แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้ในวันเกิดเหตุจะไม่ใช่วันนัดพิจารณาทั้งในคดีแพ่งและคดีอาญาและคู่ความไม่ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลออกนั่งพิจารณาคดีเพื่อไกล่เกลี่ยข้อพิพาท แต่ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลได้นัดคู่ความให้มาศาลเพื่อเจรจากันในห้องพักของผู้พิพากษาหัวหน้าศาล ถือได้ว่าคู่ความมาศาลและขอให้ศาลนั่งพิจารณาไกล่เกลี่ยข้อพิพาท แม้การไกล่เกลี่ยจะได้กระทำในห้องพักของผู้พิพากษาหัวหน้าศาลมิใช่ในห้องพิจารณาคดีของศาล แต่ก็เพื่อความสะดวกแก่การที่คู่ความจะได้เจรจาตกลงกัน ถือว่าศาลได้ดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลโดยชอบแล้ว เมื่อคู่ความอยู่ต่อหน้าศาลในการพิจารณาคดีของศาลและโจทก์แถลงขอถอนฟ้องด้วยวาจาในศาลนั้นเอง ศาลชั้นต้นจึงมีอำนาจที่จะรับคำแถลงขอถอนฟ้องด้วยวาจาได้
ศาลชั้นต้นจดรายงานกระบวนพิจารณาในคดีอาญาว่าเวลา 10 นาฬิกา คู่ความร่วมกันแถลงว่าสามารถตกลงเจรจาในเรื่องทรัพย์มรดกของ ม. ได้ข้อยุติและแบ่งกันได้แล้ว โจทก์จึงไม่ติดใจดำเนินคดีแก่จำเลยต่อไป ขอถอนฟ้อง อนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้อง จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ ส่วนในคดีแพ่ง ศาลชั้นต้นจดรายงานกระบวนพิจารณาว่า ให้คู่ความไปจัดทำสัญญาประนีประนอมยอมความและมาทำยอมกันในเวลา 14 นาฬิกา ของวันนั้น แต่เมื่อในตอนบ่ายของวันนั้นไม่มีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความและพิพากษาตามยอมกัน การถอนฟ้องในคดีอาญาย่อมไม่มีผล การที่ศาลชั้นต้นด่วนอนุญาตให้ถอนฟ้องและมีคำสั่งจำหน่ายคดีอาญาจากสารบบความไปก่อน โดยไม่รอให้คู่ความทำสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีแพ่งให้เสร็จไปพร้อมกัน จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยผิดหลงและผิดระเบียบว่าด้วยการพิจารณาคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 โจทก์ขอให้เพิกถอนได้
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 2/2548)
ย่อยาว
กรณีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 90, 91, 177, 180, 264, 265, 266 และ 268 ระหว่างไต่สวนมูลฟ้องเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2544 คู่ความแถลงขอเลื่อนคดีเพื่อเจรจาตกลงกัน ศาลชั้นต้นอนุญาตให้เลื่อนไปนัดไต่สวนมูลฟ้องวันที่ 12 ธันวาคม 2544 เวลา 9 นาฬิกา
วันที่ 26 พฤศจิกายน 2544 เวลา 10 นาฬิกา โจทก์ ทนายโจทก์ จำเลยและทนายจำเลยมาศาล และแถลงร่วมกันว่า สามารถตกลงเจรจาในเรื่องทรัพย์มรดกของนายมังกร ได้ข้อยุติและแบ่งกันได้แล้ว โจทก์จึงไม่ติดใจดำเนินคดีแก่จำเลยต่อไป ขอถอนฟ้อง จำเลยไม่ค้าน ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้อง และมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ ตามรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 26 พฤศจิกายน 2544 ต่อมาวันเดียวกันโจทก์ยื่นคำร้องว่าการถอนฟ้องคดีอาญามีเงื่อนไขว่าโจทก์กับจำเลยต้องทำสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 2003/2544 ก่อน โจทก์ลงลายมือชื่อถอนฟ้องโดยสำคัญผิดและไม่ได้สมัครใจ ขอให้งดจำหน่ายคดี ศาลชั้นต้นยกคำร้อง
วันที่ 3 ธันวาคม 2544 โจทก์ยื่นคำร้องว่า ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 เพราะการถอนฟ้องคดีอาญาต้องทำเป็นคำร้อง แต่โจทก์มิได้ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องแต่อย่างใดและการถอนฟ้องมีเงื่อนไขว่าต้องตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีแพ่งก่อน ขอให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าวแล้วไต่สวนมูลฟ้องต่อไป
