แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างจำเลยได้ด่าส. ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของโจทก์ว่า”ตอแหล”ต่อหน้าพนักงานอื่นในสถานที่ทำงานขณะที่ส. สั่งห้ามพนักงานพูดเสียงดังการที่โจทก์ด่าส.โดยใช้ถ้อยคำว่า”ตอแหล”ซึ่งมีความหมายว่าเป็นคนพูดเท็จอันเป็นการแสดงกิริยากระด้างกระเดื่องต่อผู้บังคับบัญชาด้วยการใช้วาจาดูหมิ่นเหยียดหยามและก้าวร้าวเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยซึ่งจำเลยได้จัดไว้ในหัวข้อเรื่องวินัยและความประพฤติทั่วไปของพนักงานแยกต่างหากจากหัวข้อเรื่องความผิดร้ายแรงซึ่งได้ระบุการกระทำที่เป็นความผิดร้ายแรงไว้โดยเฉพาะซึ่งแสดงว่าจำเลยไม่ได้ถือว่าการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานดังกล่าวเป็นความผิดกรณีร้ายแรงแต่อย่างใดดังนั้นเมื่อปรับการกระทำของโจทก์กับระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยดังกล่าวแล้วการกระทำของโจทก์เป็นเพียงฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยเป็นกรณีทั่วไปหาเป็นความผิดกรณีร้ายแรงไม่เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยเตือนโจทก์เป็นหนังสือมาก่อนจำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงต้องจ่ายค่าชดเชยตามข้อ46แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงาน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยเมื่อวันที่7 ตุลาคม 2538 จำเลยได้เลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่มีความผิดและโดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้า อันเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมจำเลยจึงต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าคิดเป็นเงิน3,480 บาท โจทก์ทำงานให้จำเลยติดต่อกันครบ 3 ปีแล้ว จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยจากจำเลยคิดเป็นเงิน 26,100 บาท และโจทก์ได้รับความเสียหายจากการที่ขาดรายได้ในการประกอบอาชีพคิดเป็นเงิน 21,750 บาท นอกจากนี้จำเลยยังค้างจ่ายค่าจ้างโจทก์จำนวน 2,610 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินดังกล่าวแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปียกเว้นดอกเบี้ยในค่าจ้างค้างจ่ายให้คิดอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ทั้งนี้นับแต่วันเลิกจ้างสำหรับดอกเบี้ยในค่าชดเชย ส่วนดอกเบี้ยในเงินอื่นนับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ได้ค้างจ่ายค่าจ้างแก่โจทก์จำเลยเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากโจทก์ด่าผู้บังคับบัญชาในแผนกในขณะทำงานซึ่งมีพนักงานที่อยู่ด้วย อันเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยเป็นกรณีร้ายแรง จำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้า และมิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าค่าชดเชยและค่าเสียหายแก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
วันนัดพิจารณาคู่ความแถลงรับข้อเท็จจริงกันว่า โจทก์ได้รับค่าจ้างค้างจ่ายจากจำเลยแล้ว
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า การกระทำของโจทก์เพียงกล่าวคำในลักษณะที่ทำให้นางสาวสมปองเสียหายไม่ถึงกับทำร้ายร่างกายหรือทะเลาะวิวาท หลังจากนั้นโจทก์ยังคงทำงานต่อไปตามหน้าที่ไม่ทำให้จำเลยเสียหายจึงมิใช่ความผิดกรณีร้ายแรง แต่การกระทำของโจทก์มีลักษณะกระด้างกระเดื่องต่อผู้บังคับบัญชาและขัดคำสั่งของผู้บังคับบัญชาที่สั่งให้โจทก์หยุดพูดคุย จำเลยมีเหตุสมควรที่จะเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่ใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมจำเลยไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายตามฟ้องแก่โจทก์ แต่จำเลยจะต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน 26,100 บาท แก่โจทก์คำขออื่นให้ยก
จำเลย อุทธรณ์ ต่อ ศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า คดีขึ้นมาสู่การวินิจฉัยของศาลฎีกาตามอุทธรณ์ของจำเลยในปัญหาว่า การกระทำของโจทก์เป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยเป็นกรณีร้ายแรงอันจำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์หรือไม่ จำเลยอุทธรณ์ว่าการที่โจทก์ด่านางสาวสมปองผู้บังคับบัญชาซึ่งเป็นผู้ควบคุมงานต่อหน้าพนักงานอื่น60 กว่าคน ว่า “ตอแหล” ตามที่ศาลแรงงานกลางรับฟังมานั้นเป็นการกระด้างกระเดื่อง หยาบคายดูหมิ่น ก้าวร้าวต่อผู้บังคับบัญชา ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยหมวด 9 ข้อ 7 และข้อ 26 ทำให้จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างเสียหายแก่การปกครองและการบังคับบัญชาจึงเป็นความผิดกรณีร้ายแรง จำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยนั้น พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงปรากฏว่า โจทก์ได้ด่านางสาวสมปองซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของโจทก์ว่า “ตอแหล” ต่อหน้าพนักงานอื่นในสถานที่ทำงานขณะที่นางสาวสมปองสั่งห้ามพนักงานพูดเสียงดังเห็นว่า ตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยเอกสารหมาย ล.1 หมวด 9 เรื่องวินัยและความประพฤติทั่วไปของพนักงาน ข้อ 7 มีข้อความว่า “พนักงานต้องไม่แสดงกิริยาใช้วาจาวาดรูปภาพลามกอนาจาร หรือขีดเขียนข้อความหยาบคายก้าวร้าวดูหมิ่น ล่วงเกินหรือเหยียดหยามบุคคลใด ๆ ในสถานที่ทำการหรือบริเวณบริษัทฯ หรือไม่กล่าววาจายุยง ส่งเสริมส่อเสียด” และข้อ 26 มีข้อความว่า “พนักงานต้องปฏิบัติงานในหน้าที่ของตนที่ได้รับมอบหมายอย่างสุดความสามารถเพื่อให้ผลดีแก่บริษัทฯ และตัวพนักงานเอง และต้องเชื่อฟังปฏิบัติตามคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของผู้บังคับบัญชา ไม่แสดงอาการหยาบคายหรือกระด้างกระเดื่องต่อผู้บังคับบัญชา” การที่โจทก์ด่านางสาวสมปองโดยใช้ถ้อยคำว่า “ตอแหล” ซึ่งมีความหมายว่าเป็นคนพูดเท็จนั้นเป็นการแสดงกิริยากระด้างกระเดื่องต่อผู้บังคับบัญชาด้วยการใช้วาจาดูหมิ่น เหยียดหยาม และก้าวร้าวเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยดังกล่าวข้างต้นซึ่งจำเลยได้จัดไว้ในหัวข้อเรื่องวินัยและความประพฤติทั่วไปของพนักงานแยกต่างหากจากหัวข้อเรื่องความผิดร้ายแรงซึ่งได้ระบุการกระทำที่เป็นความผิดร้ายแรงไว้โดยเฉพาะแสดงให้เห็นชัดว่า จำเลยไม่ได้ถือว่าการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหมวด 9 ข้อ 7และข้อ 26 เป็นความผิดกรณีร้ายแรงแต่อย่างใด ดังนั้น เมื่อปรับการกระทำของโจทก์กับระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยดังกล่าวแล้วจะเห็นได้ว่าการกระทำของโจทก์เป็นเพียงฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยเป็นกรณีทั่วไป หาเป็นความผิดกรณีร้ายแรงไม่ กับทั้งได้พิเคราะห์พฤติการณ์การกระทำของโจทก์แล้วเห็นว่าเป็นเพียงการกระทบกระทั่งล่วงเกินกันธรรมดาอันเป็นปกติของพนักงานซึ่งทำงานอยู่ร่วมกันจำนวนมากย่อมจะหลีกเลี่ยงได้ยากไม่ทำให้จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างต้องเสียหายแก่การปกครองและการบังคับบัญชาเมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยเตือนโจทก์เป็นหนังสือมาก่อน จำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงต้องจ่ายค่าชดเชย ตามข้อ 46 แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงาน
พิพากษายืน