คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3155/2532

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยทำสัญญาจ้างโจทก์ฉบับแรกไม่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างต่อมาได้ทำสัญญาจ้างฉบับที่ 2 และที่ 3 โดยไม่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างเช่นเดียวกัน และสัญญาจ้างฉบับหลังไม่มีข้อความให้ยกเลิกสัญญาจ้าง ฉบับแรก เมื่อโจทก์ได้ทำงานกับจำเลยติดต่อกันตลอดมา ตามพฤติการณ์ดังกล่าวย่อมแสดงว่า จำเลยได้ทำสัญญาจ้างโจทก์รวมสามฉบับเพื่อประสงค์ที่จะให้อายุการทำงานของโจทก์น้อยลงโดยไม่นับอายุงานติดต่อกัน เพื่อไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยหรือจ่ายให้น้อยลง อันเป็นการหลีกเลี่ยงประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน กรณีของโจทก์ถือได้ว่าโจทก์ได้ทำงานติดต่อกันตามความหมายของประกาศกระทรวงมหาดไทยดังกล่าว ข้อ 46 แล้ว
จำเลยจ่ายค่าอาหารกลางวันให้เฉพาะลูกจ้างที่มาทำงานในวันทำงานปกติ ส่วนลูกจ้างซึ่งมิได้มาทำงานหรือในวันหยุด จำเลยไม่จ่ายให้ ค่าอาหารกลางวันจึงมีลักษณะเป็นการให้สวัสดิการแก่ลูกจ้างอย่างหนึ่ง ไม่ใช่ค่าจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 2

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลยตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๙ ได้ค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ ๔,๓๕๐ บาท ค่าอาหารกลางวันเดือนละ ๘๐ บาท รวมเป็นค่าจ้างเดือนละ ๖,๔๓๐ บาท จำเลยเลิกจ้างโจทก์ตั้งแต่วันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๓๑ โดยโจทก์ไม่ได้กระทำผิดขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน ๖ เดือน เป็นเงิน ๓๘,๕๘๐ บาทสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ๑ เดือน เป็นเงิน ๖,๔๓๐ บาทค่าจ้างประจำเดือนสิงหาคม ๒๕๓๑ จำนวน ๖,๔๓๐ บาท และเงินบำเหน็จจำนวน ๖๔,๓๐๐ บาท แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยจ้างโจทก์โดยมีกำหนดอายุสัญญาจ้างแน่นอนเพียงคราวละ ๑ ปี เมื่อครบสัญญาก็ทำสัญญาจ้างกันใหม่ เหตุที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์กระทำผิดต่อกฎหมาย โดยปลอมเอกสารสำคัญของจำเลย ค่าอาหารกลางวันไม่ใช่ค่าจ้างจำเลยไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ค่าอาหารกลางวันมิใช่ค่าจ้างโจทก์ได้ค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ ๔,๓๕๐ บาท โจทก์ไม่ได้กระทำผิดตามข้อกล่าวหาของจำเลยพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยเป็นเงิน ๑๓,๐๕๐ บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเงิน ๔,๓๕๐ บาทและค่าจ้างค้างชำระเป็นเงิน ๒,๖๑๐ บาท ให้แก่โจทก์
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่าประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ ๒ ได้ให้ความหมายของคำว่า “ค่าจ้าง” หมายความว่า “เงินหรือเงินและสิ่งของที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นการตอบแทนการทำงานในเวลาทำงานปกติของวันทำงาน…” แต่ค่าอาหารกลางวันนั้น ปรากฏว่าจำเลยจ่ายให้แก่เฉพาะลูกจ้างซึ่งมาทำงานในวันทำงานปกติ ส่วนลูกจ้างซึ่งมิได้มาทำงานหรือในวันหยุด ลูกจ้างไม่มีสิทธิได้รับค่าอาหารกลางวันจึงเห็นได้ว่าค่าอาหารกลางวันนั้นจำเลยจ่ายให้แก่ลูกจ้างโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือการครองชีพของลูกจ้างซึ่งมาทำงานในวันนั้น อันมีลักษณะเป็นการให้สวัสดิการแก่ลูกจ้างอย่างหนึ่ง ไม่ใช่จำเลยจ่ายให้แก่ลูกจ้างเพื่อตอบแทนการทำงานของลูกจ้าง ฉะนั้นค่าอาหารกลางวันจึงมิใช่ค่าจ้างตามความหมายของประกาศกระทรวงมหาดไทยฉบับดังกล่าว
ข้อที่โจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์มีสิทธินับอายุการทำงานตามสัญญาจ้างเอกสารหมาย ล.๑ ถึงหมาย ล.๓ ติดต่อกันนั้น ปัญหาข้อนี้ข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างของจำเลย และในวันที่ ๒ พฤษภาคม ๒๕๒๓ โจทก์และจำเลยได้ทำหนังสือสัญญาจ้างตามเอกสารหมาย ล.๑ ต่อมาเมื่อวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๒๘ ได้ทำหนังสือสัญญาจ้างกันใหม่ตามเอกสารหมาย ล.๒ ซึ่งตามหนังสือสัญญาจ้างเอกสารหมาย ล.๑ ไม่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้ และหนังสือสัญญาจ้างตามเอกสารหมาย ล.๒ ก็ไม่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้เช่นฉบับแรกและไม่มีข้อความว่า ให้ยกเลิกสัญญาจ้างตามเอกสารหมาย ล.๑ และในวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๓๐ โจทก์จำเลยได้ทำหนังสือสัญญาจ้างอีกฉบับหนึ่ง ตามเอกสารหมาย ล.๓ ซึ่งไม่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้และไม่มีข้อความว่าให้ยกเลิกสัญญาจ้างตามเอกสารหมาย ล.๒ ด้วยทั้งโจทก์ได้ทำงานกับจำเลยติดต่อกันตลอดมา ศาลฎีกาเห็นว่า ตามพฤติการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นได้ว่า จำเลยได้ทำสัญญาจ้างโจทก์รวมสามฉบับเพื่อประสงค์ที่จะให้อายุการทำงานของโจทก์น้อยลงโดยไม่นับอายุการทำงานติดต่อกัน เพื่อไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยหรือจ่ายค่าชดเชยให้น้อยลง อันเป็นการหลีกเลี่ยงประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อการคุ้มครองแรงงานโดยแจ้งชัดอยู่ในตัว กรณีของโจทก์จึงถือได้ว่าโจทก์ได้ทำงานติดต่อกันตามความหมายของประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ ๔๖ ซึ่งครบสามปีขึ้นไปแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามข้อ ๔๖ (๓) โจทก์ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ ๔,๓๕๐ บาท จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยจำนวน ๒๖,๑๐๐ บาท อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน ๒๖,๑๐๐ บาท ให้แกโจทก์นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share