คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3144/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยแต่งตั้ง ส. เป็นทนายความเข้าดำเนินคดี และระบุข้อความไว้ในใบแต่งทนายความให้ ส. มีอำนาจทำสัญญาประนีประนอมยอมความด้วย เมื่อจำเลยยังมิได้ถอน ส.ออกจากการเป็นทนายความ การที่ ส. ไปตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์ แม้จะไม่ได้ปรึกษากับจำเลยก่อน ก็ถือว่าเป็นการกระทำโดยชอบด้วยกระบวนพิจารณามิใช่เป็นการพิจารณาที่ผิดระเบียบ ศาลชั้นต้นได้พิพากษาเสร็จเด็ดขาดไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความแล้ว คำพิพากษานั้นย่อมผูกพันจำเลยซึ่งเป็นคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 145 จนถึงวันที่คำพิพากษานั้นได้ถูกเปลี่ยนแปลงแก้ไขกลับหรืองดเสีย ถ้าหากมี จำเลยชอบที่จะใช้สิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยอ้างว่าฝ่ายโจทก์ฉ้อฉลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 138 วรรคสอง (1)เท่านั้น แต่จำเลยจะขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณานั้น และให้พิจารณาคดีใหม่หาได้ไม่

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2539 โจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 2 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต จำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ 2ออกจากสารบบความ และศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมให้จำเลยที่ 1จดทะเบียนโอนที่ดินหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ให้โจทก์ทั้งสองหรือผู้ที่โจทก์ทั้งสองระบุชื่อ(นายเจตน์ หริณะรักษ์) ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2539 จำเลยที่ 1จะรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างในที่ดินภายใน 15 วัน นับแต่วันจดทะเบียนโอนโจทก์ทั้งสองหรือผู้ที่โจทก์ทั้งสองระบุชื่อตกลงซื้อที่ดินดังกล่าวในราคา 24,400,000 บาท จำเลยที่ 1 ยอมให้โจทก์ทั้งสองหักกลบลบหนี้ที่จำเลยทั้งสองค้างชำระเป็นเงิน 13,400,000 บาทส่วนราคาที่ดินที่เหลือนายเจตน์จะชำระให้จำเลยที่ 1 ในวันจดทะเบียนโอนที่ดิน หากจำเลยที่ 1 ผิดนัดให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 โดยผู้รับโอนที่ดินจะนำเงินจำนวน 11,000,000 บาท มาวางต่อศาลเพื่อให้จำเลยที่ 1 ก่อนจึงจะจดทะเบียนโอนได้และผู้รับโอนจะสั่งจ่ายเช็คล่วงหน้าจำนวน13,400,000 บาท ให้โจทก์ทั้งสอง
จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องว่า จำเลยที่ 1 เคยแสดงเจตนาไม่ให้นายไสว หนูทวี ทำหน้าที่ทนายความ แต่ทนายโจทก์และนายไสวร่วมกันฉ้อฉลแจ้งความเท็จต่อศาลทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันโดยมิได้ปรึกษาจำเลยที่ 1 และขัดต่อเจตนาของจำเลยที่ 1 ทำให้จำเลยที่ 1 เสียหาย ขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบแล้วพิจารณาคดีต่อไป
โจทก์ทั้งสองยื่นคำคัดค้าน ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องแล้วมีคำสั่งว่า สัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมไม่ผูกพันจำเลยที่ 1
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ยกคำร้องของจำเลยที่ 1
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า ตามคำร้องของจำเลยที่ 1 แม้จะไม่ได้ระบุชัดว่าจำเลยที่ 1 ขอถอนนายไสว หนูทวีจากการเป็นทนายจำเลยที่ 1 แต่ตามคำร้องระบุว่า จำเลยที่ 1 กับทนายจำเลยที่ 1 ดังกล่าว มีความเห็นขัดแย้งกัน จึงเจรจายอมให้ทนายจำเลยที่ 1 ถอนตัว แสดงว่า จำเลยที่ 1 มีเจตนาจะถอนนายไสวจากการเป็นทนายจำเลยที่ 1 ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้แต่งตั้งนายธเนศ กมลพันธ์ เข้าเป็นทนายจำเลยที่ 1 การที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์กับทนายจำเลยที่ 1 ดังกล่าวถือเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้น เห็นว่าจำเลยที่ 1 ได้แต่งตั้งนายไสวเป็นทนายความเข้าดำเนินคดี และระบุข้อความไว้ในใบแต่งทนายดังกล่าวให้มีอำนาจทำสัญญาประนีประนอมยอมความด้วย ดังปรากฏตามใบแต่งทนายความที่จำเลยที่ 1 ยื่นไว้ต่อศาลชั้นต้น เมื่อจำเลยที่ 1 ได้แต่งตั้งทนายความให้มีอำนาจในการประนีประนอมยอมความได้ และข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ยังมิได้ถอนนายไสวออกจากการเป็นทนายความให้จำเลยที่ 1 แล้ว การที่ทนายจำเลยที่ 1 ดังกล่าวไปตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์ทั้งสองตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 29 มกราคม 2539 แม้จะไม่ได้ปรึกษากับจำเลยที่ 1 ก่อนก็ถือว่าเป็นการกระทำโดยชอบด้วยกระบวนพิจารณา มิใช่เป็นการพิจารณาที่ผิดระเบียบ และเมื่อศาลชั้นต้นได้พิพากษาเสร็จเด็ดขาดไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น คำพิพากษาย่อมผูกพันจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145จนถึงวันที่คำพิพากษานั้นได้ถูกเปลี่ยนแปลงแก้ไข กลับหรืองดเสียถ้าหากมี จำเลยที่ 1 ได้แต่จะใช้สิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยอ้างว่าฝ่ายโจทก์ฉ้อฉลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 138 วรรคสอง (1) จำเลยที่ 1 จะขอให้พิจารณาคดีใหม่หาได้ไม่
พิพากษายืน

Share