คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3104/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้สิทธิเรียกร้องสำหรับดอกเบี้ยค้างชำระจะมีกำหนดอายุความ 5 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (1) แต่ปรากฏว่าเจ้าหนี้ได้ฟ้องลูกหนี้ชั้นต้นให้ชำระหนี้ต้นเงินและดอกเบี้ยที่ค้างชำระ อายุความย่อมสะดุดหยุดลง ตามมาตรา 193/14 (2) เมื่ออายุความสะดุดหยุดลงแล้ว ระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนหน้านั้นจึงไม่นับเข้าในอายุความตามมาตรา 193/15 วรรคสอง การที่อายุความสะดุดหยุดลงเป็นโทษแก่ลูกหนี้ชั้นต้น ย่อมเป็นโทษแก่ลูกหนี้ที่ 4 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันด้วย ตามมาตรา 692 ปรากฏว่าคดีที่เจ้าหนี้ฟ้องลูกหนี้ชั้นต้นให้ชำระหนี้ ศาลแพ่งอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2547 โดยคู่ความมิได้ฎีกา คดีย่อมถึงที่สุดในวันที่ 22 กันยายน 2547 อันเป็นเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงสิ้นสุด ณ เวลาดังกล่าว จึงให้เริ่มนับอายุความใหม่สำหรับลูกหนี้ที่ 4 ตั้งแต่เวลานั้น ตามมาตรา 193/15 วรรคสอง เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในมูลหนี้ค้ำประกันจากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 4 เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2550 จึงยังไม่พ้นกำหนดอายุความ 5 ปี สิทธิเรียกร้องสำหรับดอกเบี้ยที่ค้างชำระตามสัญญากู้เงินและสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี ซึ่งลูกหนี้ที่ 4 ค้ำประกันไว้ จึงยังไม่ขาดอายุความ เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิได้รับชำระดอกเบี้ยได้ หาใช่ว่ามีสิทธิได้รับชำระดอกเบี้ยย้อนหลังจากวันพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดขึ้นไป 5 ปี ไม่ อย่างไรก็ตามความรับผิดของลูกหนี้ที่ 4 ในเรื่องต้นเงินและดอกเบี้ยย่อมจำกัดเพียงไม่เกินความรับผิดของลูกหนี้ชั้นต้นที่มีต่อเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอันถึงที่สุดในคดีแพ่งเท่านั้น

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ (จำเลย) ที่ 4 เด็ดขาด ต่อมาศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายกฟ้องลูกหนี้ที่ 4 และศาลฎีกามีคำพิพากษาให้พิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ที่ 4 เด็ดขาด
เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในมูลหนี้ตามสัญญาค้ำประกันเป็นเงิน 286,354,139.83 บาท จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 4 ในฐานะเจ้าหนี้ไม่มีประกัน เป็นเจ้าหนี้รายที่ 76 ระหว่างสอบสวนบริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด ยื่นคำร้องขอสวมสิทธิแทนเจ้าหนี้ตามพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อนุญาต
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นัดตรวจคำขอรับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 104 แล้ว เจ้าหนี้รายที่ 6 ที่ 83 ที่ 84 และลูกหนี้ที่ 4 โต้แย้งคำขอรับชำระหนี้รายนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนแล้วทำความเห็นว่า ลูกหนี้ที่ 4 ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ของบริษัทริช เรียล เอสเตท จำกัด ลูกหนี้ชั้นต้นที่มีต่อเจ้าหนี้ ในมูลหนี้ตามสัญญากู้เงินและสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี แล้วผิดนัดไม่ชำระหนี้ เจ้าหนี้ได้ฟ้องลูกหนี้ชั้นต้นและลูกหนี้ที่ 4 ต่อศาลแพ่ง เป็นคดีหมายเลขแดงที่ ธ.5308/2545 ขอให้บังคับชำระหนี้ ระหว่างการพิจารณาของศาลแพ่ง ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ที่ 4 เด็ดขาด ศาลแพ่งมีคำสั่งจำหน่ายคดีเฉพาะลูกหนี้ที่ 4 และพิพากษาให้ลูกหนี้ชั้นต้นชำระหนี้ตามสัญญากู้เงิน 111,231,513.69 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 109,000,000 บาท นับแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่เจ้าหนี้และชำระหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี 5,142,591.81 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15.75 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2540 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2542 และอัตราร้อยละ 15.50 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 เมษายน 2542 ถึงวันที่ 13 มิถุนายน 2542 และอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 14 มิถุนายน 2542 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่เจ้าหนี้ ลูกหนี้ชั้นต้นนำเงินมาชำระเข้าบัญชีกระแสรายวันแก่เจ้าหนี้เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2540 จำนวน 150,000 บาท วันที่ 26 