คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3174/2526

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาล โดยจำเลยอ้างว่าไม่มีพินัยกรรมถ้าปรากฏว่าเจ้ามรดกได้ทำพินัยกรรมไว้ โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับพินัยกรรมก็เป็นทายาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1603 จำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกต้องรับผิดต่อทายาทตามมาตรา 1720 โดยลักษณะตัวแทนตัวการ การที่จำเลยครอบครองทรัพย์มรดกในระหว่างจัดการถือได้ว่าเป็นการครอบครองแทนทายาท จำเลยจะยกอายุความตาม มาตรา 1754 ขึ้นต่อสู้ทายาทไม่ได้ ดังนั้นโจทก์จึงมีสิทธิฟ้องคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกไม่เกินกว่าห้าปีนับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลงตาม มาตรา 1733วรรคสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของนางกิมเฮียะตามคำพิพากษานางกิมเฮียะถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2512 เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2512 นางกิมเฮียะทำพินัยกรรมกำหนดให้โรงพยาบาลสงฆ์มีสิทธิที่จะได้รับทรัพย์มรดกบางส่วนเป็นเงิน 2,000,000 บาท แต่จำเลยไม่ยอมแบ่งมรดกให้ ขอให้จำเลยแบ่งมรดกจำนวน 2,000,000 บาทแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของนางกิมเฮียะตามคำสั่งศาลได้แบ่งมรดกให้แก่ทายาทโดยธรรมและการกุศลต่าง ๆ ตามเจตนารมณ์ของเจ้ามรดกไปหมดแล้วและได้ยื่นบัญชีปิดการจัดการมรดกต่อศาลเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2524 นางกิมเฮียะมิได้ทำพินัยกรรมตามฟ้อง โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องมรดก ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสงฆ์ทราบข้อกำหนดในพินัยกรรมตามฟ้องตั้งแต่ พ.ศ. 2512 แต่โจทก์เพิ่งนำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2524จึงพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่ผู้รับพินัยกรรมได้รู้ถึงสิทธิซึ่งตนมีอยู่ตามพินัยกรรมและพ้นกำหนดสิบปีนับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย คดีโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง

วันนัดสืบพยานโจทก์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดสืบพยาน แล้ววินิจฉัยว่าคดีของโจทก์ขาดอายุความ พิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมเป็นพับ

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาคดีใหม่ในประเด็นข้ออื่นที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้ แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมให้ศาลชั้นต้นพิจารณาสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า นางกิมเฮียะถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 12เมษายน 2512 จำเลยยื่นคำร้องขอให้ตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกโดยอ้างว่านางกิมเฮียะมิได้ทำพินัยกรรมไว้ นายชัดและนายผลซึ่งเป็นนายอำเภอและนายกเทศมนตรีกับนายซ้งยื่นคำคัดค้านโดยอ้างว่านางกิมเฮียะทำพินัยกรรมไว้ลงวันที่ 1 เมษายน 2512 กำหนดให้นายชัดและนายผลเป็นผู้จัดการมรดกกับให้นายซ้งมีส่วนได้รับมรดก ขอให้ตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดก ต่อมาผู้คัดค้านถอนคำคัดค้าน วันที่ 28 กันยายน 2516 ศาลฎีกาพิพากษาตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดก โจทก์เคยเรียกร้องให้จำเลยแบ่งมรดกให้แก่โรงพยาบาลสงฆ์ตามพินัยกรรม แต่จำเลยไม่ยอมแบ่งให้ โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2524 แล้ววินิจฉัยข้อกฎหมายในปัญหาเรื่องอายุความว่า ผู้รับพินัยกรรมเป็นทายาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1603 หากนางกิมเฮียะทำพินัยกรรมไว้จริง โจทก์ก็เป็นทายาท จำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกต้องรับผิดต่อทายาทตามมาตรา 1720 โดยลักษณะตัวแทนตัวการ การที่จำเลยครอบครองมรดกในระหว่างจัดการมรดกถือได้ว่าเป็นการครอบครองแทนทายาท จำเลยจะยกอายุความตาม มาตรา 1754 ขึ้นต่อสู้ทายาทไม่ได้และทายาทมีสิทธิฟ้องคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดก ไม่เกินกว่าห้าปีนับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลงตาม มาตรา 1733 วรรคสอง จำเลยให้การว่าได้ยื่นบัญชีปิดการจัดการมรดกต่อศาลจังหวัดฉะเชิงเทรา เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2524 ฉะนั้นการที่โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2524 คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

พิพากษายืน

Share