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2544 ว่ากรณีไม่มีเหตุให้มีการเพิกถอนคำสั่งจำหน่ายคดีนี้ ให้ยกคำร้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 35 บัญญัติเกี่ยวกับการถอนฟ้องคดีอาญาว่า คำร้องขอถอนฟ้องคดีอาญาจะยื่นเวลาใดก่อนมีคำพิพากษาของศาลชั้นต้นก็ได้ และคดีความผิดต่อส่วนตัวนั้นจะถอนฟ้องในเวลาใดก่อนคดีถึงที่สุดก็ได้ มิได้บัญญัติถึงวิธีถอนฟ้องว่าจะต้องทำเป็นคำร้องแต่วิธีเดียวเท่านั้น หากคู่ความมาอยู่ต่อหน้าศาลและแถลงขอถอนฟ้องด้วยวาจาย่อมไม่ห้ามศาลที่จะยอมรับคำแถลงขอถอนฟ้องด้วยวาจาที่ได้กระทำในศาล โดยจดข้อความขอถอนฟ้องนั้นลงไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาหรืออาจจะกำหนดให้โจทก์ถอนฟ้องโดยทำเป็นคำร้องขอถอนฟ้องก็ได้แล้วแต่ศาลจะเห็นสมควร เรื่องนี้แม้ในวันเกิดเหตุจะไม่ใช่วันนัดพิจารณาทั้งในคดีแพ่งและคดีอาญาและคู่ความไม่ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลออกนั่งพิจารณาคดีเพื่อไกล่เกลี่ยข้อพิพาท แต่ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดขอนแก่นได้นัดคู่ความให้มาศาลเพื่อเจรจากันในห้องพักของผู้พิพากษาหัวหน้าศาล ถือได้ว่าคู่ความมาศาลและขอให้ศาลนั่งพิจารณาไกล่เกลี่ยข้อพิพาท แม้การไกล่เกลี่ยจะได้กระทำในห้องพักของผู้พิพากษาหัวหน้าศาลมิใช่ในห้องพิจารณาคดีของศาล แต่ก็เพื่อความสะดวกแก่การที่คู่ความจะได้เจรจาตกลงกัน ซึ่งห้องพักของผู้พิพากษาหัวหน้าศาลก็อยู่ในศาลเช่นเดียวกับห้องพิจารณาคดีของศาล ถือว่าศาลได้ดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลโดยชอบแล้ว เมื่อคู่ความอยู่ต่อหน้าศาลในการพิจารณาคดีของศาล และโจทก์แถลงขอถอนฟ้องด้วยวาจาในศาลนั้นเองก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา ศาลชั้นต้นจึงมีอำนาจที่จะรับคำแถลงขอถอนฟ้องด้วยวาจาได้โดยชอบ
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อต่อไปว่า การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องคดีนี้และจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ เป็นคำสั่งที่ผิดหลงและผิดระเบียบหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีแพ่งและคดีอาญาคดีนี้เกี่ยวด้วยมรดกของนายมังกร ศาลชั้นต้นไกล่เกลี่ยคู่ความทั้งในคดีแพ่งและคดีอาญาไปในคราวเดียวกันเจตนาในการไกล่เกลี่ยก็เพื่อยุติข้อพิพาททั้งในคดีแพ่งและคดีอาญาโดยการทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันในคดีแพ่งและโจทก์ถอนฟ้องคดีอาญาให้เสร็จไปทั้งสองคดีในคราวเดียวกัน ดังนั้น แม้คู่ความจะตกลงกันในคดีแพ่งได้และโจทก์ยอมจะถอนฟ้องคดีอาญา ศาลชั้นต้นก็ต้องทำสัญญาประนีประนอมยอมความและพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีแพ่งไปพร้อมกับอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องและจำหน่ายคดีอาญาไปในคราวเดียวกันเพื่อให้คดีทั้งสองยุติไปตามเจตนาในการไกล่เกลี่ยและเจรจาตกลงกัน การที่ศาลชั้นต้นจดรายงานกระบวนพิจารณาในคดีอาญาว่าเวลา 10 นาฬิกา คู่ความร่วมกันแถลงว่า สามารถตกลงเจรจาในเรื่องทรัพย์มรดกของนายมังกรได้ข้อยุติและแบ่งกันได้แล้ว โจทก์จึงไม่ติดใจดำเนินคดีแก่จำเลยต่อไป ขอถอนฟ้อง จำเลยไม่ค้าน พิเคราะห์แล้ว โจทก์และจำเลยตกลงกันได้ อนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้อง จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ ส่วนในคดีแพ่ง ศาลชั้นต้นจดรายงานกระบวนพิจารณาว่าให้คู่ความไปจัดทำสัญญาประนีประนอมยอมความและมาทำยอมกันในเวลา 14 นาฬิกา ของวันนั้น แสดงว่า ศาลชั้นต้นเข้าใจผิดไปว่าคู่ความจะทำสัญญาประนีประนอมยอมความและมีการพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีแพ่งในตอนบ่ายของวันนั้นโดยไม่มีปัญหาอุปสรรคใด แต่เมื่อปรากฏว่าในตอนบ่ายของวันนั้นไม่มีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความและพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความกัน ซึ่งไม่ว่าจะเป็นเพราะเหตุใดก็ตาม ย่อมไม่เป็นไปตามเจตนาในการไกล่เกลี่ยและการเจรจาตกลงของโจทก์ การถอนฟ้องในคดีอาญาย่อมไม่มีผล ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นด่วนบันทึกรายงานกระบวนพิจารณาในคดีอาญาว่า โจทก์ขอถอนฟ้อง จำเลยไม่ค้าน ศาลอนุญาตให้ถอนฟ้อง และมีคำสั่งจำหน่ายคดีอาญาจากสารบบความไปก่อน โดยไม่รอให้คู่ความทำสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีแพ่งให้เสร็จไปเพื่อให้คดีทั้งสองยุติไปพร้อมกันในคราวเดียวกัน จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยผิดหลง และผิดระเบียบว่าด้วยการพิจารณาคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 โจทก์จึงชอบที่จะขอให้เพิกถอนเสียได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษามานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา
พิพากษากลับ ให้เพิกถอนคำสั่งจำหน่ายคดีของศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการไต่สวนมูลฟ้องแล้วมีคำพิพากษาหรือคำสั่งใหม่ตามรูปคดี.