แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ข้อเท็จจริงซึ่งฟังเป็นยุติในศาลอุทธรณ์ได้ความว่าตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุในฟ้อง เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยได้พร้อมยาเสพติดให้โทษของกลางและยาเสพติดให้โทษชนิด 3,4 เมทิลลีนไดออกซีเมทแอมเฟตามีนของกลางที่เจ้าพนักงานตำรวจตรวจยึดได้ในคดีนี้มีจำนวน 6 เม็ด โดยจำเลยจำหน่ายให้แก่สายลับจำนวน 3 เม็ด ส่วนอีก 3 เม็ด ตรวจค้นพบซ่อนอยู่ในช่องเสียบแผ่นซี ดี จึงเห็นได้ชัดว่า ลักษณะของการกระทำของจำเลยแตกต่างกัน ต่างขั้นตอนกัน สามารถแยกการกระทำแต่ละอย่างต่างหากกันได้ ทั้งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4 ก็มิได้นิยามความหมายของคำว่า จำหน่าย ให้มีความหมายรวมถึง การมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายด้วย แสดงว่า พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษฯ มุ่งประสงค์จะลงโทษการมี ยาเสพติดให้โทษไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและการจำหน่าย ยาเสพติดให้โทษทั้งสองกรณี ดังนั้น เมื่อจำเลยมียาเสพติดให้โทษ ชนิด 3,4 เมทิลลีนไดออกซีเมทแอมเฟตามีนอีกกระทงหนึ่งการกระทำของจำเลยจึงมิได้เป็นความผิดกรรมเดียว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยมี 3, 4-เมทิลลีนได ออกซี เมทแอมเฟตามีน ซึ่งเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จำนวน 6 แคปซูล น้ำหนักรวม 1.32 กรัม ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และจำเลยจำหน่าย 3, 4-เมทิลลีนได ออกซี เมทแอมเฟตามีน จำนวน 3 แคปซูล หนัก 0.66 กรัม ให้แก่สายลับผู้ล่อซื้อไปในราคา 2,000 บาท เจ้าพนักงานจับจำเลยได้พร้อมธนบัตรฉบับละ 1,000 บาท 2 ฉบับ ที่จำเลยได้จากการจำหน่าย และ 3, 4 เมทิลลีนได ออกซี เมทแอมเฟตามีน ที่เหลือจากการจำหน่าย 3 แคปซูล และที่ได้จำหน่ายไป 3 แคปซูล เป็นของกลาง จำเลยนี้เป็นบุคคลเดียวกับจำเลยในคดีอาญา หมายเลขแดงที่ 389/2540 ของศาลชั้นต้น ฐานมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 67, 102ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ริบ 3, 4-เมทิลลีนได ออกซี เมทแอมเฟตามีน ของกลาง คืนธนบัตร 2,000 ที่ใช้ล่อซื้อแก่เจ้าของและนับโทษจำเลยต่อจากโทษของจำเลยในคดีหมายเลขแดงที่ 389/2540 ของศาลชั้นต้น
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง,66 วรรคหนึ่ง ฐานมี 3, 4-เมทิลลีนได ออกซี เมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก 5 ปี ฐานจำหน่าย3, 4-เมทิลลีนได ออกซี เมทแอมเฟตามีน จำคุก 5 ปี การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรม ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 รวมจำคุก 10 ปี จำเลยให้การรับสารภาพชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 6 ปี 8 เดือน ให้นับโทษจำเลยในคดีนี้ต่อจากโทษของจำเลยในคดีหมายเลขแดงที่ 389/2540 ของศาลชั้นต้น ริบ 3, 4-เมทิลลีนได ออกซี เมทแอมเฟตามีนของกลาง และคืนธนบัตร จำนวน 2,000 บาท ที่ใช้ล่อซื้อแก่เจ้าของส่วนที่โจทก์ขอให้ลงโทษ ตามมาตรา 67 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ด้วยนั้น เมื่อพิจารณาลงโทษจำเลยตามมาตรา 66 แล้ว จึงไม่ปรับบทลงโทษตามมาตรา 67 ซึ่งเป็นบททั่วไปอีก คำขอส่วนนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยเฉพาะข้อกฎหมายว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมหรือไม่ ซึ่งในการวินิจฉัยข้อกฎหมายจะต้องถือข้อเท็จจริงซึ่งฟังเป็นยุติในศาลอุทธรณ์ว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุในฟ้อง เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยได้พร้อมยาเสพติดให้โทษของกลางและยาเสพติดให้โทษชนิด 3, 4-เมทิลลีนได ออกซี เมทแอมเฟตามีน ของกลางที่เจ้าพนักงานตำรวจตรวจยึดได้ในคดีนี้มีจำนวน 6 เม็ด โดยจำเลยจำหน่ายให้แก่สายลับจำนวน 3 เม็ด ส่วนอีก 3 เม็ด ร้อยตำรวจเอกอนุภาพ ศิรินทร์ธวัชน์ และสิบตำรวจโทมาโนช วัชรเสวี เบิกความตรงกันว่าตรวจค้นพบซ่อนอยู่ในช่องเสียบแผ่นซี ดี จะเห็นได้ชัดว่าลักษณะของการกระทำแตกต่างกัน ต่างขั้นตอนกันสามารถแยกการกระทำแต่ละอย่างต่างหากกันได้ ทั้งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4 ก็มิได้นิยามความหมาย ของคำว่า จำหน่าย ให้มีความหมายรวมถึงการมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายด้วย ดังเช่นที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 4 แสดงว่าพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มุ่งประสงค์จะลงโทษการมียาเสพติดให้โทษไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและการจำหน่ายยาเสพติดให้โทษทั้งสองกรณี ดังนั้น เมื่อจำเลยมียาเสพติดให้โทษชนิด 3, 4-เมทิลลีนได ออกซี เมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายกระทงหนึ่งแล้วครั้นจำเลยจำหน่ายยาเสพติดให้โทษดังกล่าว 3 เม็ด ให้แก่สายลับผู้ล่อซื้อ จำเลยก็มีความผิดฐานจำหน่ายยาเสพติดให้โทษชนิด 3, 4-เมทิลลีนได ออกซี เมทแอมเฟตามีน อีกกระทงหนึ่ง การกระทำของจำเลยจึงมิได้เป็นความผิดกรรมเดียว ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน