แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยที่ 2 ร่วมคบคิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 3 มาก่อนเกิดเหตุเพื่อที่จะมากระทำผิดโดยเขียนแผนที่เพื่อประโยชน์ในการเข้ากระทำผิดและหลบหนี และขณะที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 กระทำผิดฐานชิงทรัพย์จำเลยที่ 2 รออยู่ ณ ที่ตามที่นัดหมายกันไว้ พร้อมกับมีรถจักรยานยนต์อีกคันหนึ่งเพื่อช่วยเหลือจำเลยที่ 1 และที่ 3 หลังจากได้กระทำความผิดสำเร็จและขาดตอนไปแล้ว โดยไม่ปรากฏว่าขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 2 รออยู่ในที่ ๆ ใกล้ชิดเพียงพอที่จะช่วยเหลือจำเลยที่ 1และที่ 3 ในขณะกระทำผิดได้ ไม่พอฟังว่าเป็นการร่วมเป็นตัวการในการกระทำผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 3 คงเป็นการช่วยเหลือจำเลยที่ 1 และที่ 3 ก่อนการกระทำผิด จำเลยที่ 2 จึงเป็นเพียงผู้สนับสนุนในการกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์ จำเลยที่ 1 และที่ 3 เข้าไปในบ้านผู้ตาย ผู้ตายเรียก ช.เข้าไปในบ้าน จำเลยที่ 3 เอาวิทยุโทรศัพท์มือถือของผู้ตายยื่นให้ ช.นำไปมอบแก่ภริยาผู้ตายช. ไม่ยอมรับ จำเลยที่ 1 ดึงมือช. พาเข้าไปยืนที่หน้าโต๊ะทำงานของผู้ตาย จำเลยที่ 3 สั่งให้ผู้ตายส่งลูกกุญแจให้ แล้วจำเลยที่ 3 ส่งกุญแจต่อให้จำเลยที่ 1จำเลยที่ 1 ไปเปิดลิ้นชักโต๊ะทำงานของผู้ตายเอาเงินสดไป ขณะเดียวกันจำเลยที่ 3 เตะปลายคาง ช. และชักอาวุธปืนสั้นออกมายิงผู้ตาย1 นัด แล้วจำเลยที่ 1 และที่ 3 เดินออกไปขับรถจักรยานยนต์ซ้อนท้ายพากันหลบหนีไป ดังนี้ การกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์กับการฆ่าผู้ตายได้กระทำต่อเนื่องกันไปอันเป็นการฆ่าเพื่อสะดวกในการชิงทรัพย์และการพาทรัพย์นั้นไป ทั้งเพื่อให้พ้นการจับกุม จึงเป็นความผิดกรรมเดียวแต่ผิดต่อกฎหมายหลายบท
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340, 340 ตรี,371, 289, 91, 90, 83, 33 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526 มาตรา 4 ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 11 ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2514 ข้อ 14, 15พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2522 มาตรา 5, 7 คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 44 ลงวันที่ 21 ตุลาคม2519 ข้อ 3, 6, 7 ริบอาวุธปืน กระสุนปืน ปลอกกระสุนปืน แม็กกาซีนซองพกอ่อนและกระดาษเขียนแผนที่เกิดเหตุของกลาง
จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพข้อหาฐานชิงทรัพย์โดยมีอาวุธปืนแต่ให้การปฏิเสธข้อหาฐานปล้นทรัพย์และฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา
จำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธ
จำเลยที่ 3 ให้การรับสารภาพข้อหาฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมืองหมู่บ้านและทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและไม่มีเหตุสมควรฐานชิงทรัพย์โดยมีอาวุธปืนและใช้ยานพาหนะ ฐานฆ่าผู้อื่น แต่ให้การปฏิเสธข้อหาฐานปล้นทรัพย์
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคสอง วรรคสี่ และวรรคท้าย ประกอบมาตรา 340 ตรี ให้ประหารชีวิต เฉพาะจำเลยที่ 3 ยังมีความผิดอีกสามกรรม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289(7) กรรมหนึ่งให้ประหารชีวิตตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7 ประกอบมาตรา 72 วรรคหนึ่งกรรมหนึ่ง ให้จำคุก 1 ปี และตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 8 ทวิวรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 72 ทวิ วรรคสอง กับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา371 อันเป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 72 ทวิวรรคสอง อีกกรรมหนึ่งให้จำคุก 1 ปี คำให้การชั้นสอบสวนและทางนำสืบของจำเลยที่ 1 และที่ 3 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้จำเลยที่ 1 กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบด้วยมาตรา 52 ให้จำคุก 50 ปี ส่วนจำเลยที่ 3 ให้จำคุกตลอดชีวิตเมื่อศาลลงโทษจำคุกตลอดชีวิตแล้ว จึงไม่อาจนำโทษในกระทงอื่นมารวมลงโทษจำเลยที่ 3 ได้อีก คงลงโทษจำคุกจำเลยที่ 3 ตลอดชีวิตสถานเดียว ริบอาวุธปืน กระสุนปืน แม็กกาซีน ซองพก ปลอกกระสุนปืนและกระดาษเขียนแผนที่ของกลาง
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
โจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 3 ต่างไม่อุทธรณ์ เนื่องจากศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 3 ให้จำคุกตลอดชีวิตสำหรับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคท้าย ประกอบมาตรา 340 ตรี และมาตรา 289(7) ศาลชั้นต้นจึงส่งสำนวนมายังศาลอุทธรณ์ภาค 3 เพื่อพิจารณาพิพากษาคดีส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 3 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 245 วรรคสอง
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิจารณาแล้วพิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคท้าย ประกอบมาตรา340 ตรี และมาตรา 83 จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 339 วรรคท้าย ประกอบมาตรา 340 ตรี และมาตรา 86 ส่วนจำเลยที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคท้าย ประกอบมาตรา 340 ตรี และมาตรา 83 บทหนึ่ง และมาตรา 289(7) อีกบทหนึ่งแต่เนื่องจากมาตรา 339 วรรคท้าย มีอัตราโทษสูงสุดถึงขั้นประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิตแล้ว จึงไม่อาจลงโทษให้หนักขึ้นอีกกึ่งหนึ่งตามมาตรา 340 ตรี ได้อีก ให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ไว้ตลอดชีวิตส่วนจำเลยที่ 2 เมื่อนำประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 53 มาประกอบการคำนวณโทษแล้ว ให้ลงโทษจำคุก 33 ปี 4 เดือน การกระทำของจำเลยที่ 3ดังกล่าวข้างต้นเป็นความผิดกรรมเดียวกันผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289(7) ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้ประหารชีวิตจำเลยที่ 3คำให้การรับสารภาพของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ในชั้นสอบสวนและชั้นพิจารณาเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอย่างมาก มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 คนละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78ประกอบมาตรา 52(2) และมาตรา 53 แล้ว คงให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1มีกำหนด 25 ปี ลงโทษจำเลยที่ 3 สำหรับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 289(7) ให้จำคุกตลอดชีวิต ส่วนความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7 ประกอบมาตรา 72 วรรคหนึ่ง และมาตรา8 ทวิ วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 72 ทวิ วรรคสอง คงให้จำคุกกระทงละ6 เดือน รวมโทษทุกกระทงแล้ว คงจำคุกจำเลยที่ 3 ไว้ตลอดชีวิตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91(3) นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2534 จำเลยที่ 1 และที่ 3ได้ขับรถจักรยานยนต์นั่งซ้อนท้ายกันมาจอดแล้วเข้าไปในร้านค้าของนายสงวน ทองลิ่ม ผู้ตายบังคับเอาวิทยุโทรศัพท์มือถือของผู้ตายและให้ผู้ตายมอบกุญแจลิ้นชักโต๊ะให้ เปิดเอาเงินในลิ้นชักไป 11,700 บาท แล้วจำเลยที่ 3 ใช้อาวุธปืนสั้นที่มีไว้โดยไม่ได้รับอนุญาต และนำติดตัวมายิงผู้ตายซึ่งถึงแก่ความตายในเวลาต่อมาก่อนที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 จะขับรถจักรยานยนต์ซ้อนท้ายกันหนีไปเจ้าพนักงานตำรวจออกติดตามไปเป็นระยะทางประมาณ 12-13 กิโลเมตรพบจำเลยที่ 2 กำลังขับรถจักรยานยนต์อีกคันหนึ่ง มีจำเลยที่ 3นั่งซ้อนท้าย ส่วนจำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์คันที่ขับหนีมาจากบ้านผู้ตาย จึงไล่จับกุม จนในที่สุดจับจำเลยทั้งสามได้แล้วนำมาดำเนินคดี
ในประเด็นที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 นั้น จำเลยที่ 2 ฎีกาว่าพยานหลักฐานฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้กระทำผิดใด ๆ ส่วนโจทก์ฎีกาว่า พยานหลักฐานโจทก์ฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้กระทำความผิดฐานเป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 3 มิใช่เพียงเป็นผู้สนับสนุนดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัย ซึ่งข้อเท็จจริงที่จำเลยที่ 2ขับรถจักรยานยนต์ไปกับจำเลยที่ 1 และที่ 3 และเดิมน้ำมันก่อนเกิดเหตุเพียงชั่วโมงเศษ อยู่ห่างบ้านเกิดเหตุประมาณ 500 เมตรจำเลยที่ 2 เป็นผู้เขียนแผนที่เกี่ยวกับบ้านเกิดเหตุเอกสารหมายจ.8 และหลังจากเกิดเหตุแล้ว ระหว่างที่จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3ขับรถจักรยานยนต์คันที่ขับไป กระทำผิดหนีและเจ้าพนักงานตำรวจติดตามไปติด ๆ ห่างจากที่เกิดเหตุประมาณ 12-13 กิโลเมตรก็ปรากฏว่ามีจำเลยที่ 2 ขับรถจักรยานยนต์อีกคันหนึ่งให้จำเลยที่ 3นั่งซ้อนท้ายไป เจ้าพนักงานตำรวจเรียกให้หยุดก็ไม่หยุด จึงได้ไล่จับกุมจนจับมาได้ในวันเดียวกันนั้น ข้อเท็จจริงเหล่านี้บ่งชี้แสดงว่า จำเลยที่ 2 ร่วมคบคิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 3 มาก่อนเกิดเหตุเพื่อที่จะมากระทำผิดคดีนี้ ได้เขียนแผนที่เพื่อประโยชน์ในการเข้ากระทำผิดและหลบหนี และขณะที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 กระทำผิดฐานชิงทรัพย์ จำเลยที่ 2 รออยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่งตามที่นัดหมายกันไว้พร้อมกับมีรถจักรยานยนต์อีกคันหนึ่งเพื่อช่วยเหลือจำเลยที่ 1และที่ 3 หลังจากได้กระทำความผิดสำเร็จและขาดตอนไปแล้ว โดยโจทก์ไม่นำสืบให้เห็นได้ว่าขณะเกิดเหตุ จำเลยที่ 2 รออยู่ในที่ ๆใกล้ชิดเพียงพอที่จะช่วยเหลือจำเลยที่ 1 และที่ 3 ในขณะกระทำผิดได้คงเป็นการช่วยเหลือจำเลยที่ 1 และที่ 3 ก่อนการกระทำผิด ตามนัยแห่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 แต่ไม่พอฟังว่าเป็นการร่วมเป็นตัวการในการกระทำผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 3 ศาลอุทธรณ์ภาค 3ฟังว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้สนับสนุนการกระทำผิดฐานชิงทรัพย์ของจำเลยที่ 1 และที่ 3 มิใช่ร่วมเป็นตัวการด้วยชอบแล้ว ฎีกาโจทก์และจำเลยที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยที่ 3 ต้องมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคท้าย ประกอบกับมาตรา 340 ตรีกระทงหนึ่ง และผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 287(7) (ที่ถูกน่าจะเป็น มาตรา 289(7)) อีกกระทงหนึ่งมิใช่เป็นความผิดกรรมเดียวกันแต่ผิดกฎหมายหลายบท ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 นั้น จากพยานหลักฐานโจทก์ได้ความว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 เข้าไปในบ้านผู้ตายผู้ตายเรียกนายเชวงเข้าไปในบ้าน จำเลยที่ 3 เอาวิทยุโทรศัพท์มือถือของผู้ตายยื่นให้นายเชวงนำไปมอบแก่ภริยาผู้ตาย นายเชวงไม่ยอมรับ จำเลยที่ 1 ดึงมือนายเชวงพาเข้าไปยืนที่หน้าโต๊ะทำงานของผู้ตาย จำเลยที่ 3 สั่งให้ผู้ตายส่งลูกกุญแจให้ แล้วจำเลยที่ 3ส่งกุญแจต่อให้จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ไปเปิดลิ้นชักโต๊ะทำงานของผู้ตายเอาเงินสดไป ขณะเดียวกันจำเลยที่ 3 เตะปลายคางนายเชวงและชักอาวุธปืนสั้นออกมายิงผู้ตาย 1 นัด แล้วจำเลยที่ 1 และที่ 3เดินออกไปขับรถจักรยานยนต์ซ้อนท้ายพากันหลบหนีไป ซึ่งจะเห็นได้ว่าการกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์กับการฆ่าผู้ตายได้กระทำต่อเนื่องกันไป อันเป็นการฆ่าเพื่อสะดวกในการชิงทรัพย์และการพาทรัพย์นั้นไป ทั้งเพื่อให้พ้นจากการจับกุมนั่นเอง จึงเป็นความผิดกรรมเดียวแต่ผิดต่อกฎหมายหลายบท คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ในส่วนนี้จึงชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน”
พิพากษายืน