แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตาม ป.อ. มาตรา 3 แบ่งการบังคับใช้กฎหมายได้ 2 กรณีคือ กรณีที่คดียังอยู่ระหว่างการพิจารณา ศาลมีหน้าที่บังคับใช้กฎหมายที่เป็นคุณแก่จำเลย หากศาลบังคับใช้แล้ว คู่ความไม่เห็นด้วยต้องอุทธรณ์หรือฎีกาคัดค้านไปยังศาลสูง ส่วนอีกกรณีหนึ่งตามมาตรา 3 (1) กฎหมายที่แก้ไขใหม่บังคับใช้เมื่อคดีถึงที่สุดไปแล้ว คดีของจำเลยที่ 1 เข้ากรณีแรก เนื่องจากกฎหมายแก้ไขใหม่ขณะคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นอุทธรณ์ เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาว่ากฎหมายใหม่ไม่เป็นคุณ คงใช้กฎหมายขณะกระทำความผิด หากจำเลยที่ 1 ไม่เห็นด้วยก็ต้องฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ฎีกา จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิร้องขอให้พิจารณาได้อีก เพราะกรณีตามมาตรา 3 (1) เป็นกรณีที่คดีถึงที่สุดก่อนที่จะมีกฎหมายแก้ไขใหม่ออกบังคับใช้ คำร้องของจำเลยที่ 1 จึงไม่เข้าเงื่อนไขที่ร้องขอให้ศาลกำหนดโทษจำเลยที่ 1 ใหม่ได้
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสอง, 66 วรรคสอง, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ลงโทษประหารชีวิตจำเลยทั้งสอง ฐานร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน ลงโทษประหารชีวิตจำเลยทั้งสอง จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 52 (2) ฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายคงจำคุก 50 ปี ฐานร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน คงจำคุก 50 ปี ส่วนจำเลยที่ 2 รับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวน เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละหนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 52 (1) ฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย คงจำคุกตลอดชีวิต ฐานร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน คงจำคุกตลอดชีวิต เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วคงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 50 ปี ส่วนจำเลยที่ 2 คงจำคุกตลอดชีวิต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3) จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ ส่วนโจทก์และจำเลยที่ 2 ไม่อุทธรณ์ ศาลชั้นต้นส่งสำนวนมายังศาลอุทธรณ์ภาค 6 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 245 หลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้ว ได้มีพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 มาตรา 19 ให้ยกเลิกความตามมาตรา 66 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 และให้ใช้ข้อความใหม่แทน แต่กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดเป็นคุณกว่าจึงให้ใช้กฎหมายเดิมบังคับแก่จำเลย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้เป็นว่า ฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองคนละตลอดชีวิต ฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน ลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองคนละตลอดชีวิต ลดโทษให้จำเลยที่ 1 กระทงละกึ่งหนึ่ง และลดโทษให้จำเลยที่ 2 กระทงละหนึ่งในสามแล้ว คงจำคุกจำเลยที่ 1 กระทงละ 25 ปี จำคุกจำเลยที่ 2 กระทงละ 33 ปี 4 เดือน เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว คงจำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 50 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3) นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์และจำเลยทั้งสองไม่ฎีกา คดีสำหรับจำเลยที่ 1 ถึงที่สุดเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2547 ต่อมาเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2551 ระหว่างรับโทษตามคำพิพากษา จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องว่า คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 6 ไม่ชอบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 (1) ขอให้เพิกถอนคำพิพากษาและพิพากษาใหม่ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า คดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 66 วรรคสอง เดิม โดยวินิจฉัยว่ากฎหมายที่ใช้ขณะกระทำความผิดเป็นคุณกว่ากฎหมายที่แก้ไขใหม่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 หากจำเลยที่ 1 ไม่เห็นด้วยก็ชอบที่จะฎีกาภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด กรณีไม่อยู่ในเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 (1) ที่จะกำหนดโทษจำเลยที่ 1 ใหม่ ยกคำร้อง
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่ามีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า มีเหตุที่จะกำหนดโทษจำเลยที่ 1 ใหม่หรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 บัญญัติว่า ” ถ้ากฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิด ให้ใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิด ไม่ว่าในทางใด เว้นแต่คดีถึงที่สุดแล้ว แต่ในกรณีที่คดีถึงที่สุดแล้วดังต่อไปนี้ (1) ถ้าผู้กระทำความผิด…กำลังรับโทษอยู่ และโทษที่กำหนดตามคำพิพากษาหนักกว่าโทษที่กำหนดตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง เมื่อผู้กระทำความผิดร้องขอ ให้ศาลกำหนดโทษเสียใหม่ตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง ” เห็นว่า ตามบทบัญญัติดังกล่าวแบ่งการบังคับใช้กฎหมายได้ 2 กรณีคือ กรณีที่คดียังอยู่ระหว่างการพิจารณา ศาลมีหน้าที่บังคับใช้กฎหมายที่เป็นคุณแก่จำเลย หากศาลบังคับใช้แล้ว คู่ความไม่เห็นด้วยต้องอุทธรณ์หรือฎีกาคัดค้านไปยังศาลสูง ส่วนอีกกรณีหนึ่งตามมาตรา 3 (1) กฎหมายที่แก้ไขใหม่บังคับใช้เมื่อคดีถึงที่สุดไปแล้ว ซึ่งคดีของจำเลยที่ 1 เข้ากรณีแรก เนื่องจากกฎหมายแก้ไขใหม่ขณะคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นอุทธรณ์ เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาว่ากฎหมายใหม่ไม่เป็นคุณ คงใช้กฎหมายขณะกระทำความผิด หากจำเลยที่ 1 ไม่เห็นด้วยก็ต้องฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ฎีกา จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิร้องขอให้พิจารณาได้อีก เพราะกรณีตามมาตรา 3 (1) เป็นกรณีที่คดีถึงที่สุดก่อนที่จะมีกฎหมายแก้ไขใหม่ออกบังคับใช้ คำร้องของจำเลยที่ 1 จึงไม่เข้าเงื่อนไขที่ร้องขอให้ศาลกำหนดโทษจำเลยที่ 1 ใหม่ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน