แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
วันเกิดเหตุ ก. ซึ่งเป็นพนักงานขายของได้ไปที่บริษัทนายจ้าง แล้วได้ปั๊มบัตรลงเวลาทำงาน นำรถยนต์บรรทุกน้ำอัดลมออกไปเพื่อทำการขาย และได้ให้พนักงานขายสำรองไปด้วย ระหว่างทาง ก.ลงจากรถไป โดยให้พนักงานขายสำรองทำการขายแทน ครั้นตอนเป็น ก.กลับไปที่บริษัทนายจ้างอีกเพื่อปั๊มบัตรเลิกงาน ดังนี้ การกระทำของ ก. เป็นการหลีกเลี่ยงไม่ทำงาน เป็นการละทิ้งหน้าที่ซึ่งบัญญัติไว้ต่างหากแล้วในพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ มาตรา 123 (4) มิใช่อาศัยอำนาจหน้าที่ที่เป็นพนักงานขายแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายอันจะถือได้ว่าทุจริตต่อหน้าที่
ตามมาตรา 41 (4) พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฯ เห็นได้ว่า เมื่อได้สั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างกลับเข้าทำงานแล้ว จะไม่สั่งให้นายจ้างจ่ายค่าเสียหายอีกก็ได้ เมื่อศาลแรงงานกลางพิพากษาให้นายจ้างรับลูกจ้างกลับเข้าทำงานแล้ว และปรากฏว่าลูกจ้างมิได้นำสืบว่าได้รับความเสียหายอย่างไรบ้าง ทั้งมีส่วนผิดอยู่ด้วย ศาลแรงงานกลางจึงชอบที่จะใช้ดุลพินิจไม่ให้นายจ้างชดใช้ค่าเสียหายแก่ลูกจ้างได้
ย่อยาว
คดีสองสำนวนนี้ศาลแรงงานกลางรวมพิจารณาพิพากษา
โจทก์สำนวนแรกฟ้องว่า โจทก์ได้มีคำสั่งปลดและเลิกจ้างลูกจ้าง ๕ นาย คือ ก. เพราะกระทำการทุจริตต่อหน้าที่ และอีก ๕ นาย เพราะยุยงสนับสนุนชักชวนให้พนักงานหยุดงาน ลูกจ้างทั้ง ๕ นายได้ไปยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ว่า โจทก์เลิกจ้างเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ชี้ขาดว่า ก. ลูกจ้างไม่ได้กระทำผิดตามมาตรา ๑๒๓ แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฯ และลูกจ้างอีก๔ นาย ก็ยังฟังไม่ได้ว่าได้กระทำผิดร้ายแรงตามข้อบังคับของโจทก์ การกระทำผิดร้ายแรงตามข้อบังคับของโจทก์ การที่โจทก์เลิกจ้างลูกจ้างทั้ง ๕ นายในระหว่างข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างซึ่งลูกจ้างทั้ง ๕ นายมีส่วนเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องนั้นบังคับใช้ เป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๑๒๓ แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ จึงมีคำสั่งให้โจทก์รับลูกจ้างดังกล่าวกลับเข้าทำงาน คำสั่งดังกล่าวคลาดเคลื่อนทั้งข้อเท็จจริงตามข้อกฎหมายเพราะ ก. ทุจริตต่อหน้าที่อันเป็นการขัดกับข้อบังคับของโจทก์ และเป็นการกระทำผิดมาตรา ๑๒๓ (๑) แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ และลูกจ้างอีก ๔ นาย กระทำผิดตามมาตรา ๑๒๓ (๒) และ (๕) ขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์
