คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 319/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่จำเลยที่ 1 กระทำละเมิดทำให้สัญญาณไฟจราจรที่อยู่ในความครอบครองของโจทก์เสียหาย แม้โจทก์จะไม่ใช่เจ้าของสัญญาณไฟจราจรดังกล่าวโจทก์ก็ต้องจัดหา ติดตั้ง และบำรุงรักษาสัญญาณไฟจราจรที่ต้องเสียหายนั้นให้มีสภาพดีเช่นเดิม ตามหน้าที่ โจทก์จึงเสียหายจากการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 และเมื่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 ต้องร่วมรับผิดในการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ตามกฎหมาย โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้อง.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์มีหน้าที่จัดหา ติดตั้ง ครอบครองดูแลรักษาสัญญาณไฟจราจรในเขตกรุงเทพมหานคร จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ได้ขับรถยนต์บรรทุกอิฐและปูนซิเมนต์ไปส่งแก่ลูกค้าของจำเลยที่ 2 ตามคำสั่งของจำเลยที่ 2 ด้วยความจูงใจ หรือประมาทเลินเล่อจำเลยที่ 1 ได้ขับรถยนต์แล่นออกนอกทางเดินรถของตนขึ้นไปชนขอบถนนแล้วเลยไปชนซุ้มสัญญาณไฟจราจรหมายเลขที่ 125 ต้นที่ 7 ของโจทก์เป็นเหตุให้ซุ้มสัญญาณไฟจราจรดังกล่าวแตกหัก ชำรุดเสียหายใช้การไม่ได้ โจทก์ต้องซ่อมแซม เป็นเงิน 19,518 บาท ขอให้จำเลยที่ 1,ที่ 2 และจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 3 ให้การว่า โจทก์ไม่ได้เป็นเจ้าของผู้ครอบครองและไม่ได้เป็นผู้จัดหาติดตั้ง ซุ้มสัญญาณไฟจราจรหมายเลขที่ 125ต้นที่ 7 จำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2มิได้ใช้ จ้าง วาน จำเลยที่ 1 ขับรถคันเกิดเหตุไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ ค่าเสียหายของโจทก์มีเพียง 4,600 บาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน19,518 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า เมื่อจำเลยที่ 1กระทำละเมิดทำให้สัญญาณไฟจราจรในขณะอยู่ในความครอบครองของโจทก์ต้องเสียหาย แม้โจทก์จะไม่ใช่เจ้าของสัญญาณไฟจราจรดังกล่าว โจทก์ก็จะต้องทำการจัดหา ติดตั้ง และบำรุงรักษาให้สัญญาณไฟจราจรที่ต้องเสียหายนั้นให้มีสภาพดีเช่นเดิมตามหน้าที่ โจทก์จึงเสียหายจากการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 เมื่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 ต้องร่วมรับผิดในการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ตามกฎหมาย โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องคดีนี้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 3ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share