย นอกจากนี้กรณี การนำหนังสือค้ำประกันของธนาคารมาวางประกันก็ไม่มีบทบัญญัติมาตราใดตามพระราชบัญญัติศุลกากรบัญญัติว่า ถ้าผู้นำของเข้าไม่ชำระค่าอากรขาเข้า ภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาล (ปัจจุบันเป็นภาษีส่วนท้องถิ่น) ตามที่ เจ้าพนักงานประเมินแจ้งให้ทราบแล้วภายในกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งก็ให้เรียกเก็บจากผู้ค้ำประกันทันที ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 686 ที่ให้สิทธิเจ้าหนี้เรียกให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ได้ตั้งแต่ลูกหนี้ผิดนัดนั้น เจ้าหนี้จะใช้สิทธิเรียกร้องเมื่อใดก็ได้ภายในอายุความ และเมื่อเรียกจากธนาคารผู้ค้ำประกันแล้วหนี้ยังขาดอยู่เท่าใด จำเลยก็ต้องรับผิดชำระค่าภาษีอากรส่วนที่ขาดรวมทั้งเงินเพิ่มแก่โจทก์ ฉะนั้นการที่โจทก์ทั้งสองฟ้องเรียกเงินค่า อากรขาเข้า ภาษีการค้า ภาษีบำรุงเทศบาล (ปัจจุบันเป็นภาษีส่วนท้องถิ่น) และเงินเพิ่มจึงเป็นการใช้สิทธิตามกฎหมายและภายในกรอบที่กฎหมายบัญญัติ จึงมิใช่การใช้สิทธิโดยไม่สุจริตแต่อย่างใด เพราะเหตุที่จำเลยต้องชำระเงินเพิ่มจำนวนมากนั้นเกิดจากจำเลยซึ่งมีหน้าที่ต้องนำเงินค่าอากรนำเข้า ภาษีการค้า และภาษีบำรุงเทศบาล (ปัจจุบันเป็นภาษีส่วนท้องถิ่น) ไปชำระตามที่ได้รับแจ้งการประเมิน ไม่นำเงินค่าอากรและภาษีดังกล่าวไปชำระแก่โจทก์ทั้งสองตามหน้าที่เอง ข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2591/2543 ไม่ตรงกับคดีนี้ คำพิพากษาศาลภาษีอากรกลางไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์โจทก์ทั้งสองฟังขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองประการต่อไปว่า จำเลยต้องรับผิดชำระค่าภาษีอากรและเงินเพิ่มตามฟ้องหรือไม่เพียงใด เห็นว่า จำเลยนำของเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อผลิตส่งออกไปจำหน่ายต่างประเทศจำนวน 7 ครั้ง ตามใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้า และขอใช้สิทธิคืนภาษีอากรโดยนำหนังสือค้ำประกันของธนาคารมาวางแทนการชำระค่าภาษีอากร ตามมาตรา 19 ทวิ และมาตรา 19 ตรี แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2482 แล้วจำเลยผิดเงื่อนไขโดยมิได้นำของไปผลิตเพื่อส่งออกภายในกำหนด 1 ปี นับแต่วันนำเข้า ซึ่งในการวินิจฉัยในปัญหานี้โดยเฉพาะในกรณีเงินเพิ่มอากรขาเข้าและค่าธรรมเนียมพิเศษตามมาตรา 112 ตรี และมาตรา 112 จัตวา แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 จะต้องฟังข้อเท็จจริงให้ได้ความชัดเจนเสียก่อนว่าการนำของเข้าตามใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการภาษีการค้ามีการโต้แย้งประเภทพิกัดสินค้า และราคาสินค้าที่สำแดงกันอย่างไรหรือไม่ เนื่องจากตามใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าดังกล่าวข้างต้นมีทั้งการประทับตราว่า เพิ่มราคาแล้วพอใจบัญชีราคาสินค้า และตีราคา โดยไม่ปรากฏแน่ชัดว่าเนื่องมาจากสาเหตุใด และอาจส่งผลให้การคิดเงินเพิ่มอากรขาเข้าและค่าธรรมเนียมพิเศษเปลี่ยนแปลงได้ จึงเห็นควรย้อนสำนวนไปให้ศาลภาษีอากรกลางทำการพิจารณาสืบพยานโจทก์ทั้งสองให้ได้ความชัดเจนและพิพากษาใหม่ตามรูปคดีต่อไป
พิพากษายกคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง ย้อนสำนวนโดยให้ศาลภาษีอากรกลางพิจารณาและพิพากษาใหม่ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้ศาลภาษีอากรกลางรวมสั่งเมื่อคำสั่งหรือคำพิพากษาใหม่.

Share