คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 311/2501

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยถูกฟ้องว่าสมคบกันทำผิด กฎหมายลักษณะอาญา มาตรา308,309 แต่ปรากฏว่าขณะรับฟ้องแล้วกฎหมายลักษณะอาญาถูกยกเลิกไปตาม พระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ.2499แต่ถ้าหากการกระทำที่จำเลยถูกฟ้องอาจเป็นผิดตามประมวลกฎหมายอาญา(มาตรา350)แล้วศาลก็ชอบที่จะดำเนินการพิจารณาไปแล้วสั่งหรือพิพากษาไปตามรูปคดี

ย่อยาว

คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าเป็นเจ้าหนี้ค่าเครื่องอุปกรณ์การก่อสร้างจำเลยที่ 1 อยู่ 32,800 บาท จำเลยที่ 1 ได้ออกเช็ค 3 ฉบับสั่งให้ธนาคารนครหลวงไทย จำกัดสาขาราชบุรีซึ่งจำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการจ่ายเงินให้โจทก์ เมื่อโจทก์นำเช็คไปขอรับเงิน จำเลยที่ 2 แจ้งว่าได้สั่งปิดบัญชีของจำเลยที่ 1 แล้ว โจทก์ได้นำความไปแจ้งให้จำเลยที่ 3 เพื่อให้กักเงินค่าก่อสร้างอาคารงวด 5 ซึ่งจำเลยที่ 3จะต้องชำระให้จำเลยที่ 1 เพื่อการชำระหนี้ของโจทก์ จำเลยบอกให้โจทก์ไปฟ้องศาลโจทก์จึงไปฟ้อง ปรากฏตามสำนวนคดีแพ่งแดงที่ 82/99 ต่อมาเจ้าพนักงานบังคับคดีได้เรียกเก็บเงินค่าก่อสร้างงวดที่ 5 เป็นเงิน 38,000 บาท

ระหว่างวันที่ 4 เมษายน 99 เวลากลางวัน ถึง 30 มิถุนายน 99 เวลากลางวัน จำเลยได้บังอาจสมคบกันกระทำผิดต่างกรรมต่างวาระกันคือ

ก. เมื่อวันที่ 4 เมษายน 99 เวลากลางวัน จำเลยทั้ง 3 ได้สมคบกันทำเอกสารขึ้น 2 ฉบับ ๆ หนึ่งเป็นหนังสือที่จำเลยที่ 1 โอนงานรับเหมาก่อสร้างอาคารให้จำเลยที่ 2 และมอบให้จำเลยที่ 2 รับเงินค่าก่อสร้างและเงินประกัน126,450 บาทแทนจำเลยที่ 1 ฉบับที่ 2 ข้อความตรงกับฉบับที่ 1 แต่มีข้อความต่อไปให้รับเงินดังกล่าวจากจำเลยที่ 3 ทั้งนี้โดยเจตนาป้องกันมิให้เงินดังกล่าวต้องถูกยึดหรืออายัดตามคำพิพากษา ซึ่งจำเลยทั้ง 3 รู้ว่าจะประกาศให้มีการยึดหรืออายัดในเวลาต่อมา เหตุเกิดที่ศาลากลางจังหวัดราชบุรี

ข. เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 99 เวลากลางวัน จำเลยที่ 2 ได้แกล้งเพทุบายแอบอ้างโดยทำเป็นคำร้องยื่นต่อศาลจังหวัดราชบุรีว่าเงินค่ารับเหมาที่ศาลอายัดเงิน 38,000 บาทที่จำเลยที่ 3 เป็นของจำเลยที่ 2 ขอให้ถอนการยึดเสีย เหตุเกิดที่ศาลจังหวัดราชบุรี

ค. เมื่อวันที่ 25 พ.ค. 99 เวลากลางวัน จำเลยที่ 3 ได้เพทุบายบังอาจแอบอ้างโดยทำคำร้องยื่นต่อศาลจังหวัดราชบุรีว่าเงินค่ารับเหมาก่อสร้างอาคารและเงินประกันที่อายัดไว้ต่อจำเลยที่ 3 เป็นของจำเลยที่ 2 เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่มีอำนาจยึดมาเพื่อชำระหนี้ให้แก่โจทก์

ง. ระหว่างวันที่ 7 พ.ค. 99 ถึงวันฟ้อง วัน เวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยที่ 2-3ได้สมคบกันจ่ายและรับเงินงวดที่ 5 และเงินประกันของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 3 เป็นผู้จ่าย จำเลยที่ 2 เป็นผู้รับโดยมีเจตนาจะป้องกันมิให้เงินถูกยึดหรืออายัดเพื่อชำระหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาดังกล่าว เหตุเกิดที่ศาลากลางจังหวัดราชบุรี

การกระทำดังกล่าวเป็นการสมคบกันโดยเจตนาจะป้องกันมิให้ทรัพย์ถูกยึดหรืออายัดหรือเรียกเก็บตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลโดยรู้ จึงขอให้ศาลลงโทษตาม ก.ม. ลักษณะอาญา มาตรา 308, 309, 63

ศาลชั้นต้นเห็นว่าข้อความในฟ้องไม่เป็นความผิดตามบทกฎหมายที่อ้าง จึงถือว่าฟ้องนั้นไม่มีมูลความผิด จึงพิพากษาให้ยกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์เห็นว่า จำเลยอาจมีผิดตามฟ้องจึงพิพากษาให้ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้อง แล้วสั่งหรือพิพากษาตามรูปคดี

ศาลชั้นต้นเริ่มดำเนินการไต่สวนโดยนัดไต่สวน และส่งสำเนาให้จำเลย ๆ ยื่นคำร้องขอให้ศาลชี้ขาดปัญหาข้อกฎหมาย โดยกล่าวว่าถ้าศาลชี้ขาดเป็นคุณแก่จำเลยแล้วจะไม่จำเป็นที่จะต้องไต่สวนคดีต่อไป ปัญหากฎหมายที่อ้างถือตามฟ้องของโจทก์ บัดนี้ ใช้ประมวลกฎหมายอาญาและยกเลิกกฎหมายลักษณะอาญาแล้วจึงต้องใช้ประมวลกฎหมายอาญามาใช้บังคับคดีนี้ แต่ตามประมวลกฎหมายอาญาการกระทำดังกล่าวไม่มีผิด จึงควรยกฟ้อง ศาลชั้นต้นเห็นพ้องด้วยจึงพิพากษาให้ยกฟ้องของโจทก์ โดยไม่ต้องดำเนินการอย่างใดต่อไป

โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยอาจผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350 ได้ จึงพิพากษาให้ศาลชั้นต้นดำเนินการไต่สวนมูลฟ้องแล้วมีคำสั่งหรือพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

จำเลยฎีกา ศาลฎีกาพิพากษายืน

Share