คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3120/2528

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ขณะโจทก์เกิดบิดามารดาของโจทก์ยังไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันมารดาโจทก์เป็นคนต่างด้าวที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยมิได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองโจทก์จึงต้องถูกถอนสัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 337 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515 ข้อ 1แม้บิดามารดาของโจทก์จะได้จดทะเบียนสมรสกันในภายหลัง มีผลให้โจทก์กลายเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของบิดาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1547 ก็ตาม ก็หาทำให้โจทก์กลับได้สัญชาติไทยตามพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.2508ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้กับกรณีทั่วๆไปอีกไม่ ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ได้กำหนดเรื่องการถอนสัญชาติไทยและการได้สัญชาติไทยของบุคคลบางประเภทไว้เป็นพิเศษยิ่งกว่าการเสียสัญชาติไทยและการกลับคืนสัญชาติไทยตามพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.2508 และในข้อ 3ของประกาศนั้นยังระบุไว้อีกด้วยว่า ถ้ามีบทกฎหมายใดขัดหรือแย้งกับประกาศนี้ก็ให้ใช้ประกาศนี้แทนแสดงให้เห็นว่าประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 มีผลบังคับเป็นพิเศษยิ่งกว่าพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.2508 ซึ่งเป็นกฎหมายว่าด้วยสัญชาติโดยทั่วๆ ไปทั้งนี้เพราะการได้สัญชาติก่อให้เกิดสิทธิบางประการแก่ผู้ได้รับสัญชาติแต่ขณะเดียวกันก็ก่อให้เกิดหน้าที่แก่รัฐต่อผู้ได้รับสัญชาติด้วยจึงเป็นอำนาจของรัฐที่จะให้สัญชาติแก่ผู้ใดตามเงื่อนไขที่รัฐเห็นว่าเหมาะสมซึ่งก็ขึ้นอยู่กับนโยบายเหตุการณ์บ้านเมืองและความจำเป็นของแต่ละประเทศเมื่อปรากฏว่าโจทก์ถูกถอนสัญชาติตามประกาศของคณะปฏิวัติดังกล่าวโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมิได้มีคำสั่งยกเว้นเป็นอย่างอื่นโจทก์ก็ย่อมไม่ได้สัญชาติไทย ด้วยเหตุผลพิเศษตามที่ระบุไว้ในประกาศของคณะปฏิวัตินั้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าเกิดในราชอาณาจักรไทย บิดาโจทก์มีสัญชาติไทย ส่วนมารดาเป็นคนญวนอพยพ โจทก์ได้สัญชาติไทยตามบิดา โจทก์อายุ 17 ปีบริบูรณ์ไปขอรับบัตรประจำตัวประชาชนกับจำเลยซึ่งเป็นนายทะเบียน แต่จำเลยไม่ยอมทำบัตรประจำตัวประชาชนให้ ขอให้พิพากษาว่าโจทก์มีสัญชาติไทย บังคับให้จำเลยทำบัตรประจำตัวประชาชนให้โจทก์

จำเลยให้การว่าโจทก์ถูกถอนสัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 337 ลงวันที่ 15 ธันวาคม 2515 แล้ว บิดามารดาโจทก์จดทะเบียนสมรสกันภายหลัง ไม่ทำให้โจทก์ได้สัญชาติไทย โจทก์ไม่มีสิทธิขอให้จำเลยทำบัตรประจำตัวประชาชน

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่าโจทก์มีสัญชาติไทย ให้จำเลยทำบัตรประจำตัวประชาชนให้แก่โจทก์จำเลยฎีกา

ข้อเท็จจริงได้ความว่า บิดาโจทก์เป็นคนสัญชาติไทย มารดาเป็นคนสัญชาติญวนที่เข้ามาในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งทางราชการเรียกว่าคนญวนอพยพโจทก์เกิดเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2508 ขณะนั้นบิดามารดาโจทก์ยังมิได้จดทะเบียนสมรสเพิ่งมาจดทะเบียนสมรสกันเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2525 ขณะฟ้องโจทก์มีอายุ 17 ปีเศษ

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ขณะที่โจทก์เกิดเมื่อปี 2508 นั้นบิดามารดาของโจทก์ยังไม่ได้สมรสกัน มารดาโจทก์เป็นคนต่างด้าวที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยมิได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง โจทก์จึงต้องถูกถอนสัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515 ข้อ 1ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ได้กำหนดเรื่องการถอนสัญชาติไทยและการได้สัญชาติไทยของบุคคลบางประเภทไว้เป็นพิเศษ ยิ่งกว่าการเสียสัญชาติไทยและการกลับคืนสัญชาติไทยตามพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 ซึ่งบังคับใช้กับกรณีทั่วไป เหตุที่ได้มีประกาศของคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าวนี้ปรากฏจากประกาศดังกล่าวนั้นเองว่า “โดยที่พิจารณาเห็นว่า บุคคลที่เกิดในราชอาณาจักรไทยโดยบิดาหรือมารดาเป็นคนต่างด้างที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง หรือบิดาหรือมารดาเป็นคนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรไทยโดยได้รับอนุญาตให้เข้ามาอยู่เพียงชั่วคราวหรือเป็นกรณีพิเศษเฉพาะราย บุคคลเหล่านี้แม้จะมีสัญชาติไทย แต่ก็มิได้มีความจงรักภักดีต่อประเทศไทย เพื่อป้องกันและรักษาความมั่นคงแห่งชาติสมควรมิให้บุคคลดังกล่าวมีหรือได้สัญชาติไทยอีกต่อไป” บุคคลดังกล่าวนี้ที่เกิดก่อนประกาศของคณะปฏิวัติใช้บังคับจะถูกถอนสัญชาติไทย เว้นแต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจะสั่งเป็นอย่างอื่นเป็นราย ๆ ไป ถ้าบุคคลดังกล่าวนั้นเกิดภายหลังที่ประกาศของคณะปฏิวัติใช้บังคับก็จะไม่ได้สัญชาติไทยเลยเว้นแต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจะสั่งเป็นอย่างอื่นเป็นการเฉพาะรายไปตามที่กำหนดไว้ในข้อ 1 และ 2 ของประกาศดังกล่าว นอกจากนั้นในข้อ 3ของประกาศนั้นยังระบุไว้อีกด้วยว่า ถ้ามีบทกฎหมายใดขัดหรือแย้งกับประกาศนี้ก็ให้ใช้ประกาศนี้แทน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515 มีผลบังคับเป็นพิเศษยิ่งกว่าพระราชบัญญัติสัญชาติพ.ศ. 2508 ซึ่งเป็นกฎหมายว่าด้วยสัญชาติโดยทั่ว ๆ ไป ทั้งนี้ก็เพราะการได้สัญชาติก่อให้เกิดสิทธิบางประการแก่ผู้ได้รับสัญชาติ แต่ขณะเดียวกันก็ก่อให้เกิดหน้าที่แก่รัฐต่อผุ้ได้รับสัญชาติด้วย จึงเป็นอำนาจของรัฐที่จะให้สัญชาติแก่ผู้ใดตามเงื่อนไขที่รัฐเห็นว่าเหมาะสมซึ่งก็ขึ้นอยู่กับนโยบาย เหตุการณ์บ้านเมืองและความจำเป็นของแต่ละประเทศ เมื่อปรากฏว่าโจทก์ถูกถอนสัญชาติตามประกาศของคณะปฏิวัติดังกล่าว โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมิได้มีคำสั่งยกเว้นเป็นอย่างอื่นโจทก์ก็ย่อมไม่ได้สัญชาติไทย ด้วยเหตุผลพิเศษตามที่ระบุไว้ในประกาศของคณะปฏิวัตินั้น แม้บิดามารดาของโจกท์จะได้สมรสกันในภายหลังมีผลให้โจกท์กลายเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของบิดาขึ้นมา ตามบทบัญญัติของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1547 ก็ตาม ก็หาทำให้โจทก์กลับได้สัญชาติไทยตามพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้กับกรณีทั่ว ๆ ไปอีกไม่ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าโจทก์ได้สัญชาติไทยตามพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508มาตรา 7(1) หาต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาไม่ ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น

พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

Share