แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์มีเจตนาที่จะซื้อขายที่ดินพิพาทกับจำเลยที่ 1ให้เสร็จเด็ดขาดไป เหตุที่ไม่ได้มีการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทในวันนัดเกิดจากการบิดพลิ้วของจำเลยที่ 1ที่ไม่ไปตามกำหนดนัด ต่อมาจำเลยที่ 1 ขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ซึ่งทราบดีว่าจำเลยที่ 1 จะขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์และจำเลยที่ 1 ไม่เคยบอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินแก่โจทก์ และตั้งแต่จำเลยที่ 2 ซื้อที่ดินพิพาทมาจนกระทั่งขายให้จำเลยร่วมทั้งสอง จำเลยที่ 2 ไม่เคยมีโฉนดที่ดินพิพาทอยู่ในความครอบครองแทน ผิดปกติวิสัยผู้ที่ทำการซื้อขายที่ดินกันโดยทั่วไป ไม่น่าเชื่อว่ามีการซื้อขายกันโดยสุจริตการที่จำเลยที่ 2 รับโอนที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 จึงเป็นการทำให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 เสียเปรียบเป็นการฉ้อฉลโจทก์ โจทก์มีอำนาจฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่ดินระหว่างจำเลยทั้งสองได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 ผู้ได้ลาภงอกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237หมายถึงผู้ที่เป็นคู่กรณีทำนิติกรรมกับลูกหนี้โดยตรงส่วนบุคคลภายนอกในมาตรา 238 เป็นผู้ที่ได้รับโอนทรัพย์สินของลูกหนี้ต่อจากผู้ทำนิติกรรมกับลูกหนี้ จำเลยร่วมทั้งสองเป็นผู้ได้รับโอนที่ดินพิพาทของลูกหนี้ต่อจากผู้ทำนิติกรรมกับลูกหนี้ จึงเป็นบุคคลภายนอกตามความหมายของมาตรา 238หาได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 237 ไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2532 โจทก์ได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินโฉนดเลขที่ กับจำเลยที่ 1 ในราคา 300,000บาท โดยวางเงินมัดจำจำนวน 20,000 บาท กำหนดโอนกรรมสิทธิ์ในวันที่ 25 กันยายน 2532 หากจำเลยที่ 1 ผิดสัญญายอมเสียค่าปรับแก่โจทก์เป็นเงิน 60,000 บาท เมื่อถึงกำหนดจำเลยที่ 1ไม่ไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์แก่โจทก์ ถือเป็นการผิดสัญญาจำเลยที่ 1 ต้องชำระค่าปรับจำนวน 60,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ต่อมาวันที่ 29 พฤษภาคม 2533 จำเลยที่ 1จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินตามสัญญาจะซื้อจะขายดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 โดยไม่สุจริตซึ่งจำเลยทั้งสองรู้อยู่แล้วว่าเป็นทางทำให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบ โจทก์ได้แจ้งให้จำเลยที่ 1โอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินตามสัญญาและรับเงินค่าที่ดินส่วนที่เหลือแต่จำเลยที่ 1 เพิกเฉยขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระค่าปรับและดอกเบี้ยจำนวน 81,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของต้นเงิน 60,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2โดยให้จำเลยทั้งสองส่งมอบโฉนดเลขที่ 16549 แก่เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดเพชรบุรีเพื่อจดทะเบียนกลับคืนสู่สภาพเดิม หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามให้จับกุมคุมขังไว้และให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง ให้จำเลยที่ 1 ส่งมอบโฉนดเลขที่ 16549และจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์แก่โจทก์ หากจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามให้จับกุมคุมขังไว้จนกว่าจะส่งมอบ และให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่เคยทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินตามเอกสารท้ายฟ้องกับโจทก์ ลายมือชื่อในช่องผู้จะขายไม่ใช่ลายมือชื่อของจำเลยที่ 1 หนังสือสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินดังกล่าวเป็นเอกสารปลอม โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 16549 จากจำเลยที่ 1 โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา โจทก์ยื่นคำร้องขอให้เรียกนายประคอง มีล้ำและนางรัชภรณ์ มีล้ำ เข้ามาเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยร่วมทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 2 ซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 โดยสุจริตและปราศจากข้อผูกพัน โจทก์ไม่มีสิทธิเพิกถอนการโอนที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2จำเลยร่วมทั้งสองเป็นบุคคลภายนอกไม่เคยทราบความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงไม่ทราบมูลคดีระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองมาก่อน จำเลยร่วมทั้งสองซื้อที่ดินพิพาทโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพิกถอนการโอนที่ดินระหว่างจำเลยที่ 2กับจำเลยร่วมทั้งสอง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินตามโฉนดเลขที่ 16549 ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยร่วมทั้งสองตามหนังสือสัญญาขายที่ดินฉบับลงวันที่ 29 พฤษภาคม 2533 และ 28 ตุลาคม 2535 ตามลำดับให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนขายที่ดินดังกล่าวแก่โจทก์โดยให้โจทก์ชำระราคาที่ดินส่วนที่เหลือจำนวน 280,000 บาท แก่จำเลยที่ 1หากจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 กับให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเสียหายจำนวน 40,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสองและจำเลยร่วมทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ให้คู่ความฟังเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2539 จำเลยที่ 1 ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่2 มีนาคม 2539 นายสงคราม โตแสง ทายาทของจำเลยที่ 1ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยทั้งสองและจำเลยร่วมทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่11 กันยายน 2532 โจทก์ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทกับจำเลยที่ 1ในราคา 300,000 บาท วางเงินมัดจำให้จำเลยที่ 1 เป็นเงิน20,000 บาท ตกลงโอนกรรมสิทธิ์กันในวันที่ 25 กันยายน 2532หากจำเลยที่ 1 ผิดนัด ยอมเสียค่าปรับ 60,000 บาท ต่อมาวันที่29 พฤษภาคม 2533 จำเลยที่ 1 ขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองมีว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2หรือไม่ ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เหตุที่ไม่ได้มีการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทในวันนัดดังกล่าวน่าเชื่อว่าเกิดจากการบิดพลิ้วของจำเลยที่ 1 ไม่ไปตามกำหนดนัด ต่อมาจำเลยที่ 1 ขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ได้ราคาถึง 700,000 บาทสูงกว่าราคาที่ขายให้แก่โจทก์ 400,000 บาท แสดงให้เห็นถึงสาเหตุที่จำเลยที่ 1 บิดพลิ้วไม่มาจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ได้ยิ่งขึ้น จำเลยที่ 2 เป็นบุตรเขยจำเลยที่ 1 มีบ้านอยู่ชิดติดกันมีอาชีพเป็นนายหน้าขายที่ดินด้วยกันย่อมทราบดีว่าจำเลยที่ 1 จะขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์และจำเลยที่ 1 ไม่เคยบอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินแก่โจทก์นอกจากนี้จำเลยที่ 2 ยังเบิกความว่า ซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1ในราคา 700,000 บาท ชำระเป็นเงินสดให้จำเลยที่ 1ก่อน 300,000 บาท และรับภาระชำระหนี้นางสุวรรณาแทนจำเลยที่ 1 อีก 400,000 บาท จำไม่ได้ว่านางสุวรรณาคิดดอกเบี้ยเท่าไร ถ้านางสุวรรณาคิดเท่าไรก็จะจ่ายเท่านั้น และตั้งแต่ซื้อที่ดินพิพาทมาจนกระทั่งขายให้จำเลยร่วมทั้งสอง จำเลยที่ 2ไม่เคยมีโฉนดที่ดินพิพาทอยู่ในความครอบครองเลย ผิดปกติวิสัยผู้ที่ทำการซื้อขายที่ดินกันโดยทั่วไปจึงไม่น่าเชื่อว่ามีการซื้อขายกันโดยสุจริต ดังนั้น การที่จำเลยที่ 2 รับโอนที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 จึงเป็นการทำให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1เสียเปรียบเป็นการฉ้อฉลโจทก์ โจทก์มีอำนาจฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่ดินระหว่างจำเลยทั้งสองได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237
ส่วนฎีกาของจำเลยร่วมทั้งสองที่ว่าจำเลยร่วมทั้งสองได้รับการคุ้มครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237ซึ่งบัญญัติว่า เจ้าหนี้ชอบที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนเสียได้ซึ่งนิติกรรมใด ๆ อันลูกหนี้ได้กระทำลงทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ แต่ความข้อนี้ท่านมิให้ใช้บังคับถ้าปรากฏว่าในขณะที่ทำนิติกรรมนั้น บุคคลซึ่งเป็นผู้ได้ลาภงอกแต่การนั้นมิได้รู้เท่าถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้เจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบนั้นด้วย ซึ่งข้อเท็จจริงในคดีนี้จำเลยร่วมทั้งสองได้ซื้อที่ดินพิพาทมาโดยสุจริต ขณะที่ซื้อที่ดินพิพาทจำเลยร่วมทั้งสองไม่เคยทราบมาก่อนเลยว่า โจทก์ฟ้องคดีเพิกถอนการทำนิติกรรมซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2นั้น เห็นว่า ผู้ได้ลาภงอกในมาตรา 237 หมายถึงผู้ที่เป็นคู่กรณีทำนิติกรรมกับลูกหนี้โดยตรง ส่วนบุคคลภายนอกในมาตรา 238เป็นผู้ที่ได้รับโอนทรัพย์สินของลูกหนี้ต่อจากผู้ทำนิติกรรมกับลูกหนี้ จำเลยร่วมทั้งสองเป็นผู้ที่ได้รับโอนที่ดินพิพาทของลูกหนี้ต่อจากผู้ทำนิติกรรมกับลูกหนี้ จึงเป็นบุคคลภายนอกตามความหมายของมาตรา 238 หาได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 237 ไม่
พิพากษายืน