คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 312/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่า ผู้เสียหายเป็นผู้ใหญ่บ้านเป็นเจ้าพนักงานมีอำนาจหน้าที่ร่วมกับเจ้าพนักงานที่ดินทำการชี้เขตรังวัดที่พิพาทกันในเขตปกครองท้องที่ได้ร่วมกับเจ้าพนักงานที่ดินทำการชี้เขตรังวัดที่ดินที่พิพาทกัน ณ เขตรับผิดชอบ อันเป็นการปฏิบัติการตามหน้าที่ตาม ป.อ. มาตรา 136 แต่ทางพิจารณาได้ความว่า ผู้เสียหายไปร่วมรังวัดที่ดินดังกล่าว โดยไม่มีเจ้าพนักงานที่ดินไปร่วมรังวัดที่ดินด้วย ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างจากข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้องในข้อสาระสำคัญ ศาลต้องพิพากษายกฟ้อง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง
การที่ศาลชั้นต้นฟังว่า ผู้เสียหายไปทำการรังวัดที่ดินเพื่อระงับข้อพิพาท เป็นการกระทำตามอำนาจหน้าที่ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานและจำเลยกล่าวถ้อยคำดูหมิ่นผู้เสียหายเพราะได้กระทำการตามหน้าที่ พิพากษาลงโทษจำเลยเป็นการพิพากษาโดยอาศัยข้อเท็จจริงที่มิได้กล่าวในฟ้อง ฝ่าฝืนต่อ ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง เป็นการไม่ชอบแม้ศาลอุทธรณ์ จะรับวินิจฉัยโดยเห็นว่า การที่ผู้เสียหายไปรังวัดที่ดินเพื่อระงับข้อพิพาทของราษฎรในทางแพ่ง ไม่ใช่การปฏิบัติการตามหน้าที่ของผู้ใหญ่บ้านหรือเจ้าพนักงานตาม พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457 มาตรา 10, 27 และพิพากษายกฟ้อง ก็ไม่ถือว่า ปัญหาตามที่โจทก์ฎีกาว่า ผู้เสียหายไปเป็นพยานในการรังวัดที่ดินเพื่อระงับข้อพิพาทของราษฎร ในทางแพ่งเป็นการปฏิบัติการตามอำนาจหน้าที่ผู้ใหญ่บ้านในฐานะเจ้าพนักงาน เป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบ ในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วย มาตรา 15

ย่อยาว

โจทก์ฟ้อง ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๓๖
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๓๖ ลงโทษจำคุก ๒ เดือน ปรับ ๒,๐๐๐ บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ มีกำหนด ๑ ปี ให้คุมความประพฤติจำเลยไว้ภายในกำหนดเวลาดังกล่าว โดยให้รายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก ๓ เดือน ต่อครั้ง ให้จำเลยทำงานบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์เป็นเวลา ๑๒ ชั่วโมงภายในเวลา ๑ ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๖ ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙, ๓๐
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๓ พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่โจทก์ฎีกาว่า การที่ผู้เสียหายไปเป็นพยานคนกลางในการรังวัดที่ดินในคดีนี้ เป็นการกระทำในฐานะผู้ใหญ่บ้านซึ่งมีหน้าที่เป็นคนกลางในการไกล่เกลี่ยประนอมข้อพิพาทระหว่างราษฎรในหมู่บ้าน อันเป็นการใช้อำนาจในทางปกครอง จึงเป็นการปฏิบัติการตามหน้าที่ของเจ้าพนักงานนั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า ผู้เสียหายเป็นผู้ใหญ่บ้านเป็นเจ้าพนักงานมีอำนาจหน้าที่ร่วมกับเจ้าพนักงานที่ดินทำการชี้เขตรังวัดที่พิพาทกันในเขตปกครองท้องที่หมู่บ้านแก้งอุดม ได้ร่วมกับเจ้าพนักงานที่ดินทำการชี้เขตรังวัดที่ดินที่พิพาทกัน ณ เขตรับผิดชอบระหว่างนางถ่อน ละสิทธิ์ นายสอน ละสิทธิ์ และนายม้วน บุญกว้าง อันเป็นการปฏิบัติการตามหน้าที่ แต่ทางพิจารณาได้ความว่า การที่ผู้เสียหายไปร่วมรังวัดที่ดินดังกล่าวเพื่อการระงับข้อพิพาทระหว่างนางถ่อน นายสอน และนายม้วน โดยไม่มีเจ้าพนักงานที่ดินไปร่วมรังวัดที่ดินด้วย เห็นได้ว่า ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างจากข้อเท็จจริงดั่งที่กล่าวในฟ้องในข้อสาระสำคัญ ศาลต้องพิพากษายกฟ้อง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๙๒ วรรคสอง ที่ศาลชั้นต้นฟังว่า การที่ผู้เสียหายไปทำการรังวัดที่ดินเพื่อระงับข้อพิพาท เป็นการกระทำตามอำนาจหน้าที่ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานและฟังว่าจำเลยกล่าวถ้อยคำดูหมิ่นผู้เสียหายเพราะได้กระทำการตามหน้าที่ พิพากษาลงโทษจำเลย จึงเป็นการพิพากษาโดยอาศัยข้อเท็จจริงส่วนที่มิได้กล่าวในฟ้อง ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๙๒ วรรคหนึ่ง เป็นการไม่ชอบ แม้ศาลอุทธรณ์ภาค ๓ จะรับวินิจฉัยโดยเห็นว่า การที่ผู้เสียหายไปรังวัดที่ดินเพื่อระงับข้อพิพาทของราษฎรในทางแพ่งนั้น ไม่ใช่การปฏิบัติการตามหน้าที่ของผู้ใหญ่บ้านหรือเจ้าพนักงานตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. ๒๔๕๗ มาตรา ๑๐, ๒๗ และพิพากษายกฟ้อง ก็ไม่ถือว่า ปัญหาตามที่โจทก์ฎีกาว่า การที่ผู้เสียหายไปเป็นพยานในการรังวัดที่ดินเพื่อระงับข้อพิพาทของราษฎรในทางแพ่งเป็นการปฏบัติการตามอำนาจหน้าที่ผู้ใหญ่บ้านในฐานะเจ้าพนักงานนั้น เป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค ๓ จึงต้องห้ามมิให้ฎีกา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๔๙ วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๕ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายืน.

Share