แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์อาศัยโอกาสที่โจทก์เป็นพนักงานของจำเลยหลอกลวงเรียกรับผลประโยชน์จากผู้อื่นเพื่อให้ผู้นั้นได้รับการบรรจุเป็นพนักงานของจำเลยทั้งได้ติดต่อทำเอกสารปลอมเพื่อใช้ในการสมัครงานของผู้อื่นด้วยเป็นการประพฤติชั่วประพฤติตนเป็นภัยต่อสังคมหรือจำเลยไม่รักษาเกียรติชื่อเสียง และกระทำผิดกฎหมาย เป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย จำเลยมีคำสั่งไล่โจทก์ออกจากงานเพราะเหตุดังกล่าวจึงไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายค่าชดเชย และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า17,946.16 บาท ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม 687,300 บาทเงินบำเหน็จ 212,400 บาท เงินโบนัส 171,825 บาท และค่าชดเชย68,729.99 บาท แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากโจทก์ได้อาศัยความเป็นพนักงานของจำเลยหลอกลวงบุคคลอื่นหลายรายว่าสามารถช่วยให้เข้าทำงานกับจำเลยได้โดยโจทก์เรียกร้องรับเงินค่าตอบแทนในการช่วยเหลือให้เข้าทำงานดังกล่าว และยังมีส่วนร่วมในการปลอมแปลงเอกสารราชการใช้เป็นหลักฐานในการสมัครงานด้วย จำเลยแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงและพิจารณาโทษทางวินัยแล้วได้ข้อเท็จจริงดังที่กล่าวมาข้างต้นจึงมีความเห็นว่าการกระทำของโจทก์เป็นการไม่รักษาเกียรติชื่อเสียงของจำเลย ประพฤติชั่ว กระทำผิดกฎหมาย รวมทั้งประพฤติตนเป็นภัยต่อสังคมเป็นการกระทำผิดวินัยร้ายแรงตามระเบียบข้อบังคับของจำเลย จำเลยจึงมีคำสั่งลงโทษไล่โจทก์ออกจากการเป็นพนักงาน อันเป็นการเลิกจ้างโดยชอบมิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าเสียหาย บำเหน็จ และเงินโบนัสตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
วันนัดพิจารณา ก่อนกำหนดประเด็นพิพาท โจทก์แถลงขอสละประเด็นเรื่องเงินบำเหน็จโดยจะไปดำเนินการแก่กองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ต่อไป จำเลยแถลงว่าค่าจ้างโจทก์เดือนละ 10,000 บาท ค่าครองชีพเป็นประจำทุกเดือน เดือนละ1,455 บาท แต่กระทรวงการคลังกำหนดว่าไม่ให้นำค่าครองชีพมาคำนวณเป็นค่าจ้าง
ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างจำเลยเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2523 ตำแหน่งสุดท้ายเป็นพนักงานขับรถ ค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 10,000 บาท ค่าครองชีพเดือนละ 1,455 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 27 ของเดือน โจทก์เป็นผู้ดำเนินการติดต่อในการเข้าทำงานและทำเอกสารหลักฐานปลอมเพื่อใช้ในการสมัครงานของนายมีชัย เข็มอนุสุขนายคมสัน บุญสวัสดิ์ และนายธำรงเดช เข็มอนุสุข ที่ประสงค์จะเข้าทำงานเป็นพนักงานของจำเลย โดยเรียกร้องค่าตอบแทนและค่าติดต่อทำเอกสารทั้งโจทก์ยังเคยถูกร้องเรียนเกี่ยวกับการเรียกร้องเงินเพื่อดำเนินการให้บุคคลดังกล่าวเข้าทำงานกับบริษัทคาร์แม็กซ์ จำกัด การจัดทำหลักฐานใบสุทธิการศึกษาเพื่อให้พนักงานของบริษัทคาร์แม็กซ์ จำกัด ได้รับการบรรจุเป็นพนักงานของจำเลย และโจทก์ยินยอมคืนเงินให้แก่ผู้ร้องเรียนทั้งสองรายแล้ววินิจฉัยว่า การกระทำของโจทก์ดังกล่าวข้างต้นเป็นการอาศัยโอกาสที่โจทก์เป็นพนักงานของจำเลยเรียกรับผลประโยชน์จากผู้อื่น เป็นการประพฤติชั่ว ประพฤติตนเป็นภัยต่อสังคมหรือจำเลย และกระทำผิดกฎหมาย ถือเป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย ข้อ 5.12 และข้อ 13.2.3 การที่จำเลยมีคำสั่งไล่โจทก์ออกจากงานเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2541 จึงไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และเงินโบนัสให้แก่โจทก์ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า การกระทำของโจทก์ตามข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางรับฟังมานั้นเป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงตามระเบียบข้อบังคับของจำเลยหรือไม่และการวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ พิเคราะห์แล้วศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เรียกร้องค่าตอบแทนในการติดต่อให้ผู้อื่นเข้าทำงานกับบริษัทคาร์แม็กซ์ จำกัด และเข้าเป็นพนักงานของจำเลยทั้งได้ติดต่อทำเอกสารปลอมเพื่อใช้ในการสมัครงานของผู้อื่นด้วย เห็นว่าการกระทำดังกล่าวของโจทก์เป็นการอาศัยโอกาสที่โจทก์เป็นพนักงานของจำเลยเรียกร้องผลประโยชน์จากผู้อื่น ถือได้ว่าเป็นการประพฤติชั่วประพฤติตนเป็นภัยต่อสังคม ไม่รักษาเกียรติชื่อเสียง และกระทำผิดกฎหมายซึ่งเป็นการกระทำผิดวินัยที่ร้ายแรงตามระเบียบข้อบังคับของจำเลย เอกสารหมาย ล.6 ข้อ 5.12 และข้อ 13.2.3”
พิพากษายืน