แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
หลักฐานการจองที่ดินและตึกพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยมีข้อความว่า ‘1. การจองนี้มีผลผูกพันบริษัท ฯ ภายใน15 วัน นับจากวันจอง 2. หลักฐานนี้เป็นเพียงหลักฐานการจอง บริษัท ฯ จะออกใบรับเงินที่ถูกต้องในวันทำสัญญา3.บริษัท ฯ สงวนสิทธิในการพิจารณาทำสัญญาตามเงื่อนไขและข้อกำหนดของบริษัท ฯ ‘ ข้อความในข้อ 2 และข้อ3 แสดงว่าโจทก์และจำเลยจะต้องทำสัญญาจะซื้อขายเป็นหนังสือกันอีก โดยจำเลยสงวนสิทธิเป็นผู้พิจารณาวางเงื่อนไขและข้อกำหนดในสัญญาดังกล่าว กรณีจึงต้องตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 366 วรรคสอง เมื่อโจทก์และจำเลยยังไม่ได้ทำสัญญาจะซื้อขายกันในวันที่กำหนดไว้สัญญาจะซื้อขายทรัพย์รายพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงยังไม่เกิดขึ้น โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องบังคับให้จำเลยขายทรัพย์พิพาทให้แก่โจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองโอนที่ดินและตึกแถวพิพาทแก่โจทก์ โดยอ้างว่าโจทก์ได้ตกลงซื้อไว้ในราคา 150,000 บาท และได้ชำระเงิน 2,000 บาทแก่จำเลยที่ 1 ไปแล้ว หากโอนไม่ได้ให้ร่วมกันชำระค่าเสียหาย
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้รับจองการซื้อที่ดินจากโจทก์การจองเป็นการวางเงินเพียงเล็กน้อย เพื่อมิให้จำเลยที่ 1 จำหน่ายที่ดินและตึกให้แก่บุคคลอื่นผู้จองจะต้องไปตกลงทำสัญญากับจำเลยที่ 1 ในเรื่องราคาเป็นต้นอีกครั้งหนึ่ง โจทก์ยังมิได้ตกลงในเรื่องดังกล่าวอันเป็นสารสำคัญในการทำสัญญากับจำเลยที่ 1 สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ยังไม่เกิด โจทก์ไม่เสียหายตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 โอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน พร้อมตึกแถวตามฟ้องให้แก่โจทก์ และให้รับเงินที่เหลือ 148,000 บาทจากโจทก์
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยที่ 1 คืนเงิน 2,000 บาท ให้แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ย คำขอของโจทก์นอกจากนี้ให้ยก
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ได้จองที่ดินโฉนดเลขที่ 17683 แปลงที่ 33พร้อมด้วยตึก 1 ห้อง โดยจองต่อจำเลยที่ 1 ผ่านทางจำเลยที่ 2 เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 โจทก์ได้ชำระเงินค่าจอง 2,000 บาท จำเลยที่ 1 ได้ออกหลักฐานการจองให้ตามเอกสารหมาย จ.1 โจทก์จะต้องไปทำสัญญาจะซื้อขายกับจำเลยที่ 1 ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2521 ตามหลักฐานการจองเอกสารหมาย จ.1 ด้านหลังมีข้อความอันเป็นเงื่อนไขในการจองว่า “1. การจองนี้มีผลผูกพันกับบริษัทภายใน 15 วันนับจากวันจอง 2. หลักฐานนี้เป็นเพียงหลักฐานการจอง บริษัทฯ จะออกใบรับเงินที่ถูกต้องในวันทำสัญญา 3. บริษัทฯ สงวนสิทธิในการพิจารณาทำสัญญาตามเงื่อนไขและข้อกำหนดของบริษัทฯ”
ในปัญหาที่ว่าสัญญาจะซื้อขายที่ดิน และตึกพิพาทเกิดขึ้นแล้วหรือไม่ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อความหลังใบจองข้อ 2 ดังกล่าวจะเห็นได้ว่า ระบุไว้ชัดเจนว่าเป็นเพียงหลักฐานการจองที่ดินพิพาท และเงื่อนไขข้อ 3 หลังใบจองนั้นก็ระบุไว้ชัดเจนว่าจำเลยที่ 1 สงวนสิทธิในการที่จะพิจารณาทำสัญญาตามเงื่อนไขและข้อกำหนดของจำเลยที่ 1 แสดงว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 จะต้องทำสัญญาจะซื้อขายเป็นหนังสือกันอีก โดยจำเลยที่ 1 สงวนสิทธิเป็นผู้พิจารณาวางเงื่อนไขและข้อกำหนดในสัญญาดังกล่าว กรณีจึงต้องตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 366 วรรคสอง ดังนั้นเมื่อโจทก์และจำเลยที่ 1 ยังไม่ได้ทำสัญญาจะซื้อขายกันในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2521 สัญญาจะซื้อขายทรัพย์รายพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงยังไม่เกิดขึ้น โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องบังคับให้จำเลยที่ 1 ขายทรัพย์พิพาทให้แก่โจทก์
พิพากษายืน