คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3112/2533

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 73 วรรคสองมีอัตราโทษขั้นสูงจำคุกยี่สิบปี เป็นโทษที่หนักกว่าโทษตามพระราชบัญญัติ ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 31 วรรคสอง ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกขั้นสูงสิบห้าปี โดยไม่ต้องคำนึงถึงโทษขั้นต่ำ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติพ.ศ. 2507 มาตรา 14, 31, 35 พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ(ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2522 มาตรา 3 พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484มาตรา 4, 7, 11, 48, 69, 73, 74, 74 ทวิ พระราชบัญญัติป่าไม้(ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2494 มาตรา 3, 6 พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 4)พ.ศ. 2503 มาตรา 18 พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2518มาตรา 3, 4, 7, 19 พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2522มาตรา 9 พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2525 มาตรา 3, 4ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 116 ลงวันที่ 10 เมษายน 2515 ข้อ 1, 14พระราชกฤษฎีกา กำหนดไม้หวงห้าม พ.ศ. 2505 มาตรา 4 ประกาศกระทรวงเกษตร เรื่องกำหนดเขตควบคุมการแปรรูปไม้ตาม พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 ลงวันที่ 3 พฤศจิกายน 2499 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 91 พระราชบัญญัติ แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา(ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526 มาตรา 4 ริบของกลางทั้งหมด จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติ ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 14, 31, 35พระราชบัญญัติ ป่าสงวนแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2522 มาตรา 3พระราชบัญญัติ ป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 4, 7, 11, 48, 69, 73, 74,74 ทวิ พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2494 มาตรา 3, 6พระราชบัญญัติ ป่าไม้ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2503 มาตรา 18 พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2518 มาตรา 3, 4, 7, 19 พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2522 มาตรา 9 พระราชบัญญัติป่าไม้(ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2525 มาตรา 3, 4 ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 116 ลงวันที่ 10 เมษายน 2515 ข้อ 1, 14 พระราชกฤษฎีกากำหนดไม้หวงห้าม พ.ศ. 2505 มาตรา 4 ประกาศกระทรวงเกษตร เรื่องกำหนดเขตควบคุมการแปรรูปไม้ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 ลงวันที่ 3 พฤศจิกายน 2499 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91พระราชบัญญัติ แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526มาตรา 4 จำเลยที่ 1 อายุ 19 ปี รู้ผิดชอบแล้ว ไม่ลดมาตราส่วนโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 ให้ ลงโทษฐานทำไม้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ จำคุกคนละ 6 เดือน ฐานแปรรูปไม้หวงห้าม มีไม้หวงห้ามแปรรูปไว้ในครอบครองภายในเขตควบคุมการแปรรูปไม้โดยไม่รับอนุญาต และฐานมีไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูปไว้ในครอบครองโดยมิชอบด้วยกฎหมาย จำคุกข้อหาละ 1 ปี รวม 3 ข้อหาจำคุกคนละ 3 ปี รวมจำคุกจำเลยทั้งสิ้นคนละ 3 ปี 6 เดือน จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุกคนละ 1 ปี 9 เดือนริบของกลาง โจทก์อุทธรณ์ขอให้ปรับบทลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติ ป่าสงวนแห่งชาติอันเป็นบทหนัก และศาลชั้นต้นลงโทษต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ลงโทษฐานทำไม้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 73 วรรคสอง จำคุกคนละ 1 ปี รวมโทษจำคุกจำเลยทั้งสิ้นคนละ 4 ปี ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78กึ่งหนึ่ง คงจำคุกคนละ 2 ปี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่โจทก์ฎีกาว่าโทษตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 31 วรรคสอง แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2522 มาตรา 3มีอัตราโทษสูงกว่าโทษตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 73วรรคสอง เพราะโทษขั้นต่ำที่จำเลยจะได้รับตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 31 วรรคสอง แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติ ป่าสงวนแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2522 มาตรา 3 คือจำคุกตั้งแต่สองปีและปรับตั้งแต่สองหมื่นบาท สูงกว่าโทษขั้นต่ำที่จำเลยจะได้รับตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 73 วรรคสองคือจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีและปรับตั้งแต่ห้าพันบาทนั้น เห็นว่าโทษจำคุกที่จำเลยจะได้รับตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 73วรรคสอง สูงถึงยี่สิบปี จึงเป็นโทษที่หนักกว่าโทษตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 31 วรรคสอง แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2522 มาตรา 3ซึ่งมีโทษจำคุกขั้นสูงเพียงสิบห้าปี โดยไม่ต้องคำนึงว่าโทษขั้นต่ำจะมีหรือไม่”
พิพากษายืน

Share