คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3128/2525

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์เป็นพนักงานของการรถไฟแห่งประเทศไทย จำเลย มีตำแหน่งเป็นผู้ช่วยนายสถานี ได้ร่วมดื่มสุรากับบุคคลภายนอกในห้องนายสถานีในขณะปฏิบัติงานในหน้าที่เกี่ยวกับการเดินรถ แม้จะไม่ถึงขั้นมึนเมา ก็ถือว่าการกระทำของโจทก์อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่การรถไฟแห่งประเทศไทยและประชาชนอย่างร้ายแรงได้ จำเลยจึงชอบที่จะลงโทษโจทก์ไล่ออกตามกฎข้อบังคับและระเบียบการเดินรถและประมวลการลงโทษผู้ปฏิบัติงานของการรถไฟแห่งประเทศไทยได้ กรณีมิใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2500 จำเลยได้จ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำตำแหน่งเสมียนนายสถานีบำเหน็จณรงค์ แขวงเดินรถแก่งคอย เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2524 จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยกล่าวหาว่า ดื่มสุราในขณะปฏิบัติหน้าที่ซึ่งเป็นความผิดร้ายแรงทั้งนี้ตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการสอบสวนและพิจารณาโทษทางวินัย ซึ่งต่อมาโจทก์ได้อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อคณะกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทย แต่คณะกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทยยังคงยืนยันให้เลิกจ้างโจทก์ตามคำสั่งเดิม โจทก์ไม่ได้กระทำความผิดตามคำสั่งดังกล่าว การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์มีสาเหตุโกรธเคืองกับผู้บังคับบัญชาในเรื่องส่วนตัว เป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม ทั้งในการเลิกจ้างจำเลยมิได้บอกกล่าวล่วงหน้าและไม่ได้จ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ขอให้เพิกถอนคำสั่งไล่ออกของจำเลยที่ 1/นท. 1/8406/2524 ให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งอัตราค่าจ้างเดิม โดยถือเสมือนหนึ่งว่าไม่มีการเลิกจ้าง หากจำเลยไม่สามารถรับโจทก์กลับเข้าทำงานได้ให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตั้งแต่วันที่ 20 พฤศจิกายน 2524 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2524 เป็นเงิน 7,416 บาท ค่าเสียหายเนื่องจากเลิกจ้างไม่เป็นธรรม คิดจากอัตราเงินเดือนครั้งสุดท้ายคูณด้วยอายุการทำงานของโจทก์จนกว่าจะครบเกษียณอายุจำนวน 14 ปี เป็นเงิน 747,600 บาท กับให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยรวม 180 วัน เป็นเงิน 26,700 บาทแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า ก่อนโจทก์ย้ายไปเป็นนายสถานีบำเหน็จณรงค์ แขวงเดินรถแก่งคอย ฝ่ายการเดินรถ โจทก์มีตำแหน่งเป็นผู้ช่วยนายสถานีรถไฟหนองเต็ง เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2523 ขณะโจทก์ปฏิบัติหน้าที่เป็นนายสถานีรถไฟหนองเต็งซึ่งทำงานเกี่ยวกับการเดินรถ โจทก์ได้เสพสุราร่วมกับผู้อื่น จำเลยได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนโจทก์คณะกรรมการมีความเห็นว่าโจทก์เสพสุราในเวลาปฏิบัติงานในหน้าที่เกี่ยวกับการเดินรถมีความผิดตามประมวลการลงโทษผู้ปฏิบัติงานในการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2517 ข้อ 1.31 ซึ่งเป็นความผิดฐานประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงตามข้อบังคับคณะกรรมการรถไฟ ฉบับที่ 3 ข้อ 4(ฉ) โทษไล่ออก จำเลยได้นำเรื่องเข้าที่ประชุมผู้อำนวยการฝ่ายและหัวหน้าสำนักงานเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2524 ที่ประชุมมีมติว่าโจทก์ได้ดื่มสุราในเวลาปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการเดินรถจริง จำเลยจึงมีคำสั่งไล่โจทก์ออกจากงานตั้งแต่วันที่ 20 พฤศจิกายน 2524 เป็นต้นไป