คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3140/2529

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่โจทก์ออกจากสำนักงานไปสอนหนังสือในเวลาทำงานโดยมิได้รับอนุญาตจากผู้บังคับบัญชา เป็นการกระทำผิดวินัยตามข้อบังคับการทำงานของจำเลย จำเลยย่อมมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ได้ ไม่เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมแต่โจทก์ไปสอนหนังสือน้อยครั้งและสอนครั้งละเพียง 2 ชั่วโมงยังไม่เพียงพอที่จะถือว่าโจทก์ฝ่าฝืนข้อบังคับการทำงานเป็นกรณีร้ายแรง จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างประจำโดยไม่เป็นธรรม และไม่บอกกล่าวล่วงหน้า ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชย ค่าเสียหาย และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า โจทก์เอาเวลาทำงานไปประกอบธุรกิจอื่นเป็นการเบียดบังเวลาการทำงานของจำเลย จงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหายและฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเป็นกรณีร้ายแรง จำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายเงินตามฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรมพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าเสียหาย ค่าชดเชย และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า เห็นว่าการที่โจทก์ได้ออกจากสำนักงานเพื่อไปสอนหนังสือในเวลาทำงานโดยมิได้รับอนุญาตจากกรรมการผู้จัดการซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชานั้น ย่อมเป็นการกระทำผิดต่อข้อบังคับการทำงานของจำเลยตามเอกสารหมายล.10 ข้อ 5 วินัยและการลงโทษทางวินัย 5.1 ซึ่งกำหนดว่าไม่ทิ้งงานในเวลาทำงานโดยมิได้รับอนุญาตล่วงหน้าจากผู้บังคับบัญชา แต่การที่โจทก์เบียดบังเวลาทำงานของจำเลยไปทำการสอนเพียงครั้งละ 2 ชั่วโมง และได้กระทำน้อยครั้งเพราะส่วนมากโจทก์จะไปสอนในวันเสาร์และวันอาทิตย์เช่นนี้กรณียังไม่เพียงพอที่จะถือว่าโจทก์ฝ่าฝืนข้อบังคับการทำงานของจำเลยดังกล่าวเป็นกรณีร้ายแรงอันพึงเป็นเหตุให้จำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ได้ส่วนจำเลยจะต้องจ่ายค่าเสียหายให้แก่โจทก์ด้วยหรือไม่นั้น ข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์ได้ปฎิบัติผิดต่อข้อบังคับการทำงานของจำเลยโดยได้ออกไปทำการสอน ณที่อื่นในเวลาปฏิบัติงานโดยมิได้รับอนุญาตจากผู้บังคับบัญชาแม้จะเป็นกรณีไม่ร้ายแรงดังที่ได้วินิจฉัยไว้ข้างต้นก็ตาม การที่โจทก์ปฏิบัติเช่นนี้ก็ย่อมเป็นเหตุให้จำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ได้แล้ว กรณีไม่อาจกล่าวอ้างได้ว่าเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายให้แก่โจทก์นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share