จำเลยให้การว่า คำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ซึ่งจำเลยได้วินิจฉัยชี้ขาดชอบด้วยกฎหมายแล้ว สำนวนหลังโจทก์ฟ้องว่า ก. โจทก์ที่ ๑ เป็นลูกจ้างประจำทำหน้าที่พนักงาน++ของจำเลย โจทก์ที่ ๒ ถึงที่ ๕ เป็นลูกจ้างประจำทำหน้าที่พนักงานติดรถ จำเลยได้เลิกจ้างโจทก์และคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ ได้มีคำสั่งให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่และอัตราค่าจ้างไม่ตำกว่าเดิม และให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายให้โจทก์เท่ากับค่าจ้างที่โจทก์จะได้รับในระหว่างที่จำเลยปลดโจทก์ออกจากงาน หากจำเลยไม่รับโจทก์กลับเข้าทำงานให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายให้โจทก์ที่ ๑ เป็นเงิน ๔๕๐,๐๐๐ บาท โจทก์ที่ ๒ ถึงที่ ๕ รับเงินคนละ ๒๑๐,๐๐๐ บาท
จำเลยให้การว่า การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์ทั้งห้าปฏิบัติฝ่าฝืนบังคับของจำเลยและฝ่าฝืนกฎหมายแรงงาน ค่าเสียหายของโจทก์ตามฟ้องไม่ใช่ค่าเสียหาย โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลย โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายได้มากเท่าสำนวนที่ฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางให้เรียกโจทก์ที่ ๑ ถึงที่ ๕ ในสำนวนคดีหลังเป็นจำเลยที่ ๑๓ ถึงที่ ๑๗ แล้ววินิจฉัยว่า โจทก์เลิกจ้างจำเลยที่ ๑๓ ถึงที่ ๑๗ ในระหว่างที่ข้อตกลงเกี่ยวกับการจ้างมีผลใช้บังคับ การกระทำของจำเลยที่ ๑๓ ไม่เป็นการทุจริตต่อหน้าที่ ส่วนจำเลยที่ ๑๔ ถึงที่ ๑๗ โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานโดยแน่ชัดว่าได้กระทำผิด โจทก์เลิกจ้างจำเลยที่ ๑๓ ถึงที่ ๑๗ เป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๑๒๓ แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฯ คำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ชอบด้วยกฎหมายแล้ว จำเลยที่ ๑๓ ถึงที่ ๑๗ ฟ้องเรียกค่าเสียหายนั้นมิได้นำสืบว่าได้รับความเสียหายอย่างไรบ้าง ทั้งเป็นผู้มีส่วนทำผิดอยู่ด้วย จึงไม่สมควรให้โจทก์ใช้ค่าเสียหาย ให้พิพากษายกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์ปฏิบัติตามคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์โดยให้รับจำเลยที่ ๑๓ ถึงที่ ๑๗ กลับเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่และอัตราค่าจ้างเดิมภายใน ๓๐ วัน คำขออื่นให้ยก
ผู้พิพากษาสมทบคนหนึ่งทำความเห็นแย้งว่า การกระทำของจำเลยที่ ๑๓ เป็นการทุจริตต่อหน้าที่ เป็นการกระทำผิดตามมาตรา ๑๒๓ (๑) แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ โจทก์มีสิทธิเลิกจ้างได้ ควรเพิกถอนคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์เฉพาะจำเลยที่ ๑๓ โดยให้โจทก์ไม่ต้องรับจำเลยที่ ๑๓ กลับเข้าทำงานดังเดิม
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา ศาลแรงงานกลางสั่งริบเฉพาะกรณีจำเลยที่ ๑๓ ส่วนอุทธรณ์ในกรณีอื่นเป็นข้อเท็จจริง ไม่รับอุทธรณ์ โจทก์อุทธรณ์คำสั่งต่อศาลฎีกา ศาลฎีกายกคำร้อง และจำเลยที่ ๑๓ ถึงที่ ๑๗ อุทธรณ์ต่อศาลฎีกาขอให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายนับแต่วันที่โจทก์เลิกจ้างจนถึงวันที่โจทก์รับจำเลยกลับเข้าทำงาน
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยที่ ๑๓ เป็นการทุจริตต่อหน้าที่ตามมาตรา ๑๒๓ (๑) แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ หรือไม่นั้น ได้ความเป็นยุติตามวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางว่า เมื่อวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๓ จำเลยที่ ๑๓ ซึ่งเป็นพนักงานขายของโจทก์ได้ไปที่บริษัทโจทก์แล้วได้ปั๊มบัตรลงเวลาทำงาน นำรถบรรทุกน้ำอัดลมออกไปเพื่อทำการขายและได้ให้พนักงานสำรองไปด้วย เมื่อไประหว่างทางจำเลยที่ ๑๓ ลงจากรถไป โดยให้พนักงานขายสำรองทำการขายแทน ครั้นตอนเป็นจำเลยที่ ๑๓ กลับไปที่บริษัทโจทก์อีกเพื่อปั๊มบัตรเลิกงานนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า การกระทำของจำเลยที่ ๑๓ ดังกล่าวเป็นการกระทำในทางหลีกเลี่ยงไม่ทำงาน เป็นการละทิ้งหน้าที่ซึ่งบัญญัติไว้ต่างหากแล้วในมาตรา ๑๒๓ (๔) มิใช่อาศัยอำนาจหน้าที่ที่เป็นพนักงานขายแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายอันจะถือได้ว่าทุจริตต่อหน้าที่ แม้จำเลยที่ ๑๓ ได้ปั๊มบัตรลงเวลาทำงานและปั๊มบัตรเลิกงานด้วย ก็เพื่อให้การละทิ้งหน้าที่ของจำเลยที่ ๑๓ ไม่ถูกตรวจพบในภายหลัง ส่วนที่จำเลยที่ ๑๓ ไม่ได้ทำงานในวันนั้นแต่ยังได้รับเบี้ยขยันและเงินเปอร์เซ็นต์การขาย ทั้งถ้าโจทก์ไม่ทราบจำเลยที่ ๑๓ ก็จะได้รับเงินโบนัสและการขึ้นเงินเดือนประจำปี ซึ่งส่วนหนึ่งจะพิจารณาจากวันลาและขาดด้วยนั้น เป็นเรื่องที่โจทก์จะต้องพิจารณาตามระเบียบข้อบังคับว่าจำเลยที่ ๑๓ จะสมควรได้รับประโยชน์ดังกล่าวเพียงไรหรือไม่ มิใช่เป็นเรื่องจำเลยที่ ๑๓ ไม่ปฏิบัติหน้าที่พนักงานขายเพื่อให้ได้มาซึ่งประโยชน์เหล่านั้น
ตามสำนวนคดีหลังซึ่งจำเลยที่ ๑๓ ถึงที่ ๑๗ เป็นโจทก์ฟ้องโจทก์เป็นจำเลยโจทก์ให้การไว้ว่า จำเลยขอต่อสู้ว่ารายได้ต่อเดือนและรายได้อื่นๆ ตามฟ้องของโจทก์ทั้ง ๕ คนไม่ถูกต้องและไม่เป็นความจริง ดังนี้ โจทก์จึงหาได้ให้การยอมรับไม่ และการให้นายจ้างชดใช้ค่าเสียหายแก่ลูกจ้างกรณีการเลิกจ้างเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมนั้น พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฯ มาตรา ๔๑ (๔) บัญญัติว่า … และในกรณีที่คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ชี้ขาดว่าเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมให้มีอำนาจสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างกลับเข้าทำงานหรือให้จ่ายค่าเสียหาย หรือให้ผู้ฝ่าฝืนปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งได้ตามที่เห็นสมควร เห็นได้ว่า เมื่อได้สั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างกลับเข้าทำงานแล้ว จะไม่สั่งให้นายจ้างจ่ายค่าเสียหายอีกก็ได้ คดีนี้ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้โจทก์รับจำเลยที่ ๑๓ ถึงที่ ๑๗ กลับเข้าทำงานแล้วเมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ ๑๓ ถึงที่ ๑๗ ไม่ได้นำสืบว่าได้รบความเสียหายอย่างไรบ้าง ทั้งมีส่วนผิดอยู่ด้วย ศาลแรงงานกลางจึงชอบที่จะใช้ดุลพินิจไม่ให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยที่ ๑๓ ถึงที่ ๑๗ อีกได้
พิพากษายืน