จำเลยได้ให้ความยุติธรรมแก่โจทก์อย่างเต็มที่ การสอบสวนและพิจารณาได้กระทำตามขั้นตอนทุกประการ โจทก์ไม่มีสิทธิที่จะให้จำเลยรับกลับเข้าทำงานหรือเรียกค่าเสียหาย จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะเหตุที่โจทก์ฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานหรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้างซึ่งเป็นกรณีร้ายแรงโจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 47(3) ไม่มีสิทธิเรียกสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเพราะจำเลยเลิกจ้างโจทก์ถูกต้องตามระเบียบข้อบังคับจำเลย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าไม่ถูกต้อง ที่ถูกเป็นเงินเพียง 5,933.33 บาท ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า โจทก์ดื่มสุราในการปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการเดินรถ มีเหตุเพียงพอที่จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์ได้ ไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม การกระทำของโจทก์เป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามที่กำหนดไว้ในกฎข้อบังคับและระเบียบการเดินรถ พ.ศ. 2515 ข้อ 206 ซึ่งมีโทษถึงไล่ออกตามที่กำหนดไว้ในประมวลการลงโทษผู้ปฏิบัติงานของการรถไฟแห่งประเทศไทยพ.ศ. 2517 ข้อ 1.31 ซึ่งถือได้ว่าเป็นการประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงมีโทษถึงไล่ออกตามข้อบังคับฉบับที่ 3 ว่าด้วยระเบียบวินัยและการลงโทษพนักงานของการรถไฟแห่งประเทศไทย ข้อ 3 และ 4 เข้าลักษณะฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานของนายจ้างในกรณีร้ายแรง จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 47(3) และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่ากฎข้อบังคับและระเบียบการเดินรถ พ.ศ. 2505 ข้อ 206 กำหนดว่า “ห้ามไม่ให้พนักงานประจำขบวนรถหรือพนักงานประจำสถานีเสพสุราเมรัยและของมึนเมาในระหว่างเวลาซึ่งอยู่ในหน้าที่เป็นอันขาด หรือจะเสพนอกเวลาทำงานแต่มามึนเมาในระหว่างทำการตามหน้าที่ก็ไม่ได้เช่นเดียวกัน” ประมวลการลงโทษผู้ปฏิบัติงานของการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2517 ข้อ 1 ลักษณะความผิดเกี่ยวกับความประพฤติระดับโทษไล่ออก ข้อ 1.31 กำหนดว่า “เมาหรือเสพสุราเมรัยในเวลาปฏิบัติงานในหน้าที่เกี่ยวกับการเดินรถ” เห็นได้ว่ากฎข้อบังคับและประมวลการลงโทษดังกล่าวหาได้ระบุว่าต้องเป็นการเสพสุราถึงขั้นมึนเมาไม่ ทั้งถ้อยคำแสดงว่าเป็นการห้ามเสพโดยเด็ดขาด ฉะนั้นการเสพสุราในเวลาปฏิบัติงานในหน้าที่เกี่ยวกับการเดินรถ แม้ไม่ถึงขั้นมึนเมาก็อยู่ในความหมายของกฎข้อบังคับและระเบียบการเดินรถ พ.ศ. 2505 ข้อ 206 และประมวลการลงโทษผู้ปฏิบัติงานของการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2517 ข้อ 1.31 แล้ว ส่วนที่จำเลยอาจลงโทษผู้ฝ่าฝืนไม่ถึงขั้นไล่ออกได้นั้นเนื่องจากประมวลการลงโทษผู้ปฏิบัติงานของการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2517 ข้อ 2 วิธีพิจารณาโทษวรรคหนึ่งกำหนดว่า ระดับโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดต่าง ๆ ที่ระบุไว้ในประมวลการลงโทษนี้เป็นโทษสายกลาง ผู้บังคับบัญชาอาจพิจารณาโทษหนักหรือเบากว่านั้นได้ตามเงื่อนไขในข้อ 3 สำหรับกรณีนี้โจทก์ร่วมดื่มสุรากับบุคคลภายนอกในห้องนายสถานีรถไฟในเวลาที่โจทก์ปฏิบัติหน้าที่นายสถานีทางสะดวกมีลักษณะจงใจฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับและการกระทำของโจทก์อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่การรถไฟแห่งประเทศไทยและประชาชนอย่างร้ายแรงได้ จำเลยลงโทษโจทก์ในระดับโทษถึงขั้นไล่ออกจึงชอบด้วยระเบียบข้อบังคับแล้วหาเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ไม่

พิพากษายืน

Share