คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3154/2532

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คณะกรรมการของสหภาพแรงงานเป็นผู้แทนที่มีอำนาจดำเนินกิจการของสหภาพแรงงาน หากคณะกรรมการของสหภาพแรงงานไม่ประสงค์จะดำเนินกิจการในฐานะเป็นผู้แทนทั้งหมด ก็มีสิทธิที่จะตกลงมอบหมายให้กรรมการของสหภาพแรงงานคนหนึ่งคนใดหรือหลายคนรวมกันทำกิจการแทนคณะกรรมการของสหภาพแรงงานได้ การดำเนินคดีของสหภาพแรงงานจำเลยที่ 1 ต้องกระทำร่วมกันโดยจำเลยที่ 2-14 ซึ่งเป็นคณะกรรมการ เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 3ผู้เดียวลงชื่อแต่งตั้ง ส. เป็นทนายความให้มีสิทธิอุทธรณ์ในนามจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2-14 ซึ่งเป็นคณะกรรมการของจำเลยที่ 1มิได้มอบหมายให้จำเลยที่ 3 ดำเนินคดีแทนคณะกรรมการแต่อย่างใดจึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 3 เป็นผู้แทนของจำเลยที่ 1 อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ที่ ส. ทนายความลงชื่อเป็นผู้อุทธรณ์ จึงเป็นอุทธรณ์ที่ยื่นโดยบุคคลที่ไม่มีอำนาจโดยชอบ.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทสหภาพแรงงานตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 โดยจำเลยที่ 2 เป็นประธาและจำเลยที่ 3 ถึงที่ 14 เป็นกรรมการ จำเลยที่ 1 ยื่นข้อเรียกร้องต่อโจทก์แล้วขอถอนไป พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานพยายามขจัดข้อโต้แย้งโดยขอให้เจรจาหาข้อยุติ จำเลยปฏิเสธการปรึกษาหารือเพื่อหาข้อยุติ วันที่ 14 มีนาคม 2531 โจทก์ได้รับหนังสือแจ้งการนัดหยุดงานจากจำเลยที่ 1 อ้างว่าการเจรจาและการไกล่เกลี่ยระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ไม่อาจตกลงกันได้ จึงเป็นข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ ที่ประชุมของจำเลยที่ 1 จึงมีมติให้นัดหยุดงานในวันที่ 15 มีนาคม 2531 เวลา 8 นาฬิกา เป็นต้นไป โจทก์มีหนังสือคัดค้านว่าจำเลยที่ 1 กับพวกไม่มีสิทธิแจ้งการนัดหยุดงาน และมีคำสั่งให้ลูกจ้างของโจทก์ทุกคนทำงานต่อไป จำเลยที่ 1 ถึงที่14 และลูกจ้างส่วนหนึ่งไม่ยอมเข้าทำงาน เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสิบสี่และสมาชิกของจำเลยที่ 1ยกเลิกการนัดหยุดงานที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และให้กลับเข้าทำงานตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของโจทก์ต่อไป
จำเลยทั้งสิบสี่ให้การว่า จำเลยกระทำการตามขั้นตอนกฎหมายไม่ได้ละเมิดโจทก์ โจทก์ไม่ได้รับความเสียหาย จำเลยมีสิทธินัดหยุดงาน จำเลยรวมทั้งลูกจ้างของโจทก์ยังปฏิบัติงานตามปกติโจทก์ไม่มีสิทธินำคดีมาฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 14 และลูกจ้างของโจทก์ที่นัดหยุดงานยกเลิกการหยุดงาน และเข้าทำงานตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของโจทก์
