แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์เคยฟ้องจำเลยฐานทำร้ายร่างกายผู้เสียหาย ศาลพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยและคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ แม้ต่อมาผู้เสียหายถึงแก่ความตายเพราะบาดแผลที่ถูกจำเลยทำร้าย โจทก์จะฟ้องจำเลยฐานฆ่าคนตายโดยไม่เจตนาซึ่งเป็นการกระทำผิดกรรมเดียวกันในขณะที่คดีก่อนอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์อีกไม่ได้ เพราะถือว่าได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องแล้วต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (4)
(ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 3792/2524)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสามกับพวกได้ร่วมกันเตะต่อยและใช้ไม้กระบองเป็นอาวุธตีทำร้ายร่างกายพันจ่าอากาศเอกจรัญ โดยมิได้มีเจตนาฆ่า ถูกที่บริเวณร่างกายหลายแห่ง จนเป็นเหตุให้พันจ่าอากาศเอกจรัญถึงแก่ความตายเพราะบาดแผลนั้น จำเลยทั้งสามเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยทั้งสามในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ๕๕๘/๒๕๒๔ ของศาลจังหวัดน่าน ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓, ๒๙๐ และนับโทษจำเลยทั้งสามติดต่อกันด้วย
ศาลชั้นต้นสอบโจทก์และจำเลยทั้งสามต่างแถลงว่า โจทก์เคยฟ้องจำเลยทั้งสามในความผิดซึ่งได้กระทำในคราวเดียวกับคดีนี้มาแล้ว และศาลได้พิพากษาเสร็จเด็ดขาดตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ๕๕๘/๒๕๒๔ ของศาลจังหวัดน่าน ขณะนี้จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ กำลังรับโทษอยู่ ส่วนจำเลยที่ ๑ ได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า คดีของโจทก์เป็นฟ้องซ้ำ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๓๙(๔) ให้ยกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปรากฏว่าโจทก์เคยฟ้องจำเลยทั้งสามฐานทำร้ายร่างกายพันจ่าอากาศเอกจรัญผู้เสียหายและศาลพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสามไปแล้วตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ๕๕๘/๒๕๒๔ ของศาลจังหวัดน่าน ต่อมาผู้เสียหายถึงแก่ความตายเพราะบาดแผลที่จำเลยทั้งสามทำร้ายร่างกาย โจทก์จึงฟ้องจำเลยทั้งสามฐานฆ่าผู้เสียหายโดยไม่เจตนาเป็นคดีนี้ในขณะที่คดีอาญาหมายเลขแดงที่ ๕๕๘/๒๕๒๔ ของศาลจังหวัดน่านอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์เคยฟ้องจำเลยทั้งสามฐานทำร้ายร่างกายและศาลพิพากษาลงโทษไปแล้วเช่นนี้ ถือได้ว่ามีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องแล้ว โจทก์จะนำคดีนี้ซึ่งเป็นการกระทำผิดกรรมเดียวกันมาฟ้องขอให้ลงโทษฐานฆ่าคนตายโดยไม่เจตนาอีกไม่ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๓๙(๔)
พิพากษายืน