คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3147/2532

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

รถแท็กซี่เป็นของจำเลยที่ 2 นำมาใช้วิ่งในนามของสหกรณ์จำเลยที่ 3 โดยเสียค่าบำรุงเป็นรายเดือนให้จำเลยที่ 3 ทั้งมีตราของจำเลยที่ 3 อยู่ที่ประตูรถ คนทั่วไปที่พบเห็นรถคันดังกล่าวต้องเข้าใจว่าเป็นรถของจำเลยที่ 3 เท่ากับจำเลยที่ 3 เชิดให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นคนขับเป็นตัวแทนในการรับจ้างบรรทุกคนโดยสารจำเลยที่ 3 จึงต้องร่วมรับผิดในการทำละเมิดของจำเลยที่ 1ส่วนจำเลยที่ 2 ก็มีผลประโยชน์ร่วมกับจำเลยที่ 1 ในรถคัน ดังกล่าวถือว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 เช่นกัน.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ 2 เป็นเจ้าของรถแท็กซี่คันหมายเลขทะเบียน 2 ท – 1042 กรุงเทพมหานคร โอนเข้าร่วมกิจการกับโจทก์ที่ 1เพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์แท็กซี่คันหมายเลขทะเบียน 2 ท – 0181 กรุงเทพมหานคร ไปรับจ้างรับส่งคนโดยสารในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 3 เพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2526 จำเลยที่ 1 ได้ขับขี่รถยนต์ของจำเลยที่ 2 ด้วยความประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้รถยนต์คันที่จำเลยที่ 1 ขับพุ่งเข้าชนรถยนต์ของโจทก์ซึ่งนายสายพิณคำทะเนตร์ ขับ รถยนต์ของโจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าเสียหาย 120,677.81 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีในต้นเงิน 112,915 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 2 ที่ 3 ให้การว่า โจทก์ที่ 1 ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ 2 ที่ 3 ไม่มีผลประโยชน์ร่วมกัน ไม่ได้กระทำในทางการที่จ้าง จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของรถคันที่จำเลยที่ 1 ขับขี่วันเกิดเหตุ โดยจำเลยที่ 1 เช่าไปจำเลยที่ 1 ไม่ได้ขับรถประมาท คนขับรถของโจทก์เป็นฝ่ายประมาทรถโจทก์ไม่เสียหายตามฟ้อง ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน64,215 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2526 จนกว่าจะชำระเสร็จให้โจทก์
โจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าเสียหายเป็นเงิน 40,000 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายประมาท โดยคนขับรถของโจทก์มิได้ประมาท ที่จำเลยฎีกาว่าจำเลยที่ 2 ที่ 3 ไม่ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 นั้น เห็นว่าข้อเท็จจริงได้ความตามคำเบิกความของจำเลยที่ 2 ว่ารถแท็กซี่เป็นของจำเลยที่ 2 นำมาใช้วิ่งในนามของสหกรณ์จำเลยที่ 3 โดยเสียค่าบำรุงให้สหกรณ์จำเลยที่ 3 เดือนละ 90 บาท นอกจากนี้ยังได้ความจากคำเบิกความของนายสายพิณ คำทะเนตร์ ว่ารถแท็กซี่คันที่จำเลยที่ 1ขับ มีตราของจำเลยที่ 3 อยู่ที่ประตูหลังของรถด้านขวา ดังนั้นคนทั่วไปที่ได้พบเห็นรถแท็กซี่คันดังกล่าว จะต้องเข้าใจว่าเป็นรถของจำเลยที่ 3 ทั้งจำเลยที่ 3 ก็ยังได้ผลประโยชน์จากการนี้ด้วยเท่ากับจำเลยที่ 3 เชิดให้จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนในการรับจ้างบรรทุกคนโดยสาร จำเลยที่ 3 จึงต้องร่วมรับผิดในการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 สำหรับจำเลยที่ 2 ก็ปรากฏว่าเป็นเจ้าของรถแท็กซี่คันนี้ จำเลยที่ 2 นำรถมาวิ่งในนามของจำเลยที่ 3 ย่อมจะต้องมีผลประโยชน์ร่วมกับจำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 1 ที่จำเลยที่ 2 อ้างว่าให้จำเลยที่ 1 เช่ารถไปนั้น ปรากฏตามสัญญาเช่าระบุค่าเช่ากันเพียงวันละ 150 บาทซึ่งเป็นค่าเช่าที่ต่ำเกินไปจนไม่น่าเชื่อถือจึงฟังไม่ได้ว่าจะเป็นการเช่ากันจริง การที่จำเลยที่ 2 มีผลประโยชนร่วมกับจำเลยที่ 1 ถือว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2จำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 เช่นกัน และวินิจฉัยเรื่องค่าเสียหายว่า โจทก์เสียหายเป็นเงิน 86,315 บาท
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าเสียหายเป็นเงิน 86,315 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับตั้งแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2526 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์.

Share