คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3122/2523

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานเบิกความเท็จตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177จำคุกจำเลย 2 ปีศาลอุทธรณ์พิพากษายืน คดีจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218
แม้โจทก์จะขอระบุพยานเพิ่มเติมเมื่อสืบพยานโจทก์จำเลยเสร็จจนจำเลยแถลงหมดพยานแล้วก็ตาม ศาลชั้นต้นก็มีอำนาจที่จะสั่งรับระบุพยานเพิ่มเติมของโจทก์ และรับฟังเอกสารที่อ้างนั้นมาวินิจฉัยคดีได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 228
การร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713ปัญหาว่าผู้ร้องเป็นทายาทมีสิทธิรับมรดกหรือไม่เป็นประเด็นโดยตรง และเป็นข้อสำคัญในคดีซึ่งศาลจำต้องวินิจฉัย การที่จำเลยเบิกความเป็นพยานในคดีที่จำเลยร้องขอเป็นผู้จัดการมรดก ว่าผู้ตายไม่มีภรรยาและบุตร และศาลเชื่อตามคำเบิกความ เป็นผลให้จำเลยซึ่งเป็นน้องผู้ตายมีสิทธิรับมรดกและศาลได้แต่งตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกทำให้โจทก์ซึ่งเป็นผู้สืบสันดานลำดับต้นและมีสิทธิรับมรดกของผู้ตายเป็นผู้เสียประโยชน์ คำเบิกความของจำเลยจึงเป็นข้อสำคัญในคดี

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นบุตรนายพิชัย ศรีไมตรีพิทักษ์ บิดากับนางประยูร ทิมโอสถ มารดา บิดามารดาโจทก์แต่งงานกันโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส แต่ได้อยู่กินร่วมกันฉันสามีภรรยาและประกอบอาชีพร่วมกันมานาน 17 ปี บิดาโจทก์จึงถึงแก่กรรม ระหว่างมีชีวิตบิดาโจทก์ได้รับรองโจทก์เป็นบุตรโดยการให้ใช้ชื่อสกุล อุปการะเลี้ยงดู ให้การศึกษา และให้ใส่ชื่อร่วมในกิจการต่าง ๆ เช่นบัญชีเงินฝากในธนาคารและใบหุ้น ปัจจุบันโจทก์เป็นผู้เยาว์อายุ 16 ปี อยู่ในอำนาจปกครองของนางประยูรมารดา โจทก์จึงเป็นทายาทผู้สืบสันดานของบิดาโจทก์มีสิทธิรับมรดกได้ตามกฎหมาย จำเลยได้ทราบข้อเท็จจริงดังกล่าวอยู่แล้ว ได้บังอาจกระทำผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างวาระกัน กล่าวคือ เมื่อประมาณเดือนเมษายน 2520 เวลากลางวัน จำเลยซึ่งเป็นน้องชายของนายพิชัยผู้ตายได้สาบานตัวเบิกความต่อศาลแพ่งในคดีหมายเลขแดงที่ 3832/2521เรื่องขอเป็นผู้จัดการมรดกว่านายพิชัย ผู้ตายไม่มีบุตรภริยาและไม่มีบุตรบุญธรรมและนำสืบแสดงเอกสารเท็จบัญชีเครือญาติ ต่อศาลในการพิจารณาคดีดังกล่าวซึ่งเป็นข้อสำคัญในคดี ทำให้ศาลหลงเชื่อแล้วมีคำสั่งให้จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกและได้รับมรดกแต่ผู้เดียว เพราะเชื่อว่าผู้ตายไม่มีทายาทอื่นใดใกล้ชิดหรือมีบุคคลที่เหมาะสมกว่า การกระทำดังกล่าวทำให้โจทก์ ประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียได้รับความเสียหาย โดยจำเลยมีเจตนาทุจริต จะนำทรัพย์มรดกไปใช้ส่วนตัว ไม่ให้ทายาทใกล้ชิดกว่าได้รับมรดก ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 177, 180, 91

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว มีคำสั่งประทับฟ้อง

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177 จำคุกจำเลย 2 ปี

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานเบิกความเท็จตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177 จำคุกจำเลย 2 ปีศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 คู่ความฎีกาได้แต่เฉพาะข้อกฎหมาย การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาแล้ว ซึ่งศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า นายพิชัยผู้ตายได้รับรองโจทก์เป็นบุตรโดยพฤตินัย จำเลยทราบอยู่ก่อนแล้วว่าโจทก์เป็นบุตรของนายพิชัย จำเลยเบิกความในคดีที่จำเลยขอเป็นผู้จัดการมรดกของนายพิชัยว่าผู้ตายไม่มีบุตร เป็นความเท็จ

ที่จำเลยฎีกาว่า ศาลชั้นต้นรับฟังเอกสารตามระบุพยานเพิ่มเติมของโจทก์ เมื่อจำเลยแถลงหมดพยานจำเลยแล้ว เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นว่าแม้โจทก์จะขอระบุพยานเพิ่มเติมเมื่อสืบพยานโจทก์จำเลยเสร็จ จนจำเลยแถลงหมดพยานก็ตามศาลชั้นต้นก็มีอำนาจที่จะสั่งรับระบุพยานเพิ่มเติมของโจทก์และรับฟังมาวินิจฉัยคดีได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 228

ที่จำเลยฎีกาว่า การร้องขอเป็นผู้จัดการมรดก ปัญหาว่าโจทก์เป็นทายาทหรือไม่ ไม่ใช่ประเด็นสำคัญในคดีนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าการร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713 ปัญหาว่าผู้ร้องเป็นทายาทมีสิทธิรับมรดกหรือไม่เป็นประเด็นโดยตรง และเป็นข้อสำคัญในคดีซึ่งศาลจำต้องวินิจฉัย จำเลยเบิกความเป็นพยานในคดีที่จำเลยร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกว่า ผู้ตายไม่มีภรรยายและบุตร และศาลเชื่อตามคำเบิกความย่อมเป็นผลให้จำเลยซึ่งเป็นน้องผู้ตาย มีสิทธิรับมรดก และศาลได้แต่งตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดก ทำให้โจทก์ซึ่งเป็นผู้สืบสันดานลำดับต้น และมีสิทธิรับมรดกของผู้ตายเป็นผู้เสียประโยชน์ คำเบิกความของจำเลยจึงเป็นข้อสำคัญในคดี

พิพากษายืน

Share