สิงหาคม 2540 จำนวน 99,620 บาท ให้นำไปหักชำระดอกเบี้ยก่อน ส่วนที่เหลือให้หักชำระต้นเงินทุกครั้งที่ชำระ ให้ลูกหนี้ชั้นต้นใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนเจ้าหนี้ โดยกำหนดค่าทนายความ 15,000 บาท คำขออื่นให้ยก ต่อมาศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลูกหนี้ชั้นต้นชำระดอกเบี้ยตามสัญญากู้เงินและสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีนับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 18 สิงหาคม 2542) เป็นต้นไปในอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ตามประกาศของเจ้าหนี้ที่ประกาศไว้แล้วก่อนวันฟ้องและจะประกาศให้มีผลบังคับต่อไปภายหลังฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่เจ้าหนี้ แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี ตามที่ขอ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ ภายหลังศาลฎีกามีคำพิพากษาให้พิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ที่ 4 เด็ดขาด เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนื้ในมูลหนี้ตามสัญญาค้ำประกันจากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 4 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เห็นว่า มูลหนี้ตามสัญญาค้ำประกันสัญญากู้เงินและสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีเกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ที่ 4 เด็ดขาด ไม่ต้องห้ามมิให้ขอรับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 94 เมื่อมูลหนี้ตามสัญญากู้เงินและสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีซึ่งเป็นหนี้ประธาน ศาลแพ่งมีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ชั้นต้นชำระเงินให้เจ้าหนี้เท่าใดแล้ว ลูกหนี้ที่ 4 มีฐานะผู้ค้ำประกันจึงไม่ต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันอันเป็นหนี้อุปกรณ์เกินกว่าหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าว ข้อโต้แย้งของลูกหนี้ที่ 4 ฟังขึ้น ส่วนข้อโต้แย้งประการอื่นของลูกหนี้ที่ 4 และข้อโต้แย้งของเจ้าหนี้รายที่ 6 ที่ 83 และที่ 84 ฟังไม่ขึ้น แต่เมื่อลูกหนี้ชั้นต้นทำสัญญากู้เงินแล้วผิดนัดไม่ชำระเงินตามสัญญาโดยชำระดอกเบี้ยครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2540 จำนวน 3,750,047.94 บาท คงเหลือต้นเงิน 109,000,000 บาท เนื่องจากสิทธิเรียกร้องดอกเบี้ยที่ค้างชำระมีกำหนดอายุความ 5 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33 (1) เจ้าหนี้มีสิทธิได้รับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 4 เป็นเงิน 109,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 30 มกราคม 2545 (วันคิดดอกเบี้ยย้อนหลังจากวันพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดขึ้นไป 5 ปี) ถึงวันที่ 29 มกราคม 2550 (วันที่ศาลฎีกามีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด) คำนวณดอกเบี้ยได้ 81,750,000 บาท รวมเป็นเงิน 190,750,000 บาท และเมื่อลูกหนี้ชั้นต้นได้ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีแล้วสั่งจ่ายเช็คเบิกเงินและนำเงินเข้าบัญชีเรื่อยมา โดยชำระดอกเบี้ยครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2540 จำนวน 99,620 บาท คงเหลือต้นเงิน 5,013,586.06 บาท เนื่องจากสิทธิเรียกร้องดอกเบี้ยที่ค้างชำระมีกำหนดอายุความ 5 ปี ตามมาตรา 193/33 (1) เจ้าหนี้จึงมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 4 เป็นเงิน 5,013,586.06 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 30 มกราคม 2545 ถึงวันที่ 29 มกราคม 2550 คำนวณดอกเบี้ยได้ 3,760,189.55 บาท รวมเป็นเงิน 8,773,775.61 บาท รวมมูลหนี้ค้ำประกันตามสัญญาทั้งสองเป็นเงินทั้งสิ้น 199,523,775.61 บาท เจ้าหนี้ขอมากไป 86,830,364.22 บาท จึงเห็นควรให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ในมูลหนี้ตามสัญญาค้ำประกันเป็นเงิน 199,523,775.61 บาท จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 4 ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 130 (7) โดยมีเงื่อนไขว่าหากเจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้จากลูกหนี้ชั้นต้นไปแล้วเพียงใด ให้สิทธิในการได้รับชำระหนี้ลดลงเพียงนั้น ส่วนที่ขอเกินมาให้ยกเสีย
ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งอนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ตามความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
