แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อปรากฏว่าหลังจากประสบอันตรายแล้วลูกจ้างโจทก์ไปทำงานตามปกติทุกวัน แต่จำเลยฟังข้อเท็จจริงผิดไปว่าลูกจ้างโจทก์ไม่สามารถทำงานได้เป็นเวลา 21 วัน จึงได้ออกคำสั่งให้โจทก์จ่ายค่าทดแทนกรณีลูกจ้างไม่สามารถทำงานได้ คำสั่งของจำเลยจึงไม่ชอบ และแม้โจทก์จะเป็นผู้ทำให้จำเลยเข้าใจข้อเท็จจริงนี้ผิดไปก็ตาม การเพิกถอนคำสั่งของจำเลยอันเกิดจากความเข้าใจผิดก็ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยแต่อย่างใด ทั้งหามีกฎหมายใดบัญญัติให้โจทก์สิ้นสิทธิที่จะนำคดีมาสู่ศาลในกรณีนี้ไม่ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้รับคำสั่งเงินทดแทนของพนักงานเงินทดแทนให้จ่ายเงินทดแทนแก่ลูกจ้างผู้ประสบอันตรายเป็นค่าทดแทนกรณีสูญเสียสมรรถภาพของฟันซี่ที่หักตลอดเวลาที่ต้องรักษาพยาบาล ๒๑ วัน และเป็นค่ารักษาพยาบาลอีกส่วนหนึ่ง โจทก์อุทธรณ์ว่าไม่ควรนำค่าครองชีพไปรวมเป็นฐานคำนวณค่าทดแทนด้วย จำเลยมีคำสั่งอุทธรณ์เงินทดแทนให้โจทก์จ่ายค่าทดแทนแก่ลูกจ้างโจทก์ กรณีไม่สามารถทำงานได้เป็นเวลา ๒๑ วัน อีกโสดหนึ่ง โจทก์ไม่เห็นด้วยเพราะโจทก์มิได้อุทธรณ์ในปัญหาที่จำเลยสั่งและเมื่อประสบอันตรายแล้วลูกจ้างโจทก์คงมาทำงานตามปกติ ขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนคำสั่งอุทธรณ์เงินทดแทนของจำเลย โดยให้เป็นไปตามคำสั่งเงินทดแทนของพนักงานเงินทดแทน
จำเลยให้การว่า จำเลยมีอำนาจที่จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อบกพร่องในการปฏิบัติงานรวมตลอดถึงคำสั่งของส่วนงานในบังคับบัญชาของจำเลยได้การพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยได้สั่งตามพยานหลักฐานที่ปรากฏ และหนังสือของโจทก์เองก็ระบุว่าลูกจ้างของโจทก์ประสบอันตรายไม่สามารถทำงานติดต่อกันได้เป็นเวลา ๒๑ วัน คำสั่งของจำเลยชอบด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งอุทธรณ์ของจำเลย
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงานฯ ข้อ ๖๐ วรรคสอง กำหนดว่า เมื่ออธิบดีพิจารณาอุทธรณ์และมีคำสั่งแล้ว ถ้าคู่กรณีไม่เห็นชอบก็ให้นำคดีไปสู่ศาลได้ โดยมิได้กำหนดว่าถ้าอธิบดีมิได้มีคำสั่งผิดพลาดบกพร่องไปจากพยานหลักฐานที่ปรากฏแล้วให้ถือว่าเป็นคำสั่งที่ชอบ ดังนี้ เมื่อความจริงหลังจากประสบอันตรายแล้วลูกจ้างโจทก์ได้ไปทำงานตามปกติทุกวันแต่จำเลยฟังข้อเท็จจริงผิดไปว่าลูกจ้างโจทก์ไม่สามารถทำงานได้ ๒๑ วัน จึงได้ออกคำสั่งอุทธรณ์เงินทดแทนแก้คำสั่งเงินทดแทนของพนักงานเงินทดแทน เป็นให้โจทก์จ่ายค่าทดแทนกรณีลูกจ้างไม่สามารถทำงานได้เพิ่มขึ้นอีกโสดหนึ่ง จึงจะถือว่าคำสั่งอุทธรณ์เงินทดแทนของจำเลยเป็นคำสั่งที่ชอบไม่ได้ โจทก์ได้รับความเสียหายจากคำสั่งดังกล่าวย่อมมีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนเสีย แม้ในชั้นสอบสวนของพนักงานเงินทดแทน โจทก์ได้มีหนังสือไปยังแรงงานจังหวัดว่า ลูกจ้างโจทก์ประสบอันตรายเมื่อวันที่ ๑๙ มิถุนายน ๒๕๒๔ และได้กลับเข้าทำงานเมื่อวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๒๔ รวม ๒๑ วัน ทำให้จำเลยเข้าใจข้อเท็จจริงผิดไปว่าลูกจ้างโจทก์ไม่สามารถทำงานได้ก็ตาม แต่การเพิกถอนคำสั่งของจำเลยอันเกิดจากความเข้าใจผิดเสียก็ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยแต่อย่างใด ทั้งหามีกฎหมายใดบัญญัติให้โจทก์สิ้นสิทธิที่จะนำคดีมาสู่ศาลในกรณีนี้ไม่ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
พิพากษายืน