คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3119/2558

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามฐานร่วมกันบุกรุก ตาม ป.อ. มาตรา 365 และร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ ตาม ป.อ. มาตรา 359 ซึ่งต่างมีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่การที่จะเป็นความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตามมาตรา 359 (4) นั้น ต้องได้ความว่าเจ้าของทรัพย์นั้นเป็นกสิกร เมื่อโจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่า ข้าวนาปรังที่จำเลยทั้งสามร่วมกันทำให้เสียหายเป็นพืชหรือพืชผลของกสิกร จึงไม่อาจลงโทษจำเลยทั้งสามตาม ป.อ. มาตรา 359 ได้ เท่ากับความผิดฐานร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามแต่เพียงมาตรา 358 ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง และโจทก์อุทธรณ์เฉพาะความผิดฐานร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ โดยขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ฟังข้อเท็จจริงใหม่ จึงเป็นการอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 22 ประกอบ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้ในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3 การที่ศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์ของโจทก์ และศาลอุทธรณ์ภาค 3 รับวินิจฉัยให้นั้น เป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตาม ป.อ. มาตรา 195 วรรคสอง, 225 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 และ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้ในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3
คดีในส่วนแพ่งนั้น แม้ทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นอุทธรณ์ของโจทก์จะไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง แต่ในการวินิจฉัยคดีส่วนแพ่งที่เป็นการฟ้องคดีแพ่งและคดีอาญาเกี่ยวเนื่องกันมานี้ ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 ดังนี้ เมื่อข้อเท็จจริงในคดีอาญาฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า การกระทำของจำเลยทั้งสามไม่เป็นความผิดตามฟ้องคดีในส่วนแพ่ง ศาลจึงไม่อาจบังคับให้ตามคำขอของโจทก์ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 90 358, 359, 362, 365 และให้จำเลยทั้งสามใช้เงินค่าเสียหายแก่โจทก์ 90,000 บาท
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ และให้การว่าไม่ต้องรับผิดในส่วนแพ่งเนื่องจากไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 ประกอบมาตรา 359 (4), 83 จำคุกคนละ 3 เดือน และปรับคนละ 3,000 บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสามเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน จึงให้รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยทั้งสามไว้คนละ 1 ปี นับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ให้จำเลยทั้งสามฟัง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากจำเลยทั้งสามไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 30,000 บาท แก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนแพ่งให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสามฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองในคดีส่วนแพ่งว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า แม้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามฐานร่วมกันบุกรุก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365 และร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 359 ซึ่งต่างมีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่การที่จะเป็นความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตามมาตรา 359 (4) นั้น ต้องได้ความว่าเจ้าของทรัพย์นั้นเป็นกสิกร เมื่อโจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่า ข้าวนาปรังที่จำเลยทั้งสามร่วมกันทำให้เสียหายเป็นพืชหรือพืชผลของกสิกร จึงไม่อาจลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 359 ได้ เท่ากับความผิดฐานร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามแต่เพียงมาตรา 358 ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง และโจทก์อุทธรณ์เฉพาะความผิดฐานร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ โดยขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ฟังข้อเท็จจริงใหม่ จึงเป็นการอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 22 ประกอบพระราชบัญญัติให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้ในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3 การที่ศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์ของโจทก์ และศาลอุทธรณ์ภาค 3 รับวินิจฉัยให้นั้น เป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 195 วรรคสอง, 225 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 และพระราชบัญญัติให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้ในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3 สำหรับคดีในส่วนแพ่งนั้น แม้ทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นอุทธรณ์ของโจทก์จะไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง แต่ในการวินิจฉัยคดีส่วนแพ่งที่เป็นการฟ้องคดีแพ่งและคดีอาญาเกี่ยวเนื่องกันมานี้ ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 ดังนี้ เมื่อข้อเท็จจริงในคดีอาญาฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า การกระทำของจำเลยทั้งสามไม่เป็นความผิดตามฟ้องคดีในส่วนแพ่ง ศาลจึงไม่อาจบังคับให้ตามคำขอของโจทก์ได้ จะต้องพิพากษายกฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 30,000 บาท แก่โจทก์ จึงเป็นการไม่ชอบ
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 กับยกอุทธรณ์ของโจทก์ และยกฎีกาของจำเลยทั้งสามสำหรับคดีในส่วนอาญา โดยให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share