คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3130/2549

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญาทรัสต์รีซีท ข้อ 7 ระบุว่า จำเลยที่ 1 ยินยอมให้โจทก์นำหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทหักกับบัญชีเงินฝากทุกประเภทของจำเลยที่ 1 ที่มีอยู่กับโจทก์เพื่อชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ตามสัญญาทรัสต์รีซีท อันเป็นการให้สิทธิแก่โจทก์ที่จะดำเนินการตามข้อตกลงที่ระบุไว้โดยไม่จำต้องขอรับความยินยอมจากจำเลยที่ 1 อีก ข้อสัญญาดังกล่าวไม่ใช่ข้อตกลงที่บังคับให้โจทก์ต้องปฏิบัติเสมอไป การที่โจทก์มิได้นำหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทไปหักทอนในบัญชีเงินฝากกระแสรายวันของจำเลยที่ 1 เนื่องจากจำเลยที่ 1 เป็นหนี้เบิกเงินเกินบัญชีแก่โจทก์เป็นจำนวนสูงเกือบเต็มวงเงินที่จะเบิกเกินบัญชีได้ ทั้งนี้ตามสัญญาบัญชีเดินสะพัดดังกล่าว โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นจากจำเลยที่ 1 หากโจทก์นำหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีททั้งสองรายการไปหักทอนในบัญชีเงินฝากกระแสรายวันของจำเลยที่ 1 ก็อาจเป็นผลร้ายแก่จำเลยที่ 1 ทำให้จำเลยที่ 1 ต้องรับภาระหนี้สินมากขึ้น ประกอบกับก่อนโจทก์ฟ้องคดีนี้ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ตามบัญชีกระแสรายวันเกินกว่าวงเงินที่จำเลยที่ 1 มีสิทธิที่จะเบิก ดังนี้กรณีที่โจทก์มิได้นำหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทไปหักทอนในบัญชีกระแสรายวันของจำเลยที่ 1 จึงชอบด้วยเหตุผลแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามชำระเงินจำนวน 87,804,762.14 บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 16 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 69,462,679.97 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสามให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสามชำระเงินจำนวน 87,804,762.14 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยและประกาศธนาคารโจทก์ (ที่ประกาศใช้บังคับหลังวันฟ้อง) แต่ต้องไม่เกินกว่าอัตราร้อยละ 16 ต่อปี ของต้นเงิน 69,462,679.97 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 14 กันยายน 2542) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยทั้งสามใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 30,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า แม้จะปรากฏว่าโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 โดยปรับเปลี่ยนให้สูงขึ้นจากอัตราร้อยละ 10.75 ต่อปี มาเป็นอัตราสูงสุดตามประกาศธนาคารโจทก์ฉบับต่าง ๆ ก็ตาม แต่โจทก์คงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 ตามประกาศธนาคารโจทก์ในอัตราดอกเบี้ยสูงสุดสำหรับลูกค้าทั่วไปซึ่งไม่ผิดนัดคืออัตราร้อยละ 21.25 ต่อปี 19.75 ต่อปี 19 ต่อปี 18.50 ต่อปี 18.25 ต่อปี 17.25 ต่อปี 17.25 ต่อปี 16.75 ต่อปี 16.50 ต่อปี 15.75 ต่อปี 15.25 ต่อปี 14.75 ต่อปี และ 14.50 ต่อปี ตามลำดับ ตามช่วงระยะเวลาต่าง ๆ ที่ประกาศธนาคารโจทก์แต่ละฉบับมีผลใช้บังคับตามสัญญาทรัสต์รีซีทข้อ 4 เท่านั้น โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยลอยตัวจากจำเลยที่ 1 ในอัตราดอกเบี้ยผิดนัดผิดสัญญาตามประกาศธนาคารโจทก์ ในอัตราร้อยละ 24 ต่อปี 22.75 ต่อปี 22 ต่อปี 21.50 ต่อปี 21.25 ต่อปี 20.75 ต่อปี 20.25 ต่อปี 19.25 ต่อปี 18.75 ต่อปี 18.50 ต่อปี 17.75 ต่อปี 16.75 ต่อปี 16.75 ต่อปี 16.75 ต่อปี 16.25 ต่อปี และ 16 ต่อปี ตามลำดับ ตามช่วงระยะเวลาต่าง ๆ ตามที่ระบุในตารางปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ย ทั้งนี้เพราะสัญญาทรัสต์รีซีทข้อ 7 ระบุว่า ในกรณีที่จำเลยที่ 1 ตกเป็นผู้ผิดนัดผิดสัญญาไม่ว่าโจทก์จะได้แจ้งให้จำเลยที่ 1 ทราบเป็นลายลักษณ์อักษรหรือไม่ จำเลยที่ 1 ยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ค้างชำระในอัตราตามที่กำหนดในข้อ 4 คืออัตราสูงสุดที่โจทก์เรียกเก็บได้ ซึ่งย่อมหมายถึงอัตราดอกเบี้ยสูงสุดสำหรับลูกค้าทั่วไปที่ไม่ผิดนัดอันเป็นอัตราที่กำหนดไว้ในข้อ 4 เท่านั้น หาได้มีความหมายว่าโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 ในอัตราดอกเบี้ยสูงสุดสำหรับลูกค้าที่ผิดนัดผิดสัญญาตามที่โจทก์ฟ้องไม่ และเมื่อได้ความว่าโจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราที่ไม่ถูกต้องย่อมทำให้การคำนวณจำนวนหนี้ผิดพลาดสูงกว่าที่ควรจะเป็น เมื่อมีการชำระหนี้ก็ทำให้ชำระดอกเบี้ยเกินไป อันจำเป็นต้องนำไปหักชำระต้นเงินได้ต่อไปด้วย โดยปรากฏตามบัญชีแสดงการคิดจำนวนหนี้ว่า หนี้รายการแรกตามสัญญาทรัสต์รีซีทเดิมมีหนี้เป็นต้นเงินจำนวน 12,172,561.71 บาท มีการชำระดอกเบี้ยจำนวน 926,448.67 บาท และต่อมามีการชำระต้นเงินจำนวน 12,172,561.71 บาท ไปบางส่วนจนเหลือต้นเงินเพียง 8,102,919.97 บาท แสดงว่ามีการชำระหนี้ต้นเงินบางส่วนเป็นเงิน 4,069,641.74 บาท ส่วนหนี้รายการที่ 2 ตามสัญญาทรัสต์รีซีทมีหนี้ต้นเงินจำนวน 61,359,760 บาท และมีการชำระดอกเบี้ยเป็นเงิน 1,412,115.02 บาท ซึ่งต้องนำไปคิดหักชำระหนี้และคิดจำนวนหนี้กับดอกเบี้ยให้ถูกต้องดังที่วินิจฉัยมาข้างต้น นอกจากนี้ในส่วนการคิดดอกเบี้ยของโจทก์จากจำเลยที่ 1 ภายหลังวันฟ้องก็ต้องเป็นไปตามอัตราลอยตัวตามประกาศธนาคารโจทก์ในเรื่องนี้ที่ประกาศภายหลังวันฟ้องด้วย แต่ต้องไม่เกินกว่าอัตราร้อยละ 16 ต่อปี ตามที่โจทก์ฟ้อง และเนื่องจากตามตารางการปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยระบุว่า ระหว่างวันที่ 2 ถึง 8 กุมภาพันธ์ 2542 โจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 20.25 ต่อปี แสดงว่าในช่วงนี้โจทก์น่าจะมีประกาศธนาคารโจทก์ปรับลดอัตราดอกเบี้ยจากอัตราเดิมลงร้อยละ 0.50 แต่โจทก์มิได้ส่งอ้างประกาศธนาคารโจทก์ฉบับนี้ต่อศาลด้วย นอกจากนี้ตามบัญชีแสดงรายการคำนวณหนี้มีการคิดดอกเบี้ยของต้นเงิน 12,172,561.71 บาท ในช่วงระหว่างวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2541 ถึงวันที่ 15 เมษายน 2541 ในอัตราร้อยละ 25 ต่อปี แต่โจทก์มิได้ส่งอ้างประกาศธนาคารโจทก์ที่ใช้บังคับในช่วงนี้ด้วยเช่นกัน ถือว่าโจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่าโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 ในช่วงดังกล่าวตามอัตราที่โจทก์ฟ้อง เห็นสมควร กำหนดให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในช่วงระยะเวลา 2 ช่วง ดังกล่าวอัตราร้อยละ 10.75 ต่อปี ตามที่ระบุในสัญญาทรัสต์รีซีทเท่านั้น…
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระหนี้แก่โจทก์รวม 2 รายการตามสัญญาทรัสต์รีซีท โดยหนี้รายการแรกให้ร่วมกันชำระต้นเงินที่เป็นผลลัพธ์จากการคิดคำนวณโดยนำต้นเงินที่ค้างชำระอยู่เดิม 12,172,561.71 บาท มาคิดดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2541 ถึงวันที่ 15 เมษายน 2541 ในอัตราร้อยละ 10.75 ต่อปี และคิดดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 16 เมษายน 2541 ถึงวันที่ 1 มิถุนายน 2541 ในอัตราร้อยละ 21.25 ต่อปี ได้จำนวนดอกเบี้ยทั้งสองช่วงเวลาดังกล่าวรวมกันเท่าใด ให้นำเงินที่มีการชำระหนี้จำนวน 926,448.67 บาท เข้าหักชำระดอกเบี้ยดังกล่าว เหลือเงินที่ชำระหนี้อีกเท่าใด ให้นำมาหักชำระต้นเงินจำนวน 12,172,561.71 บาท ได้ต้นเงินคงเหลือเท่าใดให้คิดดอกเบี้ยของต้นเงินคงเหลือนี้นับแต่วันที่ 2 มิถุนายน 2541 ถึงวันที่ 23 กรกฎาคม 2541 แล้วนำเงินชำระหนี้จำนวน 4,069,641.71 บาท เข้าหักชำระต้นเงินคงเหลือดังกล่าวทั้งจำนวน ได้ผลลัพธ์เท่าใดให้เป็นต้นเงินที่จำเลยทั้งสามต้องชำระหนี้นับแต่วันที่ 24 กรกฎาคม 2541 จนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น ส่วนหนี้รายการที่ 2 ให้ร่วมกันชำระต้นเงินที่เป็นผลลัพธ์จากการคิดคำนวณ โดยนำต้นเงินจำนวน 61,359,760 บาท มาคิดดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 27 เมษายน 2541 ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2541 ในอัตราร้อยละ 21.25 ต่อปี แล้วนำเงินชำระหนี้จำนวน 1,412,115.02 บาท เข้าหักชำระหนี้ดอกเบี้ย เหลือเท่าใดให้หักชำระต้นเงินจำนวน 61,359,760 บาท ได้ผลลัพธ์เท่าใดให้เป็นต้นเงินที่จำเลยทั้งสามต้องร่วมกันชำระแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2541 เป็นต้นไป โดยการคิดดอกเบี้ยของต้นเงินที่ต้องชำระทั้ง 2 รายการ ให้คิดต่อไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้นดังกล่าวข้างต้นในอัตราดอกเบี้ยสูงสุดสำหรับลูกค้าทั่วไปซึ่งไม่ได้ผิดนัดตามประกาศธนาคารโจทก์ เรื่อง อัตราดอกเบี้ยให้สินเชื่อรวม 13 ชุด คือฉบับลงวันที่ 10 เมษายน 2541 ฉบับลงวันที่ 20 ตุลาคม 2541 ฉบับลงวันที่ 10 พฤศจิกายน 2541 ฉบับลงวันที่ 26 พฤศจิกายน 2541 ฉบับลงวันที่ 11 ธันวาคม 2541 ฉบับลงวันที่ 29 ธันวาคม 2541 ฉบับลงวันที่ 27 มกราคม 2542 ฉบับลงวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2542 ฉบับลงวันที่ 15 มีนาคม 2542 ฉบับลงวันที่ 26 พฤษภาคม 2542 ฉบับลงวันที่ 18 มิถุนายน 2542 และฉบับลงวันที่ 16 กรกฎาคมคม 2542 กับประกาศธนาคารโจทก์ เรื่อง อัตราดอกเบี้ยให้สินเชื่อฉบับที่โจทก์ประกาศต่อ ๆ ไปภายหลังวันฟ้องโดยคิดตามช่วงระยะเวลาที่ประกาศธนาคารโจทก์แต่ละฉบับมีผลใช้บังคับสำหรับหนี้แต่ละรายการจนกว่าจำเลยทั้งสามจะร่วมกันชำระหนี้แต่ละรายการเสร็จสิ้น แต่ดอกเบี้ยหลังวันฟ้องต้องไม่เกินร้อยละ 16 ต่อปี ตามที่โจทก์ฟ้อง เว้นแต่ดอกเบี้ยเฉพาะช่วงระหว่างวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2542 ถึงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2542 คงให้คิดในอัตราร้อยละ 10.75 ต่อปี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

Share