แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
กรณีที่จะอยู่ในบังคับของบทบัญญัติมาตรา 165(1) ซึ่งมีอายุความ2 ปี ต้องเป็นกรณีที่พ่อค้าผู้ประกอบหัตถกรรม ผู้เป็นช่างฝีมือหรือบุคคลจำพวกประกอบศิลปอุตสาหกรรม ฟ้องเรียกเอาค่าที่ได้ส่งมอบของทำของ หรือค่าดูแลกิจการของผู้อื่นอันเป็นกรณีที่เจ้าหนี้ได้ส่งมอบของหรือผลงานให้ลูกหนี้แล้วเรียกร้องเอาค่าสิ่งของหรือราคาของผลงานที่ได้ส่งมอบ
โจทก์จำเลยตกลงเปิดบัญชีเดินสะพัดและมอบให้โจทก์ซื้อหลักทรัพย์แทนเป็นเรื่องที่โจทก์รับเป็นตัวแทนของจำเลยโดยได้ค่าธรรมเนียมตอบแทนหาได้มีการส่งมอบสิ่งของหรือผลงานให้จำเลยแต่อย่างใด กรณีจึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165(1)
โจทก์ฟ้องเรียกดอกเบี้ยทบต้นโดยอ้างว่าจำเลยเป็นหนี้โจทก์ตามบัญชีเดินสะพัดซึ่งมีประเพณีการค้าขายให้คำนวณดอกเบี้ยทบต้นได้ ตามบทบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา655 วรรค 2 เมื่อข้อเท็จจริงรับกันว่า โจทก์ จำเลยได้ตกลงเปิดบัญชีเดินสะพัดซึ่งมีข้อความว่าจำเลยยอมรับว่ามีประเพณีการค้าให้โจทก์คิดดอกเบี้ยทบต้นในกรณีนี้ได้ โจทก์จึงเรียกดอกเบี้ยทบต้นได้ โดยไม่ต้องนำสืบถึงประเพณีการค้าดังกล่าวอีก
ฎีกาในข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา249 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าโจทก์ประกอบธุรกิจเงินทุนและค้าหักทรัพย์ จำเลยทั้งสองเป็นสามีภริยากันและเป็นลูกค้าโจทก์ โดยมอบหมายให้โจทก์เป็นตัวแทนซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อจำเลยที่ 1 ประสงค์จะซื้อขายหลักทรัพย์ใด ๆจำเลยที่ 1 จะมีคำสั่งมายังโจทก์ด้วยวาจา หรือลายลักษณ์อักษรให้โจทก์ติดต่อซื้อขายหลักทรัพย์นั้น ๆ ตามจำนวนและราคาที่จำเลยที่ 1 จะมีคำสั่งเป็นคราว ๆ ไปโดยโจทก์ต้องออกเงินทดรองจ่ายแทนจำเลยที่ 1 ไป จำเลยที่ 1 ยอมให้โจทก์ตั้งยอดหนี้ไว้ในบัญชีเดินสะพัดและถ้าจำเลยที่ 1 ได้รับชำระค่าหลักทรัพย์หรือผลประโยชน์อื่นใดจากหลักทรัพย์ จำเลยที่ 1 ยอมให้โจทก์นำมาเข้าบัญชีเดินสะพัดเพื่อหักทอนบัญชีกัน หากปรากฏว่ามียอดเงินที่โจทก์เป็นเจ้าหนี้ จำเลยที่ 1 ยอมให้คิดดอกเบี้ยได้ตามภาวะตลาดหากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระดอกเบี้ยยอมให้นำดอกเบี้ยค้างชำระทบเข้ากับยอดเงินที่ค้างชำระรวมมเป็นยอดหนี้เงินต้นได้ตามประเพณีการค้าของโจทก์ นับแต่จำเลยที่ 1 เข้ามาเป็นลูกค้าของโจทก์ จำเลยที่ 1 ได้มีคำสั่งให้โจทก์ซื้อหรือขายหลักทรัพย์หลายครั้ง คิดหักทอนบัญชีกันตลอดมาจนถึงวันฟ้อง จำเลยที่ 1 มียอดหนี้ค้างชำระอยู่รวมเป็นเงิน 8,693,407.95 บาท จำเลยที่ 2 ในฐานะภริยาต้องรับผิดร่วมด้วย จึงขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินให้แก่โจทก์ 8,693,407.95 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ15 ต่อปีนับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเงินให้โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง การมอบอำนาจเพื่อซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขระเบียบข้อบังคับของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งบังคับให้ผู้ที่ต้องการสั่งซื้อหรือขายหุ้นต้องมีคำสั่งเป็นหนังสือ เมื่อโจทก์ไม่มีหลักฐานคำสั่งซื้อหรือขายเป็นหนังสือลงลายมือชื่อจำเลยที่ 1 มาแสดงต่อศาล จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิด เมื่อหักกลบลบหนี้กันแล้วจำเลยที่ 1 ยังคงเป็นหนี้โจทก์อยู่เพียง 8,540 บาท ข้อตกลงคิดดอกเบี้ยทบต้นเป็นการขัดต่อกฎหมายจึงตกเป็นโมฆะ ฟ้องของโจทก์ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165(1) ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมและโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยเกินร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระเงิน 8,356,817.76 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 18 ต่อปี คิดวิธีทบต้นตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2524 ถึงวันที่ 16 มีนาคม2524 เป็นต้นเงินเท่าไรแล้วคิดดอกเบี้ยอัตราเดียวกันโดยวิธีไม่ทบต้นถึงวันที่31 พฤษภาคม 2524 หลังจากนี้ให้คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีตามที่โจทก์ขอในต้นเงินที่คิดดอกเบี้ยไม่ทบต้นนับจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยจะชำระเงินให้โจทก์เสร็จกับให้จำเลยร่วมกันชำระค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความ 30,000 บาทแทนโจทก์คำขอของโจทก์นอกจากที่กล่าวให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 7,100,966.59 บาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 18 ต่อปี นับแต่วันที่ 26 กันยายน 2523 ถึงวันฟ้องและดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปีในต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ในปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165(1) ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า กรณีที่จะอยู่ในบังคับของกฎหมายที่จำเลยที่ 1 อ้างนั้นต้องเป็นกรณีที่พ่อค้า ผู้ประกอบหัตถกรรมผู้เป็นช่างฝีมือ หรือบุคคลจำพวกประกอบศิลปอุตสาหกรรม ฟ้องเรียกค่าที่ได้ส่งมอบของทำของหรือค่าดูแลกิจการของผู้อื่น อันเป็นกรณีที่เจ้าหนี้ได้ส่งมอบของหรือผลงานให้ลูกหนี้แล้วเรียกร้องเอาค่าสิ่งของหรือราคาของผลงานที่ได้ส่งมอบซึ่งเจ้าหนี้จะต้องเรียกร้องภายในกำหนด 2 ปี และถ้าเจ้าหนี้ได้ออกเงินทดรองไปด้วยก็ต้องฟ้องเรียกภายในกำหนด 2 ปีเช่นกัน แต่กรณีตามคดีนี้เป็นเรื่องที่โจทก์รับเป็นตัวแทนจำเลย โดยได้ค่าธรรมเนียมตอบแทน โจทก์หาได้มีการส่งมอบสิ่งของหรือผลงานตามบทบัญญัติของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165(1) ให้จำเลยแต่อย่างใดไม่ กรณีไม่ต้องด้วยบทกฎหมายที่จำเลยที่ 1 ยกขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การ ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
ในปัญหาที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า การคิดดอกเบี้ยทบต้นของโจทก์เป็นโมฆะ เพราะโจทก์มิได้ยกข้อกฎหมายหรือนำสืบถึงประเพณีว่าโจทก์มีอำนาจเรียกดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยซึ่งทำให้มีการเสียดอกเบี้ยเกินอัตราร้อยละ 15 ต่อปีได้ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าเห็นว่าตามคำฟ้องพอเข้าใจได้ว่าโจทก์เรียกดอกเบี้ยทบต้นโดยอ้างว่าจำเลยเป็นหนี้ตามบัญชีเดินสะพัดซึ่งมีประเพณีการค้าขายให้คำนวณดอกเบี้ยทบต้นได้ตามบทบัญญัติของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 655 วรรคสองนั่นเอง เมื่อข้อเท็จจริงรับกันว่าโจทก์จำเลยได้ตกลงเปิดบัญชีเดินสะพัดกันตามเอกสารหมาย จ.3 ซึ่งมีข้อความว่าจำเลยยอมรับว่ามีประเพณีการค้าให้โจทก์คิดดอกเบี้ยทบต้นในกรณีนี้ได้ โจทก์จึงเรียกดอกเบี้ยทบต้นได้โดยไม่ต้องนำสืบถึงประเพณีการค้าดังกล่าวอีก
ในปัญหาที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดเพราะโจทก์มิได้โอนหุ้นให้จำเลยที่ 1 ภายใน 4 วันนับแต่วันซื้อ ไม่ได้เรียกให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินประกันร้อยละ 30 ของราคาหุ้นที่ซื้อ การซื้อหุ้นต้องเป็นอันยกเลิกไปโจทก์ไม่หด้โอนหุ้นเป็นชื่อของจำเลยที่ 1หากหุ้นขึ้นราคาโจทก์ก็ขายเอากำไรเสียเองถ้าขาดทุนก็อ้างว่าเป็นของจำเลยที่ 1 เป็นการไม่ยุติธรรม โจทก์ไม่มีหุ้นตามฟ้องอยู่ในขณะฟ้องโจทก์ จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 การซื้อขายหุ้นของโจทก์ไม่ได้โอนให้ถูกต้องตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1129 และเป็นการพนันขันต่อกัน ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ฎีกาเหล่านี้ของจำเลยที่ 1 เป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาก่อนในศาลล่างเป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ศาลฎีกาหาอาจวินิจฉัยให้ได้ไม่
พิพากษายืน