คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3150/2525

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำว่า “สถานประกอบกิจการ” ตามมาตรา 45 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ ฯ หมายความถึงสถานประกอบกิจการทั้งหมดที่เป็นของนายจ้างคนเดียวกันมิได้หมายความถึงแต่ละหน่วยงานหรือแต่ละโรงงานที่แยกออกไป ในสถานประกอบกิจการแห่งหนึ่งจึงมีคณะกรรมการลูกจ้างได้เพียงคณะเดียวทำหน้าที่เป็นตัวแทนลูกจ้างทั้งหมดในสถานประกอบกิจการนั้นเว้นแต่สถานประกอบกิจการนั้นมีหน่วยงานหรือสาขาในจังหวัดอื่นลูกจ้างในสถานประกอบกิจการเช่นว่านั้นอาจตกลงเลือกตั้งกรรมการลูกจ้างขึ้นจังหวัดละคณะก็ได้ แต่การเลือกตั้งกรรมการลูกจ้าง และจำนวนคณะกรรมการลูกจ้างแต่ละจังหวัด จะต้องถือเขตพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ในแต่ละจังหวัดที่หน่วยงานหรือสาขาซึ่งลูกจ้างประจำทำงานอยู่เป็นเกณฑ์
เขตบำรุงทางขอนแก่นของการรถไฟแห่งประเทศไทยมีเขตพื้นที่คลุมหลายจังหวัด จึงมิใช่หน่วยงานหรือสาขา (ในจังหวัดอื่น)ตามความหมายของประกาศกรมแรงงานเรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการในการเลือกตั้งคณะกรรมการลูกจ้าง ลงวันที่16 พฤษภาคม 2518 ข้อ 1
นายจ้างตกลงให้เลือกตั้งกรรมการลูกจ้างโดยถือเขตพื้นที่แต่ละจังหวัดเป็นเกณฑ์ โจทก์กับพวกจัดการเลือกตั้งกรรมการลูกจ้างผิดไปจากข้อตกลงและมีการเลือกตั้งกรรมการลูกจ้างจำนวนเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด คณะกรรมการที่ได้รับเลือกจึงเป็นคณะกรรมการลูกจ้างที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีสิทธิขอให้นายจ้างจัดให้มีการประชุมคณะกรรมการลูกจ้าง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าโจทก์ซึ่งเป็นกรรมการลูกจ้างของเขตบำรุงทางขอนแก่นได้ขอร้องให้จำเลยจัดให้มีการประชุมคณะกรรมการลูกจ้าง แต่จำเลยปฏิเสธ ขอให้ศาลบังคับจำเลยจัดให้มีการประชุมดังกล่าว
จำเลยให้การว่า โจทก์เป็นคณะกรรมการลูกจ้างที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายทั้งวิธีการเลือกตั้งและจำนวนคณะกรรมการลูกจ้าง จึงไม่มีสิทธิขอให้จำเลยจัดประชุม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า พิเคราะห์ประกาศกรมแรงงานเรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการในการเลือกตั้งคณะกรรมการลูกจ้าง ลงวันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๑๘ ข้อ ๑ ประกอบกับพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๔๕, ๔๖ แล้วเห็นว่า สถานประกอบกิจการตามมาตรา ๔๕ หมายความถึงสถานประกอบกิจการทั้งหมดที่เป็นของนายจ้างคนเดียวกัน มิได้หมายความถึงแต่ละหน่วยงานหรือแต่ละโรงงานที่แยกออกไป ในสถานประกอบกิจการแห่งหนึ่งจึงมีคณะกรรมการลูกจ้างได้เพียงคณะเดียว ซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวแทนลูกจ้างทั้งหมดในสถานประกอบกิจการนั้น เว้นแต่สถานประกอบกิจการนั้นมีหน่วยงานหรือสาขาในจังหวัดอื่น ลูกจ้างในสถานประกอบกิจการเช่นว่านั้นอาจตกลงกันเลือกตั้งกรรมการลูกจ้างขึ้นจังหวัดละคณะก็ได้ตามประกาศกรมแรงงานฉบับดังกล่าว ดังนั้น ข้อยกเว้นที่กำหนดให้หน่วยงานหรือสาขาในจังหวัดอื่นของสถานประกอบกิจการมีกรรมการลูกจ้างได้นั้น การเลือกตั้งกรรมการลูกจ้างและจำนวนคณะกรรมการลูกจ้างแต่ละจังหวัดจะต้องถือเขตพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ในแต่ละจังหวัดที่หน่วยงานหรือสาขาซึ่งลูกจ้างประจำทำงานอยู่ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่า ประกาศกรมแรงงานดังกล่าวข้อ ๗ มิได้กล่าวบังคับเกี่ยวกับเรื่องภูมิลำเนาของลูกจ้างที่จะมีสิทธิไว้เลย เห็นว่า ประกาศกรมแรงงานดังกล่าวข้อ ๗ หมายถึงลูกจ้างของสถานประกอบกิจการนั้นทั้งหมด ในกรณีที่เป็นการเลือกตั้งกรรมการลูกจ้างในจังหวัดหนึ่ง ๆ ก็หมายถึงลูกจ้างของสถานประกอบกิจการเช่นว่านั้นในแต่ละจังหวัดไม่จำเป็นต้องกล่าวเกี่ยวกับภูมิลำเนาของลูกจ้างไว้อีก เขตบำรุงทางขอนแก่นมีเขตพื้นที่คลุมหลายจังหวัด มิใช่เป็นหน่วยงานหรือสาขาตามความหมายในประกาศกรมแรงงานดังกล่าวคดีนี้ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยตกลงให้เลือกตั้งกรรมการลูกจ้างโดยถือเขตพื้นที่แต่ละจังหวัดเป็นเกณฑ์ โจทก์กับพวกจัดการเลือกตั้งกรรมการลูกจ้างผิดไปจากข้อตกลงผู้สมัครรับเลือกตั้งและผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเป็นลูกจ้างของจำเลยซึ่งประจำทำงานในจังหวัดอื่นนอกจากจังหวัดขอนแก่นรวมอยู่ด้วย และมิใช่เป็นการเลือกตั้งของลูกจ้างจำเลยทั้งหมดที่ประจำทำงานอยู่ในเขตจังหวัดขอนแก่น ทั้งลูกจ้างของจำเลยในเขตพื้นที่จังหวัดขอนแก่นมีเพียง ๓๓๗ คน ซึ่งตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ มาตรา ๔๖(๓) กำหนดให้มีจำนวนกรรมการลูกจ้างเพียง ๙ คน แต่โจทก์กับพวกจัดให้มีการเลือกตั้งกรรมการลูกจ้างจำนวน ๑๑ คน เกินกว่าที่กฎหมายกำหนด โจทก์กับพวกจึงเป็นคณะกรรมการลูกจ้างที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีสิทธิขอให้จำเลยจัดให้มีการประชุมคณะกรรมการลูกจ้าง
พิพากษายืน

Share