คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3159/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยใช้เครื่องจักรที่มีกำลังรวมเกินกว่าสองแรงม้าขึ้นไปและใช้คนงานเกินกว่าเจ็ดคนเพื่อดำเนินการประกอบโครงเหล็กหลังคาสำหรับใช้ในการก่อสร้างขึ้นภายในอาคารสถานที่ของจำเลย แม้เป็นการชั่วคราวและมิได้ทำเพื่อจำหน่าย อาคารสถานที่ดังกล่าวก็เป็นโรงงานตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.2512 มาตรา 5 แล้ว เมื่อจำเลยไม่ได้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานจากปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมหรือผู้ซึ่งปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมมอบหมายให้ออกใบอนุญาต จำเลยจึงมีความผิดตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2512 มาตรา 43 และ 44
การเป็นโรงงานตามพระราชบัญญัติโรงงาน นอกจากจะต้องเป็นไปตามมาตรา 5 แล้ว ต้องเป็นการประกอบกิจการโรงงานตามกฎกระทรวงท้ายพระราชบัญญัติโรงงานด้วย.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันตั้งโรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์โลหะสำหรับใช้ในการก่อสร้าง โดยติดตั้งเครื่องจักรมอเตอร์ไฟฟ้าขนาดกำลังแรงม้ารวมทั้งหมด 125.25แรงม้า ใช้คนงาน 8 คน เพื่อควบคุมเครื่องจักรที่บ้านอันเป็นโรงงานที่จัดอยู่ในประเภทหรือชนิดของโรงงานตามกฎกระทรวงฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2512) โดยจำเลยทั้งสองมิได้รับใบอนุญาตจากปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมหรือผู้ซึ่งปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมมอบหมาย หลังจากนั้น จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันประกอบกิจการโรงงานดังกล่าวโดยไม่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการโรงงานจากปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมหรือผู้ซึ่งปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมมอบหมายให้ออกใบอนุญาต ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2512มาตรา 5, 8, 12, 43, 44 พระราชบัญญัติโรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2518 มาตรา 5 พระราชบัญญัติโรงงาน (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2522 มาตรา3, 4 กฎกระทรวงฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2512) เรื่องกำหนดประเภทและชนิดโรงงาน ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ให้จำเลยทั้งสองหยุดประกอบกิจการโรงงานและรื้อถอนเครื่องจักรดังกล่าว
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2512 มาตรา 5, 8, 12, 43, 44 พระราชบัญญัติโรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2518 มาตรา 5 พระราชบัญญัติโรงงาน(ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2522 มาตรา 3, 4 กฎกระทรวงฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2512) เรื่อง กำหนดประเภทและชนิดโรงงาน ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83ฐานตั้งโรงงานไม่รับอนุญาต ปรับคนละ 10,000 บาท ฐานประกอบกิจการโรงงานไม่รับอนุญาต ปรับคนละ 20,000 บาท รวมปรับคนละ 30,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้บังคับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ให้จำเลยทั้งสองหยุดประกอบกิจการโรงงานจนกว่าจะได้รับอนุญาต คำขออื่นให้ยก
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาจะต้องวินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสองได้ตั้งโรงงานโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และไม่ได้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน อันเป็นความผิดตามฟ้องโจทก์หรือไม่ ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่าการประกอบโครงเหล็กหลังคาเป็นการชั่วคราว ไม่มีวัตถุประสงค์ตั้งโรงงานเพื่อผลิตโครงสร้างอาคาร จึงถือว่าจำเลยทั้งสองไม่มีเจตนาตั้งโรงงานหรือประกอบกิจการโรงงานนั้น เห็นว่า เมื่อจำเลยทั้งสองได้ใช้เครื่องจักรที่มีกำลังรวมเกินกว่าสองแรงม้าขึ้นไปและใช้คนงานเกินกว่าเจ็ดคน แม้ดำเนินการในอาคารสถานที่ของบริษัทสี่พระยาวัตถุโบราณและเฟอร์นิเจอร์ จำกัด ซึ่งจำเลยที่ 2เป็นกรรมการผู้จัดการอยู่ด้วย ก็ต้องถือว่าอาคารสถานที่ดังกล่าวเป็นโรงงานตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.2512 และเป็นโรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์โลหะสำหรับใช้ในการก่อสร้างหรือติดตั้งในการทำส่วนประกอบสำหรับใช้ในการก่อสร้างอาคารจึงเป็นโรงงานตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 1(พ.ศ. 2512) และบัญชีท้ายกฎกระทรวงอันดับที่ 63(2) เมื่อจำเลยทั้งสองไม่ได้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตจากปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมหรือผู้ซึ่งปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมมอบหมายให้ออกใบอนุญาต จำเลยก็ต้องมีความผิดตามฟ้องโจทก์ ที่จำเลยอ้างว่า จำเลยไม่มีเจตนาตั้งโรงงานผลิตหรือประกอบโครงสร้างเพื่อจำหน่ายนั้นเห็นว่า ตามบทมาตรากฎหมายดังกล่าวไม่ได้มีข้อจำกัดว่าต้องเพื่อเป็นการจำหน่ายจึงจะมีความผิด ที่จำเลยอ้างว่าจุดประสงค์ของพระราชบัญญัติโรงงานมิได้มุ่งหมายว่าการใช้มอเตอร์ไฟฟ้าที่มีกำลังแรงม้าและจำนวนคนงานเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด จะต้องขอจดทะเบียนตั้งโรงงานตามพระราชบัญญัติดังกล่าวทั้งหมดนั้นเห็นว่า การเป็นโรงงานตามพระราชบัญญัติโรงงาน นอกจากจะต้องเป็นไปตามมาตรา 5 แล้วต้องเป็นไปตามกฎกระทรวงตามพระราชบัญญัติโรงงานด้วย เพราะฉะนั้นการทำสวนทำไร่ ซึ่งเจ้าของสวน เจ้าของไร่ใช้มอเตอร์ไฟฟ้า ฉุดระหัดวิดน้ำมีกำลังแรงม้าเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดตลอดจนการจ้างช่างมาซ่อมแซมบ้าน ซึ่งช่างต้องมีมอเตอร์ไฟฟ้าเกิน 5 แรงม้าตามที่จำเลยอ้างมานั้น จึงไม่ต้องไปขออนุญาตตั้งโรงงานเพราะการประกอบกิจการดังกล่าว มิใช่เป็นการประกอบกิจการโรงงานตามกฎกระทรวงท้ายพระราชบัญญัติโรงงาน ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share