แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การเพิกถอนการโอนทรัพย์สินหรือการกระทำใด ๆ ที่จะเป็นผลให้เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ได้นั้น ต้องเป็นการเพิกถอนตามมาตรา 115 คือเป็นเรื่องที่ลูกหนี้โอนทรัพย์สินหรือกระทำการใด ๆ ในระหว่างระยะเวลาสามเดือนก่อนมีการขอให้ล้มละลายและภายหลังนั้น ซึ่งหมายถึงการโอนที่กระทำก่อนศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เท่านั้น ไม่รวมถึงการโอนที่กระทำภายหลังศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์แล้ว ดังนั้นหากมีการชำระหนี้ภายหลังศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ การชำระหนี้นั้นก็เป็นโมฆะ ไม่มีผลบังคับแม้เจ้าหนี้จะรับชำระหนี้ไว้ ก็ไม่ทำให้หนี้นั้นระงับไป เจ้าหนี้มีหน้าที่ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้สำหรับหนี้นั้นภายในกำหนดเวลาตามมาตรา 91 การที่เจ้าหนี้ไม่ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายในกำหนดเวลาดังกล่าวแม้ต่อมาศาลจะมคำสั่งให้เพิกถอนการชำระหนี้รายนี้เสียเมื่อการเพิกถอนไม่เกี่ยวกับปัญหาตามมาตรา 115 เจ้าหนี้ก็ไม่มีสิทธิยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามมาตรา 92 ได้.
ย่อยาว
มูลกรณีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองเป็นบุคคลล้มละลาย วันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๒๕ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ ๒ เด็ดขาด วันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๒๕ วันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๒๕ วันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๖ และวันที่ ๒๙เมษายน ๒๕๒๖ จำเลยที่ ๒ ได้ผ่อนชำระหนี้เงินกู้ให้เจ้าหนี้ครั้งละ ๑๐,๐๐๐ บาท ต่อมาศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนการชำระหนี้ดังกล่าว เจ้าหนี้จึงได้คืนเงินที่รับชำระหนี้ไว้แก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามคำสั่งศาลแล้วมายื่นคำขอรับชำระหนี้เงินกู้ดังกล่าวต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเห็นชอบให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้เฉพาะหนี้ที่ถูกเพิกถอนการชำระหนี้ในวันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๒๕ และวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๒๕ ส่วนหนี้ที่ถูกเพิกถอนการชำระหนี้ในวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๖ และวันที่ ๒๙ เมษายน ๒๕๒๖ ให้ยกเสีย
เจ้าหนี้อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ที่ถูกเพิกถอนการชำระหนี้ในวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๖ และวันที่ ๒๙ เมษายน ๒๕๒๖ ด้วย
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าคดีคงมีปัญหาในชั้นนี้เฉพาะการเพิกถอนการชำระหนี้ในวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๖ และวันที่ ๒๙ เมษายน๒๕๒๖ พร้อมดอกเบี้ยรวม ๒๐,๑๖๔.๖๒ บาท ว่าธนาคารเจ้าหนี้มีสิทธิยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๙๒ แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช ๒๔๘๓ ได้หรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า การเพิกถอนการโอนทรัพย์สินหรือการกระทำใด ๆ ที่จะเป็นผลให้เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ได้นั้น มาตรา ๙๒ แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช ๒๔๘๓ บัญญัติไว้ชัดแจ้งว่าต้องเป็นการเพิกถอนตามมาตรา ๑๑๕ การเพิกถอนตามมาตรานี้เป็นเรื่องที่ลูกหนี้โอนทรัพย์สินหรือกระทำการใด ๆ ในระหว่างระยะเวลาสามเดือนก่อนมีการขอให้ล้มละลายและภายหลังนั้นซึ่งมีปัญหาว่า จะรวมถึงการโอนทรัพย์สินของลูกหนี้ภายหลังที่ศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ด้วยหรือไม่ ข้อนี้เห็นว่า เมื่อศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้แล้ว มาตรา ๒๔ แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช ๒๔๘๓ ห้ามมิให้ลูกหนี้กระทำการใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินอีกแสดงว่าการโอนทรัพย์สินหรือกระทำการใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ซึ่งลูกหนี้กระทำหรือยินยอมให้กระทำในระหว่างระยะเวลาสามเดือนก่อนมีการขอให้ล้มละลายและภายหลังนั้นตามมาตรา ๑๑๕ หมายถึงการโอนที่กระทำกันก่อนศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เท่านั้น หากจะตีความให้รวมถึงการโอนที่กระทำภายหลังศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์แล้วด้วย บทบัญญัติ มาตรา ๒๔ ก็จะไร้ผล ดังนั้นการชำระหนี้ดังที่กล่าวมาแล้วจึงเป็นเรื่องต้องห้ามตามมาตรา ๒๔ เป็นผลให้การชำระหนี้นั้นเป็นโมฆะไม่มีผลบังคับดังนั้นแม้ธนาคารเจ้าหนี้จะรับชำระหนี้ไว้ ก็ไม่ทำให้หนี้นั้นระงับไปธนาคารเจ้าหนี้จึงมีหน้าที่ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้สำหรับหนี้นั้นภายในกำหนดเวลาตามมาตรา ๙๑ การที่เจ้าหนี้ไม่ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายในกำหนดเวลาดังกล่าว แม้ต่อมาศาลจะมีคำสั่งให้เพิกถอนการชำระหนี้รายนี้เสีย เมื่อการเพิกถอนไม่เกี่ยวกับปัญหาตามมาตรา ๑๑๕ ดังที่กล่าวมาแล้วธนาคารเจ้าหนี้ก็ไม่มีสิทธิยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๙๒ แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช๒๔๘๓ ได้ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยคดีมาศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่าให้บังคับคดีไปตามคำสั่งของศาลชั้นต้น.