แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
คำร้องของโจทก์ที่ขอให้ออกหมายบังคับคดีต้องระบุโดยแจ้งชัดถึงคำพิพากษาหรือคำสั่งซึ่งจะขอให้มีการบังคับคดีตามนั้นและวิธีการบังคับคดีซึ่งขอให้ออกหมายนั้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา275(1)และ(3)มิฉะนั้นย่อมเป็นคำร้องที่ไม่ชอบ
ย่อยาว
คดีทั้งสี่สำนวนศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกันโดยให้เรียกโจทก์สามสำนวนแรกว่า โจทก์ที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ตามลำดับและเรียกโจทก์ทั้งสองในสำนวนที่สี่ว่า โจทก์ที่ 4 และที่ 5
กรณีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมให้จำเลยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 41035, 41031, 41036 และ 41042 พร้อมบ้านเลขที่ 288/107, 288/111, 288/106 และเลขที่ 288/94 ถนนประชาอุทิศ แขวงบางมด เขตราษฎร์บูรณะ กรุงเทพมหานครให้แก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 5 ตามลำดับ กับให้โจทก์ทั้งห้าชำระเงินค่าที่ดินให้แก่จำเลยด้วย ต่อมาจำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้ โจทก์ทั้งห้าจึงขอให้บังคับคดีและศาลได้ตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อดำเนินการตามคำพิพากษาตามยอมปรากฏว่าบ้านเลขที่ 288/107, 288/111และ 288/94 มีผู้อื่นอยู่อาศัยโดยอ้างว่าซื้อขายทั้งที่ดินและบ้านจากจำเลย เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ที่ศาลชั้นต้นตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีให้โจทก์ทั้งห้าเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 275 เพราะคำขอของโจทก์ทั้งห้ามิได้ระบุคำพิพากษาซึ่งจะขอให้มีการบังคับคดีและวิธีการบังคับคดีซึ่งขอให้ออกหมายนั้น ขอให้ไต่สวนและมีคำสั่งยกเลิกหมายบังคับคดี
ศาลชั้นต้น มี คำสั่ง ให้ยก คำร้อง
ผู้ร้อง อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกเลิกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีฉบับลงวันที่ 10 มิถุนายน 2535
โจทก์ ทั้ง ห้า ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งห้าว่า คำร้องขอให้ศาลออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดี เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2535 ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ศาลฎีกาได้พิจารณาคำร้องดังกล่าวซึ่งมีข้อความว่า ตามที่ศาลได้มีคำสั่งในรายงานกระบวนพิจารณาคดี เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2535 ให้โจทก์ไปดำเนินการทางเจ้าพนักงานบังคับคดี และให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทำรายงานเสนอศาลเพื่อจะได้มีคำสั่งต่อไป โจทก์ทั้งห้าไปดำเนินการทางเจ้าพนักงานบังคับคดีแล้ว และเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ไปตรวจสอบข้อเท็จจริงและได้ทำรายงานเสนอต่อศาล ตามสำเนารายงานของเจ้าพนักงานบังคับคดีท้ายคำร้องที่ได้แนบมานี้ ขอให้ศาลมีคำสั่งให้จำเลยผิดสัญญาประนีประนอมยอมความเพื่อโจทก์ทั้งห้าจักได้ดำเนินการทางเจ้าพนักงานบังคับคดีต่อไป เห็นว่า คำร้องของโจทก์ทั้งห้ามิได้ระบุโดยชัดแจ้งถึงคำพิพากษาหรือคำสั่งซึ่งจะขอให้มีการบังคับคดีตามนั้นและวิธีการบังคับคดีซึ่งขอให้ออกหมายนั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 275(1) และ (3)จึงเป็นคำร้องที่ไม่ชอบด้วยบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว การที่ศาลชั้นต้นออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีจึงเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งลักษณะนี้ ที่โจทก์ทั้งห้าฎีกาว่าเป็นเรื่องดำเนินการทางเจ้าพนักงานบังคับคดีตามคำสั่งศาล จะต้องนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 272 มาใช้บังคับมิใช่นำมาตรา 275 มาใช้นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า มาตรา 272 เป็นเรื่องขอให้ศาลมีคำบังคับกำหนดวิธีที่จะปฏิบัติตามคำบังคับ ซึ่งคดีนี้ศาลได้มีคำพิพากษาตามยอม และมีคำบังคับกับกำหนดวิธีที่จะต้องปฏิบัติตามคำบังคับไว้แล้ว จึงเป็นคนละกรณีและคนละขั้นตอนกับการขอให้ศาลออกหมายบังคับคดี และคำพิพากษาศาลฎีกาที่โจทก์ทั้งห้าอ้างข้อเท็จจริงก็ไม่ตรงกับคดีนี้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกเลิกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดี ฉบับลงวันที่ 10 มิถุนายน 2535ชอบแล้ว”
พิพากษายืน