แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
หลังจากโจทก์และจำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทเพียง7 วัน จำเลย สามีจำเลย และบุตรร่วมกันตั้งบริษัทจำเลยร่วมโดยจำเลยสามีจำเลย และบุตรเป็นกรรมการบริษัท ถือไม่ได้ว่าจำเลยเป็นตัวแทนเชิดของจำเลยร่วมในการทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 821 เพราะขณะนั้นจำเลยร่วมยังไม่มีสภาพเป็นนิติบุคคล ไม่อาจเชิดผู้ใดเป็นตัวแทนได้ สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาท และสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาททั้งสองฉบับ จำเลย สามีจำเลยและบุตรรู้เห็นการทำสัญญาทั้งสองฉบับวัตถุแห่งหนี้กับวัตถุประสงค์แห่งหนี้เป็นอย่างเดียวกัน คือการโอนที่ดินพิพาทในราคาและกำหนดเวลาเดียวกัน ทั้งเมื่อทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทกันแล้ว ได้มีการเปิดทางให้ตามที่มีข้อตกลงในสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทนานถึง 2 ปีเศษ แม้ตามสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทจำเลยร่วมเป็นผู้ซื้อมิใช่จำเลย และไม่มีข้อตกลงเปิดทางก็ตาม โดยพฤติการณ์ย่อมแสดงว่าจำเลยทำสัญญาเพื่อประโยชน์ของจำเลยร่วม และเท่ากับเป็นการตกลงโดยปริยายของจำเลยร่วมยอมรับและถือเอาข้อตกลงเรื่องเปิดทางตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทเป็นข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยร่วมด้วย ข้อตกลงเปิดทางตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาท มีลักษณะคล้ายภารจำยอมอันเป็นทรัพย์สิทธิ ถ้าไม่จดทะเบียนการได้มากับพนักงานเจ้าหน้าที่ไม่บริบูรณ์เป็นทรัพย์สิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 แต่ก็เป็นอันใช้ได้ระหว่างคู่สัญญาซึ่งรวมทั้งโจทก์กับจำเลยร่วมด้วยในฐานะบุคคลสิทธิ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินโฉนดเลขที่627 กับจำเลย โดยมีข้อตกลงให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 626 ด้วย ผ่านเข้าออกที่ดินที่จะขาย และทำถนนเชื่อมกับถนนของจำเลยให้รถเข้าออกได้จำเลยไม่ปฏิบัติตามสัญญาปิดทางเข้าออกขอให้บังคับจำเลยเปิดทางที่ปิดกั้นทางเข้าออกของที่ดินโฉนดเลขที่ 626 ตำบลปากเกร็ด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ให้รถเข้าออกได้ตามสัญญาและให้จำเลยชำระค่าเสียหายจำนวน 40,000 บาทให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า จำเลยเคยทำสัญญาจะซื้อจะขายจริง แต่สัญญาฉบับดังกล่าวได้เลิกกันไป โจทก์ได้จดทะเบียนโอนขายให้บุคคลอื่นไปนานแล้ว จำเลยไม่ใช่เจ้าของถนนหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับถนนที่โจทก์ขอผ่าน ขอให้ยกฟ้อง
โจทก์ยื่นคำร้องขอให้หมายเรียกบริษัททรัพยาคาร จำกัดเข้ามาเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยร่วมให้การว่า จำเลยร่วมเป็นนิติบุคคลต่างหากจากจำเลยมิได้เป็นคู่สัญญาตามหนังสือสัญญาจะซื้อจะขาย จำเลยไม่ได้เป็นตัวแทนของจำเลยร่วม และจำเลยร่วมไม่เคยเชิดจำเลยเป็นตัวแทนของจำเลยร่วมให้ไปทำสัญญาจะซื้อจะขาย จึงไม่ผูกพันจำเลยร่วม ทางเข้าออกที่โจทก์ระบุไว้ในสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน จำเลยร่วมไม่ได้ทำขึ้นและไม่ใช่ทางเข้าออกของจำเลยร่วม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยร่วมเปิดทางที่ปิดกั้นทางเข้าออกของที่ดินโฉนดเลขที่ 626 ตำบลปากเกร็ดอำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ให้รถยนต์เข้าออกได้ตามสัญญาและให้จำเลยร่วมชำระค่าเสียหายจำนวน 25,000 บาท ให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยร่วมอุทธรณ์
ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ โจทก์ถึงแก่กรรมศาลอุทธรณ์อนุญาตให้นายอรุณ จำปากะนันท์ เข้าเป็นคู่ความแทน
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ได้ทำสัญญาจะขายที่ดินพิพาทตามโฉนดเลขที่ 627 ให้จำเลยตามหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายเอกสารหมาย จ.7 โดยตกลงกันว่าจำเลยยินยอมให้โจทก์ทำถนนจากที่ดินตามโฉนดเลขที่ 626 ของโจทก์อีกแปลงซึ่งอยู่ติดกันทางด้านทิศตะวันตกเชื่อมกับถนนภายในที่ดินพิพาทเพื่อใช้สัญจรไปมา เมื่อถึงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2524 อันเป็นวันนัดโอนที่ดินพิพาทตามสัญญา โจทก์ทำสัญญาซื้อขายและจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้จำเลยร่วมตามสัญญาจะซื้อขายที่ดิน เอกสารหมาย จ.3ตามที่จำเลยขอให้โอนต่อมาจำเลยร่วมไม่ยินยอมให้โจทก์ใช้ถนนในที่ดินพิพาทตามสัญญาจะซื้อจะขายโดยปักเสาคอนกรีตปิดถนนกั้นทางเข้าออก คดีมีปัญหาว่าจำเลยร่วมจำต้องปฏิบัติตามข้อตกลงตามสัญญาจะซื้อจะขาย เอกสารหมาย จ.7 หรือไม่ เห็นว่าในวันทำสัญญาจะซื้อจะขายกับวันทำสัญญาซื้อขายนายทวีวัฒน์ รัชตะทรัพย์จำเลยและนายพงษ์ไพโรจน์ รัชตะทรัพย์ ซึ่งเป็นสามีภริยากับบุตรตามลำดับ ได้ไปที่บ้านโจทก์และสำนักงานที่ดินตามลำดับด้วยจำเลยร่วมเป็นนิติบุคคล มีนายทวีวัฒน์ จำเลย กับนายพงษ์ไพโรจน์ต่างเป็นกรรมการบริษัท จดทะเบียนหลังจากโจทก์จำเลยทำสัญญาจะซื่อจะขายกันเพียง 7 วัน แม้ในวันทำสัญญาจะซื้อจะขายจำเลยจะไม่ได้อ้างว่าทำสัญญาแทนผู้หนึ่งผู้ใด และขณะนั้นจำเลยร่วมยังไม่มีสภาพบุคคล ไม่อาจเชิดจำเลยเป็นตัวแทนเชิดตามความหมายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 821 ก็ตาม แต่สัญญาจะซื้อจะขายเอกสารหมาย จ.7 และสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาท เอกสารหมาย จ.3ทั้งสองฉบับนั้น วัตถุแห่งหนี้กับวัตถุประสงค์แห่งหนี้เป็นอย่างเดียวกัน คือการโอนที่ดินพิพาทในราคาและกำหนดเวลาเดียวกันกรรมการจำเลยร่วมทุกคนอยู่รู้เห็นการทำสัญญาทั้งสองฉบับ เมื่อทำสัญญาซื้อขายกันแล้วตอนแรกฝ่ายจำเลยยินยอมเปิดทางให้ตามที่ตกลงกันนาน 2 ปีเศษ จำเลยร่วมจึงปิดทางออก เช่นนี้ แม้ตามสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.3 จำเลยร่วมเป็นผู้ซื้อไม่ใช่จำเลยก็ตาม โดยพฤติการณ์ย่อมแสดงว่าจำเลยทำสัญญากับโจทก์เพื่อประโยชน์ของจำเลยร่วม และเท่ากับเป็นการตกลงโดยปริยายของจำเลยร่วมยอมรับและถือเอาข้อตกลงตามสัญญาจะซื้อจะขายเอกสารหมาย จ.7 เป็นข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยร่วมด้วยจำเลยร่วมจะเถียงว่าไม่ได้ตกลงให้โจทก์มีสิทธิใช้ทางเข้าออกผ่านที่ดินจำเลยร่วมหาได้ไม่ แม้ข้อตกลงตามสัญญาจะซื้อจะขายเอกสารหมาย จ.7 ที่จำเลยยินยอมให้โจทก์เจ้าของที่ดินตามโฉนดเลขที่ 626 ใช้ทางเข้าออกสัญจรไปมาผ่านที่ดินจำเลยผู้จะซื้อจะมีลักษณะคล้ายภารจำยอมอันเป็นทรัพยสิทธิอย่างหนึ่ง ถ้าไม่มีการจดทะเบียนการได้มากับพนักงานเจ้าหน้าที่ การได้มาซึ่งทรัพยสิทธิจะไม่บริบูรณ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 ก็ตาม แต่ก็เป็นอันใช้ได้ระหว่างคู่สัญญา ซึ่งรวมทั้งโจทก์กับจำเลยร่วมด้วยในฐานะบุคคลสิทธิจำเลยร่วมไม่มีสิทธิปิดกั้นอันเป็นการละเมิดข้อตกลง
พิพากษายืน