คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3152/2532

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้องของโจทก์ที่คัดค้านผู้พิพากษาทุกคนที่จะทำการพิจารณาคดีโจทก์ในศาลชั้นต้น ด้วยเหตุคำคัดค้านไม่ต้องด้วยบทบัญญัติเรื่องการคัดค้านผู้พิพากษา ดังนี้เท่ากับเป็นการไม่รับคำคัดค้านไว้พิจารณา มิใช่เป็นการสั่งยอมรับหรือยกเสียซึ่งคำคัดค้านตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 14 ที่ศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้องโดยไม่ส่งสำนวนไปให้ศาลซึ่งมีอำนาจสูงกว่าวินิจฉัย ตามมาตรา 13 แห่งประมวลกฎหมายดังกล่าวนั้นชอบแล้ว
คณะกรรมการตุลาการปฏิบัติหน้าที่ตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการกำหนดไว้ได้โดยอิสระ มิได้อยู่ภายใต้บังคับบัญชาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม รัฐมนตรีฯ จึงไม่มีอำนาจที่จะแต่งตั้งกรรมการขึ้นสอบสวนกรรมการตุลาการเป็นรายคนหรือทั้งคณะในส่วนที่เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายดังกล่าว
คณะกรรมการสอบสวนทางวินัยมีอำนาจสอบสวนและลงมติตามอำนาจหน้าที่ที่ได้รับแต่งตั้ง เมื่อไม่ได้กระทำไปโดยอคติ หรือไม่ยุติธรรม หรือไม่สุจริต ไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗, ๘๓, ๙๑ และยื่นคำร้องคัดค้านผู้พิพากษาศาลชั้นต้นทุกคนรวมทั้งอธิบดีผู้พิพากษาภาคและรองอธิบดีผู้พิพากษาภาคหรือผู้พิพากษาอื่นที่จะได้รับมอบหมายให้พิจารณาคดีนี้
ศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้องและคำฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้องของโจทก์กรณีคัดค้านผู้พิพากษาทุกคนเพราะเหตุคัดค้านไม่ต้องด้วยบทบัญญัติกฎหมายเรื่องการคัดค้านผู้พิพากษาเท่ากับเป็นการไม่รับคำคัดค้านไว้พิจารณมิใช่เป็นการสั่งยอมรับหรือยกเสียซึ่งคำคัดค้านตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๔ ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องคัดค้านผู้พิพากษาของโจทก์โดยไม่ส่งสำนวนไปให้ศาลซึ่งมีอำนาจสูงกว่าวินิจฉัยจึงชอบแล้ว
ที่โจทก์ฎีกาว่า การกระทำของจำเลยทั้งหมดตามที่โจทก์บรรยายฟ้องเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗ ศาลชั้นต้นควรจะทำการไต่สวนมูลฟ้องก่อนจึงจะเป็นการชอบด้วยกฎหมายนั้นศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วสำหรับจำเลยที่ ๑ โจทก์กล่าวหาว่ากระทำความผิดเพราะโจทก์ได้ร้องเรียนขอให้สอบสวนลงโทษทางวินัยแก่คณะกรรมการตุลาการฐานปฏิบัติหน้าที่โดยไม่เที่ยงธรรมและโดยไม่สุจริตหลายครั้ง สาเหตุเนื่องจากคณะกรรมการตุลาการซึ่งประกอบด้วยจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๑๓ ลงมติว่าโจทก์กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงให้ลงโทษโจทก์ออกจากราชการ แต่จำเลยที่ ๑ ไม่ปฏิบัติตามหน้าที่โดยไม่แต่งตั้งกรรมการสอบสวนตามที่โจทก์ร้องเรียนนั้น เห็นว่า คณะกรรมการตุลาการประกอบด้วยกรรมการตามที่พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการ พ.ศ. ๒๕๒๑ กำหนดไว้กรรมการบางคนเป็นกรรมการโดยตำแหน่งและบางคนได้รับเลือกตั้งโดยข้าราชการตุลาการตามวิธีการที่กำหนดไว้ในกฎหมาย แม้กรรมการตุลาการบางคนจะเป็นข้าราชการตุลาการซึ่งยังรับราชการอยู่ แต่ในการปฏิบัติหน้าที่ตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการฯ กำหนดไว้นั้น กรรมการทุกคนต่างก็ปฏิบัติหน้าที่ของตนตามกฎหมายพิเศษดังกล่าวโดยอิสระหาได้อยู่ภายใต้บังคับบัญชาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมไม่และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมก็มิได้มีอำนาจตามกฎหมายที่จะแต่งตั้งกรรมการขึ้นสอบสวนกรรมการตุลาการเป็นรายคนหรือทั้งคณะในส่วนที่เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายดังกล่าว การกระทำของจำเลยที่ ๑ จึงไม่เป็นความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง สำหรับจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๑๓ โจทก์ฟ้องว่ากระทำผิดเพราะลงมติด้วยเสียงข้างมากกว่า โจทก์กระทำผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงและลงโทษให้ออกจากราชการโดยไม่คำนึงถึงความถูกต้องยุติธรรมนั้น เห็นว่าจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๑๓ ในฐานะที่เป็นกรรมการตุลาการได้ลงมติไปตามอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย ไม่อาจที่จะกล่าวอ้างได้ว่าไม่ถูกต้องและไม่ยุติธรรมการกระทำของจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๑๓ จึงไม่เป็นความผิด ส่วนจำเลยที่ ๑๔ และที่ ๑๕ นั้น โจทก์ฟ้องว่ากระทำผิดเพราะลงมติโดยอคติว่าโจทก์กระทำผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงสมควรลงโทษไล่ออกจากราชการซึ่งเป็นมติที่ไม่ยุติธรรม ไม่สุจริต และทำไปตามคำสั่งหรือคำบงการของจำเลยที่ ๔ และที่ ๘ นั้น เห็นว่า ที่จำเลยที่ ๑๔ และที่ ๑๕ ลงมติว่าโจทก์กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงนั้น ก็กระทำไปตามหน้าที่ที่ได้รับการแต่งตั้งตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ ทั้งโจทก์มิได้กล่าวอ้างข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ ๑๔ และที่ ๑๕ กระทำการอย่างไรที่แสดงว่าเป็นการกระทำโดยอคติ ไม่ยุติธรรม ไม่สุจริตหรือทำไปตามคำสั่งของจำเลยที่ ๔ และที่ ๘ เพียงแต่โจทก์ถูกจำเลยที่ ๑๔ และที่ ๑๕ ซึ่งเป็นกรรมการสอบสวนมีมติว่าโจทก์ทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงจะถือว่าจำเลยที่ ๑๔ และที่ ๑๕ กระทำการหรือละเว้นกระทำการตามหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริตหาได้ไม่ การกระทำของจำเลยที่ ๑๔ และที่ ๑๕ จึงไม่เป็นความผิดตามที่โจทก์ฟ้องเช่นเดียวกัน เมื่อการกระทำของจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๑๕ ไม่เป็นความผิดแล้วที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อโจทก์ยืนตามศาลชั้นต้นโดยไม่ทำการไต่สวนมูลฟ้องก่อนจึงชอบแล้ว
พิพากษายืน

Share