จำเลยทั้งสิบสี่อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา โจทก์ยื่นคำแถลงฉบับลงวันที่ 7 กันยายน 2531 มีใจความว่จำเลยที่ 3 ซึ่งลาออกจากงานตั้งแต่วันที่ 2 มิถุนายน 2531 ได้หมดอำนาจการเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 ไปแล้ว ใบแต่งทนายทนายของจำเลยที่ 1 ที่จำเลยที่ 3 ลงนามจึงไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วได้ความว่า จำเลยที่ 1 ได้ยื่นอุทธรณ์เมื่อวันที่6 พฤษภาคม 2531 โดยนายสุรเดช จิตรจงรักษ์ทนายความเป็นผู้ลงชื่อใช้สิทธิอุทธรณ์โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1ได้แต่งตั้งนายสุรเดช จิตรจงรักษ์ เป็นทนายความ ศาลฎีกาจึงได้มีคำสั่งลงวันที่ 15 สิงหาคม 2531 ให้จำเลยที่ 1 ทำใบแต่งทนายความแต่งตั้งนายสุรเดช จิตรจงรักษ์ ให้ถูกต้องจำเลยที่ 1โดยจำเลยที่ 3 ในฐานะกรรมการของจำเลยที่ 1 ได้ลงชื่อแต่งตั้งนายสุรเดช จิตรจงรักษ์ เป็นทนายความตามใบแต่งทนายความลงวันที่ 29 สิงหาคม 2531 ปัญหามีว่าจำเลยที่ 3 มีอำนาจแต่งตั้งทนายความในฐานะเป็นผู้แทนของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคลหรือไม่ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทสหภาพแรงงานตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 87 และการดำเนินกิจการของสหภาพแรงงานนั้นจะต้องเป็นไปตามมาตรา 100ซึ่งบัญญัติว่า “ให้สหภาพแรงงานมีคณะกรรมการเป็นผู้ดำเนินกิจการเป็นผู้แทนของสหภาพแรงงานในกิจการที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอก เพื่อการนี้คณะกรรมการจะมอบหมายให้กรรมการคนหนึ่งหรือหลายคนทำแทนก็ได้”ซึ่งหมายความว่า ผู้มีอำนาจเป็นผู้แทนของสหภาพแรงงานที่มีอำนาจดำเนินกิจการของสหภาพแรงงานได้แก่คณะกรรมการของสหภาพแรงงานนั้น ๆ โดยเฉพาะ หากคณะกรรมการของสหภาพแรงงานไม่ประสงค์จะดำเนินกิจการในฐานะเป็นผู้แทนทั้งหมด คณะกรรมการของสหภาพแรงงานก็มีสิทธิที่จะตกลงมอบหมายให้กรรมการของสหภาพแรงงานคนหนึ่งคนใดหรือหลายคนร่วมกันทำกิจการแทนคณะกรรมการของสหภาพแรงงานก็ได้กรณีของจำเลยที่ 1 นี้ ข้อเท็จจริงได้ความตามคำฟ้องโจทก์ โดยจำเลยทั้งสิบสี่ได้ให้การโต้แย้งเป็นอย่างอื่นว่า จำเลยที่ 2 เป็นประธานและจำเลยที่ 3 ถึงที่ 14 เป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 ดังนั้นในการดำเนินคดีของจำเลยที่ 1 พึงต้องกระทำร่วมกัน โดยจำเลยที่ 2ถึงที่ 14 ซึ่งเป็นคณะกรรมการ และไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 14ได้ตกลงมอบหมายให้จำเลยที่ 3 แต่ผู้เดียวเป็นผู้ดำเนินคดีแทนคณะกรรมการด้วย ดังนั้น การที่จำเลยที่ 3 แต่เพียงผู้เดียวได้ลงลายมือชื่อแต่งตั้งนายสุรเดช จิตรจงรักษ์ เป็นทนายความตามใบแต่งทนายความลงวันที่ 29 สิงหาคม 2531 (สารบาญอันดับ 80) ให้มีสิทธิอุทธรณ์ในนามของจำเลยที่ 1 จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 3 มีอำนาจเป็นผู้แทนของจำเลยที่ 1 ที่จะปฏิบัติเช่นนั้นได้ อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ที่นายสุรเดช จิตรจงรักษ์ ทนายความลงลายมือชื่อเป็นผู้อุทธรณ์จึงเป็นอุทธรณ์ที่ยื่นโดยบุคคลที่ไม่มีอำนาจโดยชอบศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1.

Share