เจ้าหนี้อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของเจ้าหนี้ว่า ดอกเบี้ยค้างชำระนับแต่วันผิดนัดตามสัญญากู้เงินและสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีตามที่ลูกหนี้ที่ 4 ค้ำประกันขาดอายุความแล้วหรือไม่ เห็นว่า แม้สิทธิเรียกร้องสำหรับดอกเบี้ยค้างชำระจะมีกำหนดอายุความ 5 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33 (1) หนี้ตามสัญญากู้เงิน บริษัทริช เรียล เอสเตท จำกัด ลูกหนี้ชั้นต้นผิดนัดตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน 2540 และหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี ลูกหนี้ชั้นต้นผิดนัดตั้งแต่วันที่ 26 สิงหาคม 2540 สิทธิเรียกร้องสำหรับดอกเบี้ยค้างชำระในหนี้เงินกู้จึงเริ่มนับถัดจากวันที่ 24 มิถุนายน 2540 และในหนี้กู้เบิกเงินเกินบัญชีจึงเริ่มนับถัดจากวันที่ 26 สิงหาคม 2540 เป็นต้นไป แต่ปรากฏว่าเจ้าหนี้ได้ฟ้องลูกหนี้ชั้นต้นให้ชำระหนี้ต้นเงินและดอกเบี้ยที่ค้างชำระเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2542 ในสำนวนการสอบสวนของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ อายุความย่อมสะดุดหยุดลง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14 (2) เมื่ออายุความสะดุดหยุดลงแล้ว ระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนหน้านั้นจึงไม่นับเข้าในอายุความตามมาตรา 193/15 วรรคสอง การที่อายุความสะดุดหยุดลงเป็นโทษแก่ลูกหนี้ชั้นต้น ย่อมเป็นโทษแก่ลูกหนี้ที่ 4 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันด้วย ตามมาตรา 692 ปรากฏว่าคดีที่เจ้าหนี้ฟ้องลูกหนี้ชั้นต้นให้ชำระหนี้ ศาลแพ่งอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2547 โดยคู่ความมิได้ฎีกา คดีย่อมถึงที่สุดในวันที่ 22 กันยายน 2547 อันเป็นเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงสิ้นสุด ณ เวลาดังกล่าว จึงให้เริ่มนับอายุความใหม่สำหรับลูกหนี้ที่ 4 ตั้งแต่เวลานั้น ตามมาตรา 193/15 วรรคสอง เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในมูลหนี้ค้ำประกันจากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 4 เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2550 จึงยังไม่พ้นกำหนดอายุความ 5 ปี สิทธิเรียกร้องสำหรับดอกเบี้ยที่ค้างชำระตามสัญญากู้เงินและสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี ซึ่งลูกหนี้ที่ 4 ค้ำประกันไว้จึงยังไม่ขาดอายุความ เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิได้รับชำระดอกเบี้ยได้ หาใช่ว่ามีสิทธิได้รับชำระดอกเบี้ยย้อนหลังจากวันพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดขึ้นไป 5 ปี ตามความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และคำสั่งศาลล้มละลายกลางไม่ อุทธรณ์ของเจ้าหนี้ฟังขึ้น อย่างไรก็ตามความรับผิดของลูกหนี้ที่ 4 ในเรื่องต้นเงินและดอกเบี้ย ย่อมจำกัดเพียงไม่เกินความรับผิดของลูกหนี้ชั้นต้นที่มีต่อเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอันถึงที่สุดในคดีของศาลแพ่ง คดีหมายเลขแดงที่ ธ.5308/2545 เท่านั้น ซึ่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีความเห็นตามข้อโต้แย้งของลูกหนี้ที่ 4 แต่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งอนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้โดยมิได้กำหนดเงื่อนไขส่วนนี้ไว้ ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรวางเงื่อนไขให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า อนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ในมูลหนี้ตามสัญญาค้ำประกันสัญญากู้เงินเป็นต้นเงิน 109,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 24 มิถุนายน 2540 ถึงวันที่ 29 มกราคม 2550 (วันที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาให้พิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด) แต่ต้นเงินและดอกเบี้ยคำนวณแล้วมิให้เกิน 265,960,000 บาท ตามอุทธรณ์และในมูลหนี้ตามสัญญาค้ำประกันสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี เป็นเงิน 5,013,586.06 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 26 สิงหาคม 2540 ถึงวันที่ 29 มกราคม 2550 (วันที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาให้พิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด) แต่ต้นเงินและดอกเบี้ยคำนวณแล้วมิให้เกิน 7,089,760.14 บาท ตามอุทธรณ์ จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 4 โดยมีเงื่อนไขเพิ่มเติมด้วยว่า ให้สิทธิในการได้รับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ไม่เกินกว่าความรับผิดของลูกหนี้ชั้นต้นตามคำพิพากษาอันถึงที่สุดของศาลแพ่ง คดีหมายเลขแดงที่ ธ.5308/2545 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำสั่งศาลล้มละลายกลาง